Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์
Main Idea
- กล้วยเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนทั้งของกินของใช้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายมิติที่จะนำส่วนต่างๆ ของกล้วยมานำเสนอในวิธีที่ต่างออกไป
- แบรนด์ C-SENSE ได้หยิบเอากาบกล้วย ส่วนที่เรียกได้ว่าสร้างมูลค่าได้น้อยที่สุดมาแปรรูปด้วยวิธีใหม่ ใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่สร้างสรรค์เป็นภาชนะและของตกแต่งบ้านให้กลายเป็นสินค้าส่งออกไปทำเงินได้ในเวทีโลก
กล้วยนับเป็นพืชมหัศจรรย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยมากมาย ทั้งในรูปแบบอาหารการกินและข้าวของเครื่องใช้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนหยิบเอากล้วยมานำเสนอในมิติที่ต่างออกไปจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ส่งออกไปไกลถึงทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา
เรากำลังพูดถึงแบรนด์ C-SENSE ที่หยิบเอากาบกล้วยมาแปรรูปใหม่ ใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่ (Papier-mâché) สร้างสรรค์เป็นภาชนะ ของตกแต่งบ้าน หรือกระทั่งโคมไฟ แล้วให้ชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า Banana-mâché มาจากกล้วยผสมกับการทำเปเปอร์มาเช่ ซึ่งเมื่อพูดออกไปผู้คนก็เข้าใจถึงวิธีการผลิตได้ทันที
วัตถุดิบสำคัญในการผลิต คือ ต้นกล้วย โดยปาดเอาผนังออกด้านหนึ่งก่อนจึงจะเห็นลวดลาย (Texture) ที่สวยงาม จากนั้นจึงลอกกาบกล้วยเป็นชั้นๆ นำไปตากให้แห้งและชุบสารเคมีเพื่อให้ใช้งานได้คงทน มีทีมงานขึ้นโครงว่าต้องการผลิตงานในรูปไหน และทีมสุดท้ายนำกาบกล้วยไปติดทับเข้ากับโครงซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องพิถีพิถันอย่างมาก แน่นอนว่ากาบข้างนอกที่ถูกแยกออกในขั้นตอนแรกก็นำมาเย็บเป็นกระเป๋าขาย สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกต่อหนึ่ง
ซึ่งเพียงแค่ปีแรกที่ทำผลิตภัณฑ์มาวางขายในงานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออกก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างประเทศอย่างมาก จากการที่ลูกค้าเห็นคุณค่าใน 3 ประการ คือ เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สามารถใช้ซ้ำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นงานคราฟท์ (ทำมือ)
ปิยะนุช ชัยธีระยานนท์ เจ้าของแบรนด์ C-SENSE บอกเราว่าเธอเน้นสร้างงานฝีมือ ไม่ใช้เครื่องจักรช่วยผลิต เพราะในตลาดโลกมีสินค้าที่ใช้เครื่องจักรผลิตจำนวนมาก หากเธอลงไปเล่นในตลาดนี้จะต้องแข่งขันกับผู้ผลิตชาวอินเดีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่การใช้งานคราฟท์ตีตลาดจะได้ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ ทั้งยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ทำงานฝีมือได้ดีและประณีตกว่าเครื่องจักร
“ผลงานของเราเป็นภาชนะตกแต่งบ้านได้ดีกว่าใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะหากผลิตสินค้าที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวก็ไม่คุ้มกับค่าแรงคนทำที่ตั้งใจมาก และจุดประสงค์ของเราไม่ได้อยากให้เขาใช้แล้วทิ้ง แต่จะเป็นของแฮนด์เมดทำด้วยมือที่ควรจะอยู่กับเราไปนานๆ”
หลังจากที่ตลาดหลักเป็นต่างประเทศมานับ 10 ปี จึงหันมาเปิดตัวขายสินค้าในเมืองไทยมากขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะตลาดโลกเริ่มชะลอตัว ในขณะที่กระแสเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเข้ามาถึงประเทศไทยพอดี นับเป็นการจับทิศทางตลาดได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
นี่เป็นตัวอย่างของการหยิบเอาของคุ้นเคยใกล้ตัวมาประยุกต์เข้ากับวิธีการผลิตและใส่ดีไซน์ที่ต่างออกไป แล้ววัตถุดิบที่เราคิดว่าสร้างมูลค่าได้ไม่เท่าไร จะกลายเป็นสินค้าทำเงินได้มากกว่าที่คาดเดาได้เลยทีเดียว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี