Main Idea
- การทำธุรกิจจะประสบความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ บางครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเคยเป็นใคร หรือทำอะไรมา แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถมองเห็นโอกาส และพลิกขึ้นมาให้กลายเป็นแต้มต่อทางธุรกิจได้หรือเปล่า
- เหมือนเช่นกับ “ณัฐ โชคศิลปสาท” ชายหนุ่มวัย 30 ปี ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจากเด็กเรียนคาบเส้นจะสามารถพลิกตัวเองขึ้นมาให้กลายเป็นเจ้าของนวัตกรรม IoT Tracking เพื่อใช้ติดตามสิ่งของ ที่ปัจจุบันเป็นผู้ผลิต 1 ใน 5 รายแรกของโลกได้
- โดยนวัตกรรมดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ในองค์กร และโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ที่ผ่านมาได้อีกด้วย
คนเราจะเก่ง หรือ ไม่เก่ง ไม่ได้วัดกันที่กระดาษแผ่นเดียวฉันใด การเป็นผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ก็ไม่ได้วัดกันที่บริษัทเล็กหรือใหญ่ฉันนั้น แต่อยู่ที่มุมมองความคิดและการมองเห็นโอกาสตรงนั้นต่างหาก เหมือนเช่นกับ บริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด ผู้พัฒนา IoT Tracking เพื่อใช้สำหรับติดตามสิ่งของที่อยู่ติดอันดับ 1 ใน 5 รายแรกของโลก ใครจะคิดว่ามาจากความคิดของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยเรียนได้เกรดเฉลี่ย 2.0 คนนี้
“ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมเป็นเด็กเรียนปานกลาง เรียกว่าเกือบจะไม่รอดด้วยซ้ำ เพราะจบมาด้วยเกรดเฉลี่ย 2.0” ณัฐ โชคศิลปสาท ชายหนุ่มวัย 30 ปี เจ้าของบริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด ผู้พัฒนา IoT Tracking เพื่อใช้สำหรับติดตามสิ่งของ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับการติดตามภายใต้แบรนด์ XENTRACK เล่าย้อนถึงวัยเรียนให้ฟัง
ถามว่าแล้วเขากลายมาเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียง 1 ใน 5 รายแรกของโลกได้อย่างไร? ลองไปติดตามเรื่องราวของเขากัน
ลองดี จนได้ดี
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ณัฐเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่มีฐานะปานกลาง และค่อนข้างให้อิสระทางความคิด ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเขาพยายามหารายได้เพิ่มเติมด้วยการนำสิ่งของต่างๆ มาขายให้กับเพื่อนๆ ซึ่งอาจเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขาชอบทำธุรกิจ
หลังเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์และเข้าทำงานประจำที่แรก เวลาผ่านไปเพียงหนึ่งปี ณัฐรู้สึกชีวิตแหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ผิดวิสัยของเด็กวัยรุ่นจบใหม่ที่ต้องการความตื่นเต้นท้าทาย เขาและเพื่อนสนิทที่เรียนและทำงานมาด้วยกัน จึงตัดสินใจลาออก และท้าทายชีวิตด้วยการเปิดบริษัทฮาร์ดแวร์เฮ้าส์เล็กๆ ขึ้นมาเสียเอง
ผ่านไปหนึ่งปีชีวิตไม่เป็นดั่งหวัง ถึงจะใช้บ้านเป็นออฟฟิศและลดเงินเดือนตัวเองลงมาแล้วส่วนหนึ่ง เขาและเพื่อนก็ไม่มีเงินเดือนพอจ่ายให้กับตัวเอง ณัฐตัดสินใจกลับเข้าไปทำงานประจำอีกรอบ เพื่อนำรายได้มาพยุงบริษัท และให้เพื่อนรับหน้าที่ดูแลบริษัท แต่จนแล้วจนรอดทำอยู่ได้เพียงปีเศษ เขาก็ตัดสินใจกลับออกมาสู้อีกสักตั้งหนึ่ง จนในที่สุดก็ได้มีโอกาสร่วมทีมทำงานกับกลุ่มสตาร์ทอัพ แต่ไม่นานก็มีเหตุให้ต้องเลิกรากันไป แต่จากการทำงานครั้งนั้นได้ทำให้บริษัทของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น แล้วใครจะรู้ว่าความท้าทายแท้จริงกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้
เก่งไม่กลัว กลัวไม่ทำ
ณัฐและเพื่อนกลับมารับทำงานโปรเจกต์อยู่หลายปี ซึ่งพอจบลงทุกอย่างก็หายไป ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง พวกเขาจึงเกิดความคิดอยากสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IOT กำลังเข้ามาพอดี บวกกับบังเอิญที่ได้ไปรู้จักกับพาร์ตเนอร์รายหนึ่งที่ทำอยู่ในสายงานเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่มีเงินทุนอยู่ค่อนมากและมักต้องการอุปกรณ์ชั้นดี ณัฐพยายามมองหา Pain Point ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจ จนมาพบเข้ากับปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ
“เราพบว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายตัว เช่น เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องปั๊มน้ำเกลือ ค่อนข้างขาดแคลนแม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ๆ เนื่องจากมีราคาแพง จึงทำให้เกิดการหยิบยืม หมุนเวียนกันใช้ แต่เพราะมีไม่พอ จึงอาจทำให้เกิดการกักของเอาไว้ใช้ต่อบ้าง ใช้เสร็จก็ไม่ค่อยคืน เพราะเดี๋ยวก็ต้องใช้อีก หรือยืมต่อๆ กันไป จนสุดท้ายไม่รู้ว่าต้นสายที่แท้จริงอยู่ที่ไหนกันแน่ แผนกอะไร ทำให้ไม่สามารถวัดได้ว่าจริงๆ แล้วอุปกรณ์เพียงพอหรือขาดแคลนเท่าไหร่กันแน่ เราจึงนำเทคโนโลยี IOT Tracking เข้ามาใช้เพื่อติดตามอุปกรณ์ โดยการทำให้อุปกรณ์สื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายต่างๆ ได้เอง เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งของนั้นอยู่ที่ไหนหรือเคลื่อนที่จากไหนไปไหนบ้าง ซึ่งการทำงานของ IOT Tracking มีอยู่ 2 ส่วน คือ ตัวส่งและตัวรับ โดยอุปกรณ์ที่เป็นตัวส่งสัญญาณสามารถหาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่สำหรับตัวรับที่ต้องใช้อ่านค่าต่างๆ เราถือเป็นเจ้าแรกในไทยและรายเดียวที่ทำขึ้นมาในขณะนี้ ตัวอย่างองค์กรที่เป็นลูกค้าและที่ใช้ของเราอยู่ตอนนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ปตท.สำนักงานใหญ่”
ไม่น่าเชื่อที่ผู้ผลิตเทคโนโลยีดังกล่าว ปัจจุบันจะมีอยู่เพียงแค่ 5 รายของโลกเท่านั้น และไอโอทีฮับก็เป็นหนึ่งในนั้น
“จากที่ลองเสิร์ชหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เราพบว่ามีบริษัทเพียง 3-5 แห่งในโลกเท่านั้นที่รับทำนวัตกรรมนี้อยู่ ซึ่งข้อได้เปรียบของเรา คือ คู่แข่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ทำธุรกิจอยู่ในระดับโลก ในขณะที่เราเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ทำให้สามารถคัสตรอมไมซ์งานปรับแต่งได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งหากเป็นบริษัทใหญ่ๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย น่าแปลกใจที่ตอนนี้สิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสูง ยังติดต่อเพื่อขอซื้ออุปกรณ์จากเราเพื่อนำไปต่อยอด ทำให้มองเห็นว่าโอกาสมารออยู่ข้างหน้าแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ เราจะพยายามเป็นผู้นำต่อไปให้ได้ ถึงแม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ แต่เราก็จะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนไทยที่ทำอุปกรณ์ของไทยขึ้นมาแบบจริง”
ซึ่งจากการมองเห็นโอกาสโดยการหยิบเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาตอบโจทย์ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมายได้ จึงทำให้ไอโอทีฮับสามารถคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ จาก SME Thailand Inno Awards 2019 เวทีเพื่อผู้ประกอบการ SME ที่มีความสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมได้อีกด้วย
และนี่คือ เรื่องราวของ SME ตัวเล็กๆ รายหนึ่ง ที่วันหนึ่งสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวขึ้นมาอยู่บนเวทีโลกได้ จากการพลิกวิธีคิดของโอกาสที่มีอยู่ และไม่มีรีรอที่จะทำขึ้นมา จนในที่สุดก็สามารถคว้าความสำเร็จมาอยู่ในมือได้ ถึงแม้วันหนึ่งจะเคยเป็นเด็กเรียนไม่เก่งมาก่อน เพราะความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเรียนเก่ง หรือไม่เก่ง หากแต่อยู่ที่ได้ลงมือทำ แล้วจริงจังแค่ไหนต่างหาก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี