จิรทศ ถิรนุทธิ ทายาทรุ่น 4 ที่จะนำพาแบรนด์ไทยไปเทียบรัศมีแบรนด์ดังระดับโลก




Main Idea
 
  • คนเขาค่อนแคะว่า ธุรกิจครอบครัวมักอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น เพราะส่วนใหญ่ ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง! แต่ไม่ใช่กับ “จิรทศ ถิรนุทธิ” ทายาทรุ่นที่ 4 แห่ง “บางกอก บู๊ทเทอร์รี่” แบรนด์เครื่องหนังสุดหรูที่อยู่ในสนามมานานถึง 83 ปี
 
  • เขาไม่เพียงทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงเติบโตและอยู่รอดได้ ทว่ายังมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แบรนด์เครื่องหนังไทยขึ้นไปเทียบรัศมีแบรนด์ดังระดับโลก อย่าง หลุยส์ วิตตอง, ชาแนล, แอร์เมส หรือ กุชชี่ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 
  • บางครั้งการที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ปล่อยวาง เลิกยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ก็ทำให้ทายาทได้แสดงบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ และส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวไปได้ไกลกว่าที่คิด เหมือน บางกอก บู๊ทเทอร์รี่ ในวันนี้





      คำสบประมาทที่หลายคนมีให้กับธุรกิจครอบครัวคือ อยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น! เห็นมาเยอะแล้วที่ ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง!
               

      ก่อนจะเออออไปกับเรื่องนี้ ลองมาทำความรู้จักกับทายาทที่ชื่อ “จิรทศ ถิรนุทธิ” เขาไม่ใช่แค่คนรุ่นลูก แต่คือรุ่นหลาน ที่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว “บางกอก บู๊ทเทอร์รี่” (Bangkok Bootery) แบรนด์เครื่องหนังสัญชาติไทยสุดหรูที่ทั้งชาวไทย และต่างชาติต่างรู้จักดี ซึ่งอยู่ในตลาดมานานถึง 83 ปี 





      เป้าหมายของเขาไม่เพียงทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงเติบโตและอยู่รอด แต่มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แบรนด์เครื่องหนังไทยขึ้นไปเทียบรัศมีแบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งฝันนี้ไม่ได้ไกลเกินจริงเสียด้วย
               

      เขาทำได้อย่างไร ไปหาคำตอบกัน?
               

      จิรทศ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว ซึ่งตามธรรมเนียมคนจีนแม้ไม่ได้บอกกล่าวกันตรงๆ ว่าต้องมาสืบทอดกิจการ แต่เป็นเหมือนเรื่องที่เจ้าตัวเข้าใจดีอยู่แล้ว ถึงบทบาทของ “ผู้ถูกเลือก” หลังจากคนรุ่นหนึ่งเปิดโรงงานรับจ้างผลิตเพื่อส่งออก จนธุรกิจส่งไม้ต่อมาถึงรุ่นพ่อของเขาก็เข้าสู่ยุคการสร้างแบรนด์  ทายาทได้เห็นเครื่องหนัง กระเป๋า รองเท้า ที่ผู้คนเรียกกันว่าแบรนด์ บางกอก บู๊ทเทอร์รี่ จนคุ้นเคยดีเพราะวิ่งเล่นในร้านมาตั้งแต่เด็ก และปลูกฝังให้เขาชอบค้าขายไปโดยปริยาย
               

      เพราะรู้ถึงอนาคต จิรทศ เลยไม่เลือกเรียนแบบสะเปะสะปะ แต่มุ่งมาทางด้านบริหารธุรกิจ โดยเลือกเรียนด้านการเงินก่อนไปต่อปริญญาโทด้านการเป็นผู้ประกอบการที่ประเทศอังกฤษ รุ่น 4 อย่างเขากำลังประกาศความพร้อมในการมาสานต่อธุรกิจด้วยองค์ความรู้
               

      หลังกลับมาช่วยกิจการได้ 2-3 ปี ผู้เป็นพ่อก็เริ่มปล่อยมือ ในวันที่ธุรกิจมีอยู่ 3 สาขา และผู้เป็นพ่อก็สร้างแบรนด์มาจนสำเร็จ พูดง่ายๆ คือ บางกอก บู๊ทเทอร์รี่ เคยอยู่ในจุดสูงสุดในยุคคุณพ่อของเขา ถามว่าทำไมถึงกล้ายกธุรกิจ 8 ทศวรรษให้อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาง่ายๆ   
               

      สิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนให้ธุรกิจครอบครัวได้ดีคือ วันนี้ยุคสมัยเปลี่ยน เริ่มมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามา  สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย กลายเป็นโลกอีกใบที่คนรุ่นก่อนอาจไม่ถนัด ฉะนั้นถ้ายังยึดติดไม่เปิดโอกาสให้ลูกหลานเข้ามาสานต่อธุรกิจก็จะติดกับดัก บวกกับภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ความต้องการของตลาดลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ ธุรกิจเริ่มอยู่ไม่นิ่ง ไม่ขยับขยาย ชื่อเสียงเลยขาดหายไปในช่วงหนึ่ง
               





       ถามว่าทายาทรุ่น 4 เข้ามาทำอะไรให้ธุรกิจ เขาเริ่มมองหาโอกาสและตลาดใหม่ๆ อย่างการขยายตลาดจากกรุงเทพ หัวหิน และพัทยา ฐานที่มั่นหลัก ไปยังจังหวัดภูเก็ต เพราะมองว่าลูกค้ามีกำลังซื้อสูง (High Spending) และชอบเครื่องหนังเอ็กโซติก (Exotic) แบบที่พวกเขามี ค่อยๆ ปรับเกมรุก และค่อยๆ ขยายสาขาเพิ่มจาก 3 สาขาในวันแรก กลายมาเป็น 27 สาขาในปัจจุบัน
               

      จากแบรนด์ที่โตมากับรองเท้า และมีรองเท้าเป็นพระเอกมาหลายปี เขาลุกมาเพิ่มกลุ่มกระเป๋า และ  Accessory ต่างๆ อย่าง เข็มขัด กระเป๋าสตางค์ สายนาฬิกา จนถึงเสื้อแจ๊คเก็ต ที่ทำจากหนัง เขาบอกว่า เพราะยุคสมัยเปลี่ยน และมองว่ากระเป๋าและ Accessory บริหารจัดการง่ายกว่ารองเท้า เพราะไม่ต้องทำออกมาหลายแบบหลายไซส์
               

      ผลลัพธ์ที่ได้คือยอดขายกระเป๋ากลายเป็นรายได้หลัก โดยอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรองเท้าอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเสื้อผ้า และ Accessory ต่างๆ
               

      รุ่นพ่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ทายาทอย่างเขาคิดนำพาแบรนด์ให้ไปได้ไกลกว่านั้นเขาบอกว่า อยากทำให้    แบรนด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อยากนำพาแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ เทียบชั้นแบรนด์ดังระดับโลก เขาจึงเริ่มศึกษาตลาดส่งออก และเตรียมความพร้อม โดยทำการรีแบรนด์ และเปลี่ยนโลโก้ใหม่ เพื่อทำให้แบรนด์ชัดเจน พร้อมสำหรับการโบยบินสู่ตลาดโลก


      เขาบอกว่า อยากไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยอาจเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติ ส่วนประเทศแรกสุดที่อยากไปก็คือดูไบ เพราะเป็นตลาดหอมหวานของเครื่องหนังเอ็กโซติก
               

      เมื่อถามว่าอยากไปได้ไกลแค่ไหนในเวทีโลก ทายาทรุ่น 4 บอกเราว่า คือการขึ้นไปอยู่เคียงข้างแบรนด์เนมระดับโลก อย่าง หลุยส์ วิตตอง, ชาแนล, แอร์เมส หรือ กุชชี่ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และเชื่อมั่นว่าแบรนด์ไทยสู้ได้ เพราะความเป็นแหล่งเครื่องหนังเอ็กโซติก อย่าง หนังจระเข้ หนังงู  และหนังหายาก ที่ต่างประเทศไม่มี กลายเป็นความได้เปรียบของแบรนด์ไทยอย่างพวกเขา
               



      นี่คือภาพสะท้อนของผลงานทายาทรุ่น 4 ผู้ไม่ยอมให้คำสาป “ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง!” กลายเป็นตราบาปในใจของพวกเขา ซึ่งความสำเร็จนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนรุ่นก่อนหน้าไม่ยอมปล่อยมือให้ทายาทรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพของตัวเอง
               

     บางครั้งการได้ปล่อยวาง เลิกยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ก็ทำให้ธุรกิจครอบครัวไปได้ไกลกว่าที่คิด เหมือนความสำเร็จที่เกิดกับ  บางกอก บู๊ทเทอร์รี่ ในวันนี้
 



Profile
 
จิรทศ ถิรนุทธิ
อายุ : 35 ปี
การศึกษา : ปริญญาโทสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ  (Entrepreneurship) ที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ประเทศอังกฤษ
ตำแหน่ง :  กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกบู๊ทเทอร์รี่ ดิเอ็กโซติก จำกัด
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย