แฟชั่นไทยต้องรอด! ไขทางออกธุรกิจแฟชั่นเมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digital Disruption




Main Idea
 
  • คลื่นความเปลี่ยนแปลง เข้ามากระทบกับหลายอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ตลาดสวยๆ งามๆ อย่างโลกแฟชั่น ที่วันนี้กำลังถูกท้าทายจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
 
  • ผู้ประกอบการในธุรกิจแฟชั่น จะรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดในโลกอนาคต “ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย พร้อมให้คำตอบในเรื่องนี้
 


               
     ในอนาคตอันใกล้โลกแฟชั่นจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนจะสนใจแฟชั่นแบบไหน การแข่งขันในสนามนี้จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดในยุคต่อจากนี้
     นี่คือคำถามที่เหล่าคนแฟชั่นอยากรู้และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ ในโลกอนาคต ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย พร้อมให้คำตอบในเรื่องนี้
 



               
แฟชั่นในยุคแห่งความหลากหลาย
               

     ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย บอกเราว่า แนวโน้มหลังปี 2563  จะเห็นเมกะเทรนด์ตัวหนึ่ง นั่นคือ ความหลากหลาย (Diversity) โดยในอดีตแฟชั่นจะมีรูปแบบของตัวเอง แต่ยุคต่อจากนี้ความหลากหลายจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในการทำแฟชั่นอย่างมาก


     “สมัยก่อนเราถูกสอนเรื่อง Positioning (การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์)  แบรนด์ทุกแบรนด์ต้องมีจุดขาย มีความแตกต่าง การทำเสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน แต่ในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียน (Millennial) อายุ 18-30 ปี คำว่า แบรนด์โพสิชันนิ่งอาจใช้ไม่ได้กับคนรุ่นเขา  มันจะเข้าสู่กระบวนการคิดอีกแบบหนึ่ง คือ แบรนด์ต้องสร้างคัลเจอร์ (Culture) ของแบรนด์ ถึงจะอยู่รอดได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น หลุยส์ วิตตอง ขายของแพง คนรุ่นใหม่ถ้าชอบก็ใช้ แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่ใช้  ซึ่งหาก หลุยส์ วิตตอง ไม่ปรับตัวและทำให้แบรนด์ตัวเองดูแก่ มันจะถึงจุดที่คนรุ่นใหม่จะไม่ใช้ แต่มันจะมีลักชัวรี่แบรนด์ (Luxury Brand)  สำหรับคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ ฉะนั้นแบรนด์เก่าแก่เหล่านี้ถ้ายังอยากจะอยู่ต่อนอกจากต้องทำให้ตัวเองดูเด็กลงแล้ว ยังต้องสร้างคัลเจอร์บางอย่าง ซึ่งเทรนด์การสร้างคัลเจอร์ในสินค้าแฟชั่นจะสำคัญมากขึ้นนับจากนี้”





     เขาบอกอีกว่ายุคก่อนเราบอกว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยุคนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลาเร็วกินปลาช้า ซึ่งปลาเร็วก็คือแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยที่จะมากินปลาใหญ่หรือแบรนด์ดังๆ ที่ขยับตัวช้า แต่ทว่าโลกยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 -2564 นั้น เราจะได้เห็นปลาใหญ่ที่ว่ายเร็วมากขึ้น ผ่านระบวนการจัดทัพความคิดใหม่ ฉะนั้นใครจะทำสินค้าแฟชั่น เทรนด์ของโลกในอนาคตต้องเป็นปลาเล็กที่กินปลาเร็วให้ได้
 

จับตา 5 ปีข้างหน้า จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก


     ยังมีอะไรท้าทายอีกมากในอุตสาหกรรมแฟชั่นในวันหน้า ธนวัฒน์ บอกเราว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเคยถูกมองว่าเป็น Sunset เป็นขาลงเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเยอะมาก แต่ในวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา กำลังเปลี่ยนโลกสิ่งทอให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง





     “วันนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลมาก ผมเพิ่งกลับมาจากไต้หวัน ที่นั่นเขามีเครื่องสแกน 3 มิติ ตัวหนึ่ง อยากได้เสื้อแบบไหน สีไหน คับหรือหลวม สามารถเลือกและกดดูได้เลย ไม่เกินสิบนาทีจะได้แบบที่ต้องการ จากนั้นกดสั่งพิมพ์ 50 นาทีมารับเสื้อได้ นี่เป็นเสื้ออย่างง่าย  แต่ว่าตอนนี้เขากำลังตั้งไลน์ผลิต สำหรับการผลิตชิ้นงานยากๆ สมมติมีจักร 10 ตัว มีคน 6 คน สมัยก่อน 6 คนนี้ต้องเป็นช่างเย็บ แต่วันนี้เขาบอก 6 คนนี้ ไม่ต้องมีทักษะอะไรเลย ทำเป็นอย่างเดียวพอคือหยิบชิ้นงานจากจักรเบอร์หนึ่งไปจักรเบอร์สองให้ถูกก็พอ เพราะว่าตอนนี้เขายังผลิตหุ่นยนต์มาหยิบผ้าไม่ทัน ซึ่งถ้าทำได้ 6 คนนี้ก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ นี่เป็นการทำงานของโรบอตในอนาคต ซึ่งการันตีได้ว่าไม่เกิน 5 ปี มันจะทำได้เร็วมาก” ธนวัฒน์ บอก


     เขาบอกอีกว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้โลกอนาคต จะผลิตที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาผลิตที่เมืองจีนอีกต่อไป อย่างวันนี้ อเมริกามีปัญหากับจีน แต่จีนสามารถส่งหุ่นยนต์ไปตั้งฐานผลิตที่อเมริกาได้ เรียกว่า อยากได้ Made in USA ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ซึ่งนี่จะเป็นการเปลี่ยนโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของโลกทั้งโลกเลยก็ว่าได้
 




ผู้ประกอบการไทยรับมืออย่างไรในโลกอนาคต



     ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย  บอกเราว่า ในอนาคตต้นทุนของเครื่องจักรต่างๆ จะถูกลง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไป จึงเป็นยุคที่สิ่งทอต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) ในที่สุดคำว่า การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น(Labor Intensive) ก็จะหายไป แต่จะเป็นการผลิตขั้นสูง ใช้คนไม่มากแต่เก่งและทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติได้


     “ผู้ประกอบการกลุ่มบนจะปรับตัวอย่างไร ต้องมองว่าประเทศไทยไม่ใช่ฐานเดียวของเราอีกต่อไป เพราะโลกมันเปลี่ยน เราต้องโตไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เมืองไทยประเทศเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้โมเดลธุรกิจของเรามีความยืดหยุ่น หรือมีความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นธุรกิจใหญ่คุณต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้  ต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจคุณ และต้องมีแหล่งผลิตมากกว่า 1 แหล่ง ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มกลาง  มีทางเดียวคือต้องปรับโมเดลทั้งหมด ว่าคุณจะไปผูกกับซัพพลายเชนตรงไหน แล้วต้องปรับตัวให้เร็ว ส่วนรายเล็กก็ต้องนิช (Niche) ต้องเก่งเฉพาะทางให้ได้ อย่างที่ไต้หวัน เขามีพวกสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textile) พวกนี้เป็นบริษัทเล็กทั้งนั้นเลย แต่เขาอยู่ได้ เพราะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วด้วย” ธนวัฒน์สรุปในตอนท้าย   
               



     และนี่คืออนาคตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นโลก ที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง ซึ่งหากปรับตัวได้ก่อน คุณก็จะอยู่รอดและเป็นผู้กำหนดชะตากรรมและความสำเร็จด้วยตัวเองได้
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย