“ลิโด้” เปลี่ยนใหม่ ให้เป็นเก่า จากโรงหนังที่รัก สู่คอมมูนิตี้สำหรับทุกคน




Main Idea
 
  • 31 พฤษภาคมม 2561 คือ วันปิดตัวลงของ “ลิโด” โรงภาพยนตร์เก่าแก่ในเครือ Apex ที่เปิดดำเนินการมายาวนานกว่า 50 ปี
 
  • หนึ่งปีผ่านไป ราว 1 สิงหาคม 2562 โรงภาพยนตร์แห่งเดิมได้กลับเปิดตัวขึ้นมาอีกครั้งในชื่อของ “ลิโด้” ที่ไม่ได้มีแค่ความบันเทิงของภาพยนตร์ แต่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้ใช้จัดกิจกรรม ตั้งแต่ดนตรี การแสดง พื้นที่เวิร์คช็อป และอื่นๆ อีกมากมาย โดยยังคงมนต์เสน่ห์ของพื้นที่และกลิ่นอายของยุค 70 s และ 90 s ไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง




     หากยังจำกันได้ 31 พฤษภาคมม 2561 อาจเป็นวันที่คอหนังอินดี้ หรือหนังนอกกระแสหลายคนสูญเสียน้ำตาเล็กๆ ให้กับการปิดตัวลงของ “ลิโด” โรงหนังที่รัก ซึ่งเปิดดำเนินการยาวนานมากว่า 50 ปี กับภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย “Kids on the Slope” รอบฉาย 20.45


     หลังจากปิดตัวไปราวปีเศษ วันนี้ลิโด้ได้กฤษ์กลับมาอีกครั้งในรูปลักษณะใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายเหมือนเช่นเดิม ลองมาย้อนทำความรู้จักกับโรงภาพยนต์แห่งนี้กัน





     โรงภาพยนตร์ลิโดเปิดให้บริการครั้งแรก 27 มิ.ย.2511ความจุ 1,000 ที่นั่ง หนังเรื่องแรกที่ได้เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ของลิโด้คือ Guns for San Sebastian (ศึกเซบาสเตียน) ลิโดเป็นโรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ในเครือ Apex หลังจากโรงหนังสยาม โรงภาพยนตร์แห่งแรกเปิดตัวเมื่อปี 2509 ตามมาด้วย “สกาล่า” โรงภาพยนตร์แห่งที่ 3 เมื่อปี 2512


     ที่มาของ ‘ลิโด’ มาจากชื่อโรงละครคาบาเร่ต์โชว์ “Le Lido” อันโด่งดังในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งใจกลางกรุงเทพฯ ในเครือ Apex “พิสิฐ ตันสัจจา” เจ้าของผู้ก่อตั้งเคยมีผลงานจากการดัดแปลงโรงละครศาลาเฉลิมไทยบนถนนราชดำเนินให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่มาก่อน ในภายหลังได้รับการชักชวนจาก กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ให้เข้ามาพัฒนาที่ดินดังกล่าว ซึ่งเช่าต่อมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกที จึงได้เข้ามาร่วมลงทุนและก่อสร้างโรงหนังทั้ง 3 แห่งขึ้นมา


     ลิโดดำเนินธุรกิจเป็นโรงภาพยนตร์อย่างเดียวมานานกว่า 25 ปี กระทั่งปี 2536 เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ทำให้ต้องปิดปรับปรุงไปกว่า 1 ปี จากที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ต้องถูกแยกออกเป็น 3 โรงเล็กและปรับพื้นที่ด้านล่างให้เป็นห้องเล็กๆ ให้ร้านค้ามาเช่าขายของ จนเป็นภาพของลิโดอย่างที่เราเห็นก่อนจะเปลี่ยนมือกลับคืนสู่การบริหารดูแลของจุฬาฯ เจ้าของตัวจริงอีกครั้ง





     ที่มาของโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่งในเครือ Apex ไม่เพียงสร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้คนในยุคนั้น แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของคอมมูนิตี้มอลล์ร่วมสมัยแหล่งรวมวัยรุ่นแห่งยุคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในชื่อ “สยามสแควร์” ขึ้นมาด้วย
โดยในยุคนั้นเพื่อทำการโปรโมตโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง จึงได้มีการจัดตีพิมพ์สูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ขึ้นมาแจกแก่ผู้ชม ซึ่งมีเนื้อหาคอลัมน์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ชื่อว่า “สยามสแควร์” เป็นคอลัมน์เขียนซุบซิบนินทา ชื่อดังกล่าวจึงได้ถูกนำมาเรียกขานถึงย่านดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันนี้


     นอกจากประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของลิโดที่โดดเด่น คือ การเป็นโรงภาพยนตร์ทางเลือกที่มีการนำภาพยนตร์นอกกระแสเข้ามาฉายอยู่บ่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการรับชมมากขึ้นนอกจากหนังตลาดทำเงินซึ่งเป็นที่นิยมทั่วไป จนกลายเป็นการสร้างฐานแฟนประจำขึ้นมาได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ราคาก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนเข้ามาใช้บริการอยู่เสมอแม้จะถูกห้อมล้อมด้วยโรงหนังสมัยใหม่มากมาย โดยก่อนปิดตัวลงราคาตั๋วหนังของลิโดอยู่ที่ 100,120 และ 140 บาท และอีกเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้ คือ ภาพบรรยากาศที่ดูคลาสสิกท้าทายกาลเวลา ทั้งแสงไฟ การจัดวางพื้นที่ พนักงานรุ่นเดอะในเสื้อสูทสีเหลืองสดใส และอีกหลายๆ อย่าง เป็นความทรงจำให้จดจำมาจนถึงทุกวันนี้


     31 พฤษภาคม 2561 กับภาพยนตร์เรื่อง “Kids on the Slope” รอบฉาย 20.45 คือ ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ฉายในนามโรงภาพยนตร์ลิโด้ซึ่งทำเอาหลายคนใจหายไปพร้อมๆ กัน





     แต่ 1 สิงหาคม 2562 ลิโดได้กลับฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้งในชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “Lido Connect” หรือ “ลิโด้” โดยมีการเติมไม้โทเข้าไปตามอย่างการออกเสียงในภาษาไทยที่มักผันเสียงสูง ซึ่งอาจมีนัยยะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังเกาะเกี่ยวบรรยากาศแบบเดิมๆ ที่เป็นเสน่ห์ของลิโดเก็บไว้ด้วย โดยลิโด้รูปโฉมใหม่ที่สร้างขึ้นมานั้นได้ถูกตกแต่งให้เหมือนกับภาพดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่ถูกไฟไหม้ เป็นการรีโรเวตโดยยึดหลัก Back to Original





      ปัจจุบันลิโด้อยู่ภายใต้การความดูแลของ PMCU (สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในฐานะผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งได้จับมือร่วมกับ “LOVEiS Entertainment” จัดตั้งบริษัท LIDO CONNECT ขึ้นมา เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้กับลิโด้และสนับสนุนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย ให้กลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “The Unexpected Experience” ด้วยการส่งเสริมจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ดนตรี การแสดง พื้นที่เวิร์คช็อป ฯลฯ


     ทำให้กลิ่นอาย มนต์เสน่ห์ของพื้นที่นี้ไม่แตกต่างไปจากเดิม “ลิโด้” ก็ยังคงเป็น “ลิโด” ผสานความเก่า-ใหม่ได้อย่างลงตัว และยังคงรักษาศักดิ์ศรีศูนย์รวมวัยรุ่นแห่งสยามสแควร์ไว้ได้เหมือนเช่นเดิม


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย