‘พอเพียงก็เพียงพอ’ ถอดความสำเร็จ 5 ธุรกิจออกแบบได้ตามวิถีแห่งความพอเพียง



Main Idea

 
  • หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยให้ไว้กับพสกนิกรชาวไทย ทฤษฎีดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยให้เกษตรกรชาวไทยสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต รวมถึงการทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนได้ด้วย
 
  • เหมือนเช่น 5 ตัวอย่างธุรกิจต่อไปนี้ ที่ได้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน


 
 
     การดำรงชีวิต หรือ การทำธุรกิจ แท้จริงแล้วอาจมีหลักการไม่ต่างกัน บางครั้งหากตึงหรือหย่อนเกินไป อาจทำให้ชีวิตหรือธุรกิจต้องสะดุดไปบ้าง หนึ่งในหลักการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัว  การทำธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมอบไว้ให้กับปวงชนชาวไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกภาคส่วน


     เหมือนเช่นตัวอย่างของ 5 ธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งได้นำหลักความพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จนสามารถประสบความสำเร็จ และนำไปสู่ความยั่งยืนได้แม้ในภาวะที่โลกการแข่งขันรุนแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้   
 


 
  • แดรี่โฮม...เริ่มทีละน้อย ไปทีละก้าว ไม่เกินตัว

     “แดรี่โฮม” ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและโยเกิร์ตโฮมเมดคุณภาพสดจากฟาร์มโดยตรงนี้ เริ่มต้นธุรกิจจากการลงทุนทีละน้อย ไม่ทำอะไรเกินตัว พฤฒิ เกิดชูชื่น ผู้ก่อตั้งกล่าวไว้ว่า เขาได้นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กรตั้งแต่เริ่มต้น โดยก่อนที่จะมาเป็นแดรี่โฮมเขาเคยทำธุรกิจแล้วต้องผิดหวัง 2-3 ครั้งด้วยกัน แต่สำหรับแดรี่โฮมเขาเริ่มต้นทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเปิดร้านเล็กๆ เพื่อเป็นโชว์รูมผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตจากฟาร์ม ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี





     เมื่อได้ผลตอบรับดี จึงค่อยๆ ลงทุนเพิ่มในส่วนของเครื่องจักร นอกจากนี้ในการทำฟาร์มเขายังเลือกที่จะทำแนวทางเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ตามทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการทำเกษตรอินทรีย์อีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถพึ่งพาตนเอง ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ปลอดภัยตามอย่างที่ตลาดต้องการด้วย
 


 
  • ฟาร์มโตะ...เชื่อมคนปลูก – คนกิน สานต่อความพอดี 

     “ฟาร์มโตะ” (Farm.To)  แอปพลิเคชันขายสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่ที่ให้เกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ในลักษณะของการเป็นเจ้าของผลผลิตเกษตรร่วมกัน โดยผู้บริโภคสามารถเข้ามาสั่งจองผลผลิตการเกษตรล่วงหน้าจากเกษตรกรที่สนใจได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่วิธีการเพาะปลูก การเติบโตของผลผลิต การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงเยี่ยมชมพื้นที่เพาะปลูกได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ที่แน่นอน โดยเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น




     นอกจากจะเข้ามาช่วยเชื่อมต่อระหว่างคนกินและคนปลูกให้มาเจอกันได้โดยตรงแล้ว ฟาร์มโตะยังได้แนะนำเกษตรกรให้ทำการเพาะปลูกแบบบันได 9 ขั้น “ปลูกของที่กิน กินของที่ปลูก เหลือค่อยเอามาขาย” ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำไปสู่ความพอเพียง และยั่งยืนด้วย  
 


 
  • ฟาร์มโชคชัยพอเพียง = สติ สมดุล

     อาณาจักรของธุรกิจที่โดดเด่นในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนทำให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตในยุคที่การเกษตรยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หรือเป็นที่ต้องการของตลาดมากเช่นทุกวันนี้ จากแนวคิดของนักธุรกิจหนุ่มที่ชื่อ “โชค บูลกุล” โดยสิ่งที่ยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ คือ สติ ไม่กู้หนี้ยืมสิน ใช้จ่ายและลงทุนอย่างพอดี
“ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจะอนุมัติซื้อเครื่องคิดเลข 2 พันบาท ยังต้องเรียกประชุมบอร์ดว่าควรซื้อหรือไม่ซื้อ





     จนวันนี้ผ่านมาหลายสิบปีธุรกิจเติบโตหลักพันล้าน เราก็ยังมีวินัยการใช้เงินแบบนี้อยู่ คือ รู้จักคุณค่าของเงิน” เขาบอกโดยเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างสมดุลที่พอดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไม่ให้ไหลไปตามกระแสจากระบบทุนนิยมของโลกทุกวันนี้ได้
 


 
  • บาธรูม ดีไซน์...3 หลักพุทธแบบพอเพียง

     “บาธรูม ดีไซน์” คืออีกหนึ่งธุรกิจ SME ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งบาธรูม ดีไซน์ เองเคยประสบปัญหาจากค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 จากการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ตกแต่งห้องน้ำจากต่างประเทศเข้ามาขาย จนวันหนึ่งทำให้ต้องหันมาผลิตด้วยตนเอง เป็นที่มาของแนวคิด “ทำในสิ่งที่รัก และถนัด” จนธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤต เติบโตอย่างโดดเด่น จนได้รับรางวัลมากมาย





     หลักการทำงานที่บาธรูม ดีไซน์ นำมาใช้ตลอดในการทำธุรกิจ คือ “พุทธแบบพอเพียง” ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ผลิตให้มาก – ทำในสิ่งที่รักให้มาก เพื่อให้การทำงานเป็นเหมือนงานอดิเรก 2.ใช้แต่พอดี – มีความสุขจากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น 3.เหลือก็ช่วยผู้อื่น – แบ่งปันสิ่งที่มีให้กับพนักงาน ลูกค้า และสังคม โดยตั้งปณิธานไว้ว่าจะเป็น 1 ใน 5 ผู้นำด้านนวัตกรรมสินค้าในห้องน้ำของโลกให้ได้
 


 
  • ไร่สุขพ่วง...เติบโตแบบพอเพียง ด้วยวิถีอินทรีย์

     “อภิวรรษ สุขพ่วง” ก็เป็นเหมือนคนหนุ่มสาวอีกหลายคนที่วันหนึ่งเลือกที่จะทิ้งชีวิตในเมืองกรุงและหันกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายที่บ้านเกิดในจังหวัดราชบุรี ตามหลักแนวคิดแบบพอเพียงด้วยการทำเกษตรวิถีอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากปลูกข้าว พืชผักสวนครัว จนเมื่อต้องประสบปัญหาความแห้งแล้งเนื่องจากอยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน เขาจึงได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์การเรียนรู้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้หันไปมองจุดเด่นต้นทุนที่มีอยู่โดยพบว่าจังหวัดราชบุรีมีการปลูกอ้อยจำนวนมาก จึงได้ศึกษาและพัฒนาการทำน้ำตาลอ้อยแบบอินทรีย์ ทำให้สามารถเพิ่มลูกค้าได้กว่าร้อยเท่าตัว จากนั้นจึงนำมาต่อยอดผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ ชาย่านาง ฯลฯ





     นอกจากการพัฒนาผลผลิตที่ดี ยังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ ทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และที่โดดเด่น คือ การออกแบบตะกร้าปลูกผัก เพื่อให้ผู้อยู่ในเมืองมีพื้นที่จำกัด เช่น คอนโดมิเนียมสามารถปลูกผักกิเองได้ นับเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ยุคใหม่ที่สามารถประสานแนวคิดแบบพอเพียง และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาผสมรวมกันได้อย่างลงตัว เพื่อให้เกิดการทำเกษตรได้แบบยั่งยืน
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย