ไขความสำเร็จ “แกะดำ คอฟฟี่” กาแฟเมืองปากน้ำโพที่โตไม่หยุด มี 5 สาขา ขายไปกว่าล้านแก้ว




Main Idea
 
  • “แกะดำ คอฟฟี่”  คือร้านกาแฟชื่อดังใน จ.นครสวรรค์ ที่คนท้องถิ่นรู้จักคุ้นเคยดี  ในเวลาประมาณ 6 ปี สามารถขยายไปแล้วถึง 5 สาขา ทั้งใน จ.นครสวรรค์  และ อ.แม่สอด จ.ตาก มียอดจำหน่ายกาแฟไปแล้วกว่า 1 ล้านแก้ว
 
  • จากธุรกิจร้านกาแฟ นำมาสู่ “แกะดำแลนด์” ดินแดนแห่งคนรักกาแฟ ที่มีทั้งร้านกาแฟ และศูนย์การเรียนรู้ด้านกาแฟ  เพื่อให้เป็นอาณาจักรครบวงจรของคนรักกาแฟ และเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวใหม่ประจำ จ.นครสวรรค์อีกด้วย
 
  • ความสำเร็จที่สร้างขึ้น เริ่มต้นจากความไม่รู้ เลือกเรียนรู้และลงมือทำ ด้วยความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ จนเชี่ยวชาญ รู้ลึกรู้จริงในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้




     ในวันนี้หากใครไปเยือนเมืองปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ หลายคนโดยเฉพาะสาวกคอกาแฟ คงไม่พลาดต้องแวะร้าน “แกะดำ คอฟฟี่” อย่างแน่นอน ท่ามกลางการเกิดขึ้นของแบรนด์กาแฟมากมาย ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ ค่ายเด่นค่ายดัง ร้านชิลล์ร้านชิค แต่ทำไมร้านกาแฟท้องถิ่นแห่งนี้ ถึงยังสามารถครองใจลูกค้าและโลดแล่นในตลาดได้อย่างโดดเด่น และยังสามารถขยายได้ถึง 5 สาขาในเวลาไม่นาน   


     การได้พูดคุยกับ “วรรณิศา กลิ่นชัย”  เจ้าของธุรกิจ บริษัท แกะดำ คอฟฟี่ นครสวรรค์ จำกัด มีคำตอบซ่อนอยู่ในเรื่องราวของพวกเขา
 




จากเจ้าของสำนักงานบัญชีสู่ธุรกิจกาแฟน้องใหม่ “แกะดำ คอฟฟี่”

                 

     วรรณิศา กลิ่นชัย เริ่มต้นเส้นทางผู้ประกอบการ ด้วยการเปิดสำนักงานบัญชี แต่ด้วยธุรกิจนี้ต้องทำงานหนักอยู่กับตัวเลขแทบตลอดเวลา บางวันเที่ยงคืนตีหนึ่งถึงจะได้นอน ชีวิตประจำวันจึงดื่มกาแฟค่อนข้างมาก วันละ 6-7 แก้ว จึงเกิดความซึมซับและผูกพันกับเครื่องดื่มชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจอยากจะเปิดร้านกาแฟ
               

     “พอเราดื่มกาแฟมาหลากหลาย ได้ไปนั่งร้านกาแฟหลายแห่ง รวมถึง ได้คุยกับเพื่อนๆ ว่า อยากมีร้านกาแฟเป็นของตนเองบ้าง ทุกคนก็เห็นด้วย แต่ไม่มีใครลงมือทำจริงจัง จึงตัดสินใจลงมือทำเองกับแฟน โดยศึกษาธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟอย่างจริงจัง” วรรณิศา ย้อนจุดเริ่มที่สนใจทำธุรกิจร้านกาแฟ
 

ดีไซน์+บริการ+คุณภาพวัตถุดิบ สูตรแจ้งเกิดแบรนด์น้องใหม่
               

     ปี 2556 “แกะดำ คอฟฟี่” แจ้งเกิดสาขาแรก ในซอยวัชระ จ.นครสวรรค์  นำพื้นที่ลานจอดรถหน้าสำนักงานบัญชีของตนเอง มาปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ ใช้เงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 800,000 บาท   ซึ่งได้การตอบรับจากลูกค้าดีมาก เดือนแรก ขายได้วันละ 100 แก้ว และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 200-300 แก้วต่อวัน และสามารถคืนทุนได้ทั้งหมดภายในระยะเวลา 6 เดือน
               

     ถามต่อว่า  ร้านแกะดำฯ มีดีอะไร ถึงตอบโจทย์คอกาแฟได้โดนใจ  วรรณิศา ชี้ไปที่จุดแรก คือ การตกแต่งร้านสวยงาม แตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ยึดสไตล์ธรรมชาติผสมโมเดิร์นเมื่อเข้ามาแล้วรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง พนักงานสุภาพเอาใจใส่ แถมมีบริการ Free Wifi เหมาะทั้งมานั่งเล่นผ่อนคลาย หรือคุยงาน
               




     ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญในการคัดสรรวัตถุดิบต่างๆ ที่มาเป็นส่วนผสมในกาแฟหนึ่งแก้ว รวมถึง รักษามาตรฐานของกาแฟให้คงที่ ลูกค้ามาดื่มกี่ครั้ง รสชาติจะต้องเหมือนเดิม
               

     “ชื่อร้าน แกะดำ  คอฟฟี่ มาจากความต่างของรสชาติกาแฟที่เข้ม และมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นชื่อที่สั้น  จดจำได้ง่าย  ซึ่งในความเป็นจริง กาแฟที่อร่อยที่สุดมันไม่มี มันอยู่ที่ว่าใครชอบรสชาติแบบไหน  แต่องค์ประกอบที่ทำให้รสชาติกาแฟออกมาดี อย่างไรเสีย ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน คือ 1.เครื่องชงกาแฟ สมรรถนะเครื่องชงต้องดี 2.วัตถุดิบและสูตรต้องดี  ซึ่งจะทำให้รสชาติกาแฟออกมาดีและเป็นมาตรฐาน และ 3.บาริสต้าต้องมีความรู้  ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องผสมผสานกันมันถึงจะลงตัวและออกมาดี” ผู้ให้กำเนิดแกะดำ คอฟฟี่ ระบุ
 
               
ต่อยอดธุรกิจ ขึ้นแท่นตัวแทนขายอุปกรณ์ร้านกาแฟครบวงจร
               

    หลังเปิดร้านกาแฟมาประมาณ 1 ปี เกิดจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจเติบโต  เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทนำเข้าเครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาหาที่ร้าน เพื่อทาบทามให้เป็นตัวแทนศูนย์รวมขายอุปกรณ์ธุรกิจกาแฟสดครบวงจร  ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท อุทัยธานี และ ตาก 
               

     “ตอนบริษัทมาติดต่อให้เป็นตัวแทน จึงตอบไปว่า เราไม่มีความรู้เรื่องเครื่องชงกาแฟเลย เขาจึงชวนขึ้นไปดูโมเดลธุรกิจศูนย์ตัวแทนที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 วัน พอกลับมา เราก็เห็นโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้มากกว่าการเป็นแค่ร้านกาแฟสวยๆ ร้านหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งทางบริษัทมีเงื่อนไขว่า หากจะเป็นตัวแทน ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะการที่จะทำธุรกิจกับบริษัทใหญ่นั้น  นิติบุคคลมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้เรายกระดับธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า บจก.แกะดำ คอฟฟี่ นครสวรรค์” วรรณิศา เผยถึงกุญแจสำคัญที่ช่วยต่อยอดธุรกิจ
               




     เมื่อเข้าสู่ระบบนิติบุคคล การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อจะขยายธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก  เพราะมีธนาคารต่างๆ  เข้ามาพบเพื่อนำเสนอเงินทุนให้  แต่สถาบันการเงินที่ตอบโจทย์ที่สุดคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ  SME D Bank เพราะมีจุดเด่นทั้งดอกเบี้ยต่ำ และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด  สนับสนุนให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน ในวงเงิน 5 ล้านบาท  นำไปใช้สต๊อกสินค้า เพื่อจำหน่ายต่อให้แก่ร้านกาแฟต่างๆ ในพื้นที่ 
               

     “บจก.แกะดำ คอฟฟี่ นครสวรรค์   คือ การสานฝันของใครหลายๆคนที่อยากเปิดร้านกาแฟให้เป็นจริง วันนี้  มีฐานลูกค้ากว่า 500 ราย ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การคัดสรรจัดจำหน่ายวัตถุดิบชั้นดี จำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ มีสถาบันสอนพัฒนาธุรกิจร้านกาแฟ และให้คำปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจร้านกาแฟ” เธอฉายภาพธุรกิจในปัจจุบัน
 
 
สยายปีกธุรกิจ ร้านกาแฟคู่เมืองนครสวรรค์  
               

     “จากไม่รู้ สู้ไม่ถอยจนสามารถเชี่ยวชาญในธุรกิจ” นี่เป็นประโยคที่วรรณิศา ให้นิยามการทำธุรกิจร้านกาแฟที่ผ่านมา  แม้ช่วงเริ่มต้นจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับวงการธุรกิจนี้เลย แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้ว เธอตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ท้อแต่ไม่ถอย ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ จนเชี่ยวชาญ รู้ลึกรู้จริงในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องและจำเป็น  ทำให้วันนี้ “แกะดำ คอฟฟี่” ก้าวสู่ร้านกาแฟที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยรู้จักอย่างดี  สามารถขยายเพิ่มอีก 4 สาขา  ได้แก่    สาขาที่ 2 แยกเวียงดอยนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ , สาขาที่ 3 อ.แม่สอด จ.ตาก สาขาที่4 วิถีเทพสรรพสินค้า จ.นครสวรรค์ อยู่บริเวณลานจอดรถห้างวิถีเทพสรรพสินค้า และสาขาที่ 5 ถนนวิมานแมน จ.นครสวรรค์
               




     นับจากวันแรกถึงธันวาคม 2562 นี้  ธุรกิจของแกะดำฯ จะมีอายุครบ 6 ปีเต็ม มียอดจำหน่ายกาแฟไปแล้วกว่า 1 ล้านแก้ว ยอดขายเฉลี่ยแต่ละสาขาอยู่ที่หลักหลายแสนบาทต่อเดือน
               

     “สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ  เรามาไกลเกินฝันเสียอีก  แผนที่วางในอนาคต มองถึงการสร้างความยั่งยืน  โดยวางแผนสร้างบุคลากรให้เข้มแข็ง  พัฒนาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนเรื่อยๆ มีการผลิตบาริสต้าหน้าใหม่ทุกเดือน ถ้าคนพร้อมเราถึงกล้าที่จะเปิดสาขาใหม่ เพราะนิยามของแกะดำ คอฟฟี่ ทุกสาขา รสชาติคุณภาพจะต้องเหมือนกัน” วรรณิศาเผยจุดยืนแนวคิดการทำธุรกิจ


จากร้านกาแฟ สู่ “แกะดำแลนด์” ดินแดนแห่งคนรักกาแฟ
     
          
     จากวันแรกที่คิดจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองจนถึงวันนี้เธอยอมรับว่า มาไกลเกินความคาดหมาย  หากให้ประเมินหัวใจที่ผลักดันให้ธุรกิจเติบใหญ่ เกิดจากการรักษามาตรฐานรสชาติเหมือนเดิม เอาใจใส่ในกาแฟทุกแก้วที่เสิร์ฟแก่ลูกค้า  มาพร้อมบริการดีเยี่ยม และเติมสิ่งใหม่ๆ ตอกย้ำความน่าสนใจเสมอ เพื่อให้ลูกค้าอยู่กับร้านไปนานๆ
 


 
             
     นอกจากนั้น ในแง่การทำธุรกิจกับคู่ค้าต่างๆ   ความน่าเชื่อถือสำคัญที่สุด  เมื่อสามารถเข้าสู่มาตรฐานระบบบัญชีเดียวได้  ยิ่งทำให้ทุกคนมองการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส ธนาคารทุกแห่ง พร้อมจะปล่อยสินเชื่อให้ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ช่วยให้ขยายธุรกิจมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเราสามารถรักษาเครดิตการชำระสินเชื่อได้ต้องตรงเวลา  ความน่าเชื่อถือยิ่งมากขึ้นไปอีก  ส่งผลดีต่อธุรกิจในทุกด้าน
               

     วรรณิศา ทิ้งท้ายแผนธุรกิจในอนาคต ว่าจะสร้างแบรนด์ “แกะดำคอฟฟี่”  ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ  ขณะนี้กำลังก่อสร้าง “แกะดำแลนด์” ประกอบด้วย ร้านกาแฟ และศูนย์การเรียนรู้ด้านกาแฟ  เพื่อให้เป็นอาณาจักรครบวงจรของคนรักกาแฟ และเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวใหม่ประจำ จ.นครสวรรค์
               
              



     นอกจากนั้น  พัฒนาระบบธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำไปลงทุนขยายธุรกิจยังพื้นที่ต่างๆ  เพื่อที่ต่อไป แกะดำตัวนี้ จะไม่ใช่เพียงธุรกิจดาวเด่นแห่งเมืองปากน้ำโพ แต่จะเป็นแบรนด์ขวัญใจของชาวไทยทั่วประเทศ


     SME ที่มองเห็นความแตกต่าง ก็สามารถสร้างความสำเร็จ ด้วยวิธีคิดแบบ “แกะดำ คอฟฟี่” ได้
 
 
  
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก