ถอดสูตรรบ ‘สปาภูเก็ต’ อยู่อย่าง Strong ครองใจลูกค้าระดับโลก




Main Idea

 
  • สปาไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้แต่ในเกาะเล็กๆ อย่างภูเก็ต ยังมี Day Spa ให้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15-17 ล้านคน
 
  • ทว่าแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินในกระเป๋ากลับไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงยังมีน้อยราย ธุรกิจสปาใช้กลยุทธ์ตัดราคากันเอง ส่งผลให้การทำสปาในยุคนี้มีราคาต่ำกว่ายุคก่อนเกือบเท่าตัว
 
  • สำหรับสปาภูเก็ต พวกเขาใช้กลยุทธ์ผนึกกำลังสู้  สร้างมาตรฐานสปาและราคาที่เป็นบรรทัดฐาน นำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ รวมตัวกันสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน สร้างจุดขายที่แตกต่างเพื่อดึงดูดลูกค้าระดับโลก




     สปาไทยเคยเป็นธุรกิจจรัสแสง เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาเยือนประเทศไทย แม้แต่ในเกาะเล็กๆ อย่างภูเก็ต ยังมี Day Spa แบบ 40-60 เตียงให้บริการกว่า 30 แห่ง และแบบ 60-200 เตียงอีกประมาณ 30 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15-17 ล้านคน


     แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทว่าเม็ดเงินในกระเป๋ากลับไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกลับมีจำนวนน้อยราย ซ้ำเพื่อช่วงชิงลูกค้าทำให้ธุรกิจสปาต้องหันมาใช้กลยุทธ์ตัดราคากันเอง ส่งผลให้การทำสปาในยุคนี้มีราคาต่ำกว่ายุคแรกๆ เกือบเท่าตัว


     พวกเขาจะรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร มาฟัง “รัตนดา ชูบาล” นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต พูดถึงทางออกในเรื่องนี้





      “จากปัญหานี้เอง ทำให้ในเบื้องต้นเราได้รวบรวมเพื่อนสมาชิกกว่า 150 ราย เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานสปาและราคาที่เป็นบรรทัดฐานขึ้น และจะค่อยๆ ให้สมาชิกเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนถึงผลประโยชน์ที่ได้รับไปถึงสมาชิกอีกทั้ง 300 กว่ารายที่มีอยู่” เธอบอกหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา รับมือกับการแข่งขันและสงครามราคาในธุรกิจสปาโลคัล


     ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งที่จะทำให้สมาชิกไม่ตัดราคากันเองก็คือ ต้องทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ทางคณะกรรมสมาคมฯ จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการทำธุรกิจสปาในวันนี้มากขึ้น ทั้งในด้านการจองร้านนวดผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน (Agent) ทำให้เจ้าของธุรกิจสปาไม่โดนหักเปอร์เซ็นต์เหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยในเรื่องสถิติข้อมูลต่างๆ เช่น ลูกค้าชอบทำสปาแนวไหน เพื่อนำไปใช้วางแผนการทำการตลาดต่อไปได้ด้วย





     นอกจากช่วยเพิ่มเรื่องรายได้ สมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสั่งวัตถุดิบจำพวกสมุนไพรต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำทรีตเมนต์ ทำสครับ ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกสามารถลดต้นทุน และไม่ต้องสต็อกสินค้า รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาคมฯ อีกทางด้วย เพื่อเอาไว้บริหารจัดการในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดอบรมให้กับสมาชิก ทำให้สมาคมฯ สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน


     “ธุรกิจสปาสร้างรายได้ให้กับประเทศปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์มาจาก สปาภูเก็ต รายได้เหล่านี้ยังกระจายไปถึงรากหญ้า ชาวไร่ที่ปลูกสมุนไพร ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ แม้แต่พนักงานนวดบางคนอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ แต่มีงานทำมีรายได้ไม่ต้องเบียดเบียนใคร” เธอบอกความสำคัญของสปาภูเก็ต
               




     หากต้องการยกระดับธุรกิจสปาไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รัตนามองว่า สิ่งที่ธุรกิจสปาไทยยังขาดก็คือ บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาธุรกิจสปา เพราะภาคการศึกษายังไม่มีหลักสูตรการทำธุรกิจสปาที่เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนสาขาอาชีพอื่นๆ ฉะนั้นถ้าสามารถบรรจุความรู้ศาสตร์นี้เข้าไปในสถาบันการอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัยได้ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานธุรกิจสปาไทยให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้


     “วันนี้ต้องยอมรับว่าพนักงานที่มาทำงานในสปาถึงจะจบปริญญาตรีแต่ก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจสปาโดยตรง ทั้งพนักงานตั้งแต่ระดับบนถึงล่าง ทำให้เมื่อมาทำงานจริงเจ้าของสปาต้องเป็นคนให้ความรู้เฉพาะด้านทั้งเรื่อง  อโรมา อนาโตมี โน่นนี่นั่น หรือแม้แต่คนที่เป็นผู้จัดการร้านซึ่งจะต้องผ่านการอบรม 100 ชั่วโมงก่อนมาทำงานจริง  แต่ 100 ชั่วโมงก็ยังลึกไม่พอ เพราะจริงๆ แล้วเขาจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเทรนพนักงานได้ทุกคนทุกระดับ แม้แต่พนักงานนวดเองก็จะต้องมีความรู้เพื่อให้ลูกค้าที่มารับบริการสามารถกลับออกไปอย่างปลอดภัยด้วย”


     เธอบอกอีกว่า ในวันนี้เรื่องภาษาก็สำคัญ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ นอกจากภาษามือ ภาษากายที่คนไทยมีความอ่อนน้อมและทำได้เป็นอย่างดีแล้วถ้าพวกเขาสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ฉะนั้นวันนี้จึงต้องทำบทให้กับพนักงานเพื่อใช้สื่อสารเบื้องต้นด้วย





     นายกสมาคมฯ กล่าวต่ออีกว่าสิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดเพราะอยากเห็นที่ภูเก็ตมีธุรกิจสปาที่ได้มาตรฐานจำนวนมากขึ้น โดยวิธีการหนึ่งที่ทำได้คือ การส่งธุรกิจเข้าประกวดในทุกๆ เวที เพราะจะได้รับทั้งคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และยังได้อัพเดตข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจ จึงช่วยทำให้ธุรกิจแข็งแรงโดยไม่ต้องลงทุนอีกด้วย


     “ทุกวันนี้ในต่างประเทศเองก็มี Thai Massage เยอะมาก การที่ลูกค้าจะมาหาเราจึงต้องมีสิ่งที่แตกต่าง มีประสบการณ์ใหม่ๆ มีเรื่องเล่า เช่น นำมโนห์รามาผสมผสานในการนวดให้แตกต่างจากภาคอื่นๆ ทำให้สปาในภูเก็ตเป็นที่จดจำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าต้องการมาเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วเราจะได้เงินลูกค้า และเมื่อทุกร้านได้

 
     มาตรฐานมีเอกลักษณ์จะเป็นที่เลื่องลือว่าในภูเก็ตมีสปาที่คุณไม่ควรพลาดก็จะทำให้มีลูกค้ากลับมาแบบปากต่อปาก”


     และนั่นคือ หนทางสร้างความยั่งยืนให้กับสปาภูเก็ต อีกธุรกิจที่ยืนอยู่บนความท้าทายในวันนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย