Main Idea
- ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ SME ที่ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังต้องเพิ่มระดับความ “กล้า” ให้กับตัวเอง ทั้งกล้าที่จะปรับ กล้าที่จะเปลี่ยน และกล้าที่จะคิด นำพาตัวเองออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ไปสู่การเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด
- SME ต้องกล้าคิด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย คิดให้เกินกว่าที่คนอื่นคิด แต่อย่าทำตามคนอื่น ที่สำคัญไม่ต้องรอให้ถูกดิสรัปต์ แต่ SME ต้องกล้าที่จะดิสรัปต์ตัวเอง เพื่ออยู่รอดอย่างแข็งแกร่ง และไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้
- SME Thailand ร่วมกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) อยากให้ SME ไทยปลุกความกล้าในตัวเอง เพื่อสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้า จึงจัดสัมมนา "กล้า...ฉีกกรอบความคิด สร้างธุรกิจให้ก้าวหน้า" เพิ่มโอกาสเติบโตไปได้ไกลกว่าให้กับ SME ไทย
ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การคิดแบบเก่าและทำแบบเดิมในวันนี้ อาจมิได้หมายถึงการย่ำอยู่กับที่ ทว่าหมายถึงคุณกำลังถูกทิ้งห่างอยู่ข้างหลัง มองความสำเร็จของคนที่อยู่ข้างหน้าต่างหาก
หากต้องการจะให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าในทุกๆ วัน และไม่อยากมองแผ่นหลังของใคร SME ต้องกล้าคิดต่างอย่างผู้นำ และกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน SME Thailand จึงร่วมกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา กล้า...ฉีกกรอบความคิด สร้างธุรกิจให้ก้าวหน้า เพื่อปลุกความกล้าในตัว SME ไทย ให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดียิ่งกว่า เพิ่มโอกาสเติบโตก้าวหน้ามากกว่าใคร
กล้าปรับ! ขยับจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่โปรเจกต์มหาชน
ศิรุวัฒน์ ชัชวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจใหม่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารแบรนด์ ตำมั่ว คือผู้กล้าคนแรกที่ชวน SME กล้าคิดใหญ่ ในหัวข้อ กล้าปรับ! ทลายกำแพงคนตัวเล็ก สู่โปรเจกต์มหาชน โดยยกแบรนด์ตำมั่วเป็นกรณีศึกษา ซึ่งในอดีตนั้นธุรกิจตำมั่วเริ่มต้นจากห้องแถว 1 คูหา วันนี้กลายมาเป็นส้มตำพันล้านใต้ร่มของบริษัทมหาชน และสามารถขยายสาขาไปต่างประเทศได้ เขาบอกว่าให้ความสำคัญกับแบรนด์เท่าๆ กับตัวสินค้า โดยมองว่าทั้งสององค์ประกอบคือ หัวใจ ที่ต้องหมั่นใส่ใจดูแลให้แข็งแรง
ข้อจำกัดของ SME คือ มีเงินทุนน้อย ดังนั้น ต้องรู้ให้เยอะและต้องแม่นยำ เพื่อจะคิดการใหญ่ได้อย่างรอบคอบ ออกแบบทุกอย่างให้เรียบง่าย และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว หากรู้ว่าผิด ก็ต้องปรับตัวได้ไว โดยหลักแล้วสินค้าต้องมีเอกลักษณ์ มีตัวตนที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก โดยเขาเริ่มจากสร้างนิยาม “อาหารรสจัด ถนัดเรื่องตำ” และรักษาคุณภาพของตนเอง ผ่านวัตถุดิบที่ดี สูตรอาหารที่ชัดเจน การอบรมพนักงานที่ได้มาตรฐาน โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ หรือเปลี่ยนตัวเองเพื่อเอาใจใคร นี่คือแนวทางสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ตำมั่ว ที่สำคัญคือการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ และความเชื่อให้ทีมงานในองค์กรได้เข้าใจ และภูมิใจที่ได้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่ลูกค้า ขณะที่ลูกค้าก็พึงพอใจที่ได้ซื้อประสบการณ์ดังกล่าว
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ธุรกิจเติบโตมีจำนวนสาขามากขึ้น เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้สามารถรับมือกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ตลอดจนความเก่าแก่ของแบรนด์ ด้วยการสื่อสารที่สั้น กระชับ และการยกระดับมูลค่าของสินค้าให้เติบโตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การมีสินค้าที่ดีก็เหมือนกับมีการตลาดที่ดี ที่ทำให้ลูกค้าเชื่อและเกิดการบอกต่อ ซึ่งมีพลังมากกว่าการซื้อโฆษณาด้วยซ้ำ นอกจากนี้ SME ยังต้องเรียนรู้ อยู่ได้ ในวันที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น ลดขนาดของร้านลง และเพิ่มการเดลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน เป็นต้น
กล้าเปลี่ยน! เพื่อไปให้สุดในยุคดิจิทัล
ด้าน รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด นำ SME ไปส่องโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ พร้อมกระตุ้นให้ SME เปลี่ยนแปลงตัวเองจากข้างในเพื่อรับกับโลกที่เปลี่ยนไป ในหัวข้อ กล้าเปลี่ยน! โตให้ไว ไปให้สุดในยุคดิจิทัล โดยเขาเผยว่า ทุกวันนี้คนเราอยากจะเปลี่ยนแปลง หากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ SME จึงควรตั้งต้นด้วยการสร้างบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์ ในฐานะเจ้าของกิจการ SME ต้องสามารถเล่าให้ทีมงานเข้าใจ และทวนในสิ่งที่พูดออกมาได้
การเข้ามาของเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ที่ทันสมัย จะทำให้ลักษณะงานในอนาคตเปลี่ยนไป โดยมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันบางอาชีพก็หายไป โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำๆ จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เพราะทำงานได้เร็วกว่า ความผิดพลาดแทบเป็นศูนย์ มนุษย์จะทำงานน้อยลง มีเวลาว่างมากขึ้น คนยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องตระหนัก และสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะความสามารถ 3 ชุด ที่จะทำให้งานหรือธุรกิจตนโดดเด่น ดังนี้
Hard Skill ทักษะที่สามารถเรียนได้ มีใบรับรอง เป็นทักษะในตระกูล Data ทั้งหลาย เช่น Data Analytic
Soft/Human Skill ทักษะที่มนุษย์ต้องมี เช่น Creativity, Critical Thinking
Meta Skill ทักษะที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ เช่น Life-Long Learning, Growth Mindset
เขาบอกอีกว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 เป็นครั้งแรกที่มนุษย์จะทำงานน้อยกว่าหุ่นยนต์ ดังนั้น งานไหนที่หุ่นยนต์ทำแล้วเก่ง ปล่อยให้ทำไป อย่าไปสู้ เราควรโฟกัส 7 ทักษะที่หุ่นยนต์หรือ AI ทำไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ได้แก่
Communication ทักษะที่ทำให้เซเปียนส์ครองโลก คือ การเล่าเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถโยงกลับมาที่ตัวเองได้
Content การสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเข้าใจ หรือเปลี่ยนความคิด ความเชื่อเดิม ทำให้ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่
Context ในยุคที่ Data มีความสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าคนซื้อสินค้าเพราะอารมณ์มากกว่าเหตุผล ต้องสร้างบริบทที่ทำให้คนไม่ได้แค่ซื้อสินค้า แต่ซื้อความเชื่อ ทัศนคติที่ตรงกันให้ได้
Emotional Competence ความเข้าใจในอารมณ์
Teaching ทักษะการสอน เพราะคนยุคใหม่ชอบเรียนรู้
Connection การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน เท่ากับการสร้างโอกาส
Ethical Compass ศีลธรรมที่ติดตัวและปลูกฝังอยู่ในตัวมนุษย์ แต่ AI และหุ่นยนต์ ต้องโปรแกรมใส่ลงไป”
กล้าคิด! ทลายเกมการตลาด สร้างโอกาสไร้ขีดจำกัด
ปิดท้ายงานสัมมนาด้วยการชวน SME มาดิสรัปต์ตัวเองในหัวข้อ กล้าคิด! Disruptive Marketing ทลายเกมการตลาด สู่โอกาสไร้ขีดจำกัด โดย วีรพล สวรรค์พิทักษ์ CMO บริษัท La Nature จำกัด เขาได้เปิดประเด็นเรื่องความจริงเกี่ยวกับ Disruption ว่าไม่ใช่อะไรที่ใหม่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว ทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่กล้าคิดเท่านั้น เช่น Halo Top ไอศกรีมที่กินแล้วไม่รู้สึกผิดว่าทำให้อ้วน 8Greens ปฏิวัติการกินผักให้ครบถ้วนด้วยเม็ดฟู่เพียงเม็ดเดียว เป็นต้น
โลกธุรกิจวันนี้แข่งกันที่ Scale และ Speed หากไม่สามารถสเกลธุรกิจให้ใหญ่กว่าคู่แข่งได้ ก็ต้องอัพเกรดความเร็ว วันนี้กล้าคิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดอะไรใหม่ๆ และต้องไวด้วย เพราะเป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า และหากความคิดนั้นใช่! มันจะล้างบางสิ่งเดิมๆ ให้หายไป ทั้งนี้ การที่จะดิสรัปต์และเติบโตเหนือกว่าอัตราเร่งแบบปกติ SME ต้องมีความคิดแบบ Exponential Thinking (การคิดการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ) ดังนี้
- Digitalization ปรับการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากที่สุด
- Deception อาจจะช้าช่วงแรก แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง มันจะเติบโตเร็วจนคาดไม่ถึง
- Disruption หาตลาดใหม่ อย่าจำกัดอยู่แค่ตลาดเดิม
- Demonetized เงินไม่ได้มาหาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เดี๋ยวมันจะมาเอง
- Dematerialization อะไรที่จับต้องได้มันจะหายไป เช่น อดีตฟังเพลงจากเทป ซีดี วันนี้ฟังเพลงจากสตรีมมิ่ง
- Democratization ช่วงแรกราคาอาจจะแพง แต่จะถูกลงเรื่อยๆ เพื่อเข้าถึงคนหมู่มากขึ้น
แม้ว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็ว สิ่งที่เรียนรู้มาในอดีตอาจใช้ไม่ได้ แต่ทฤษฎี (Theory) ยังจำเป็นต้องมีในการทำธุรกิจ แค่ปรับให้ทันสมัย แต่งหน้าทาปากด้วยกลยุทธ์ (Strategy) ให้ธุรกิจสอดรับกับเทรนด์โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป (Trendy) สิ่งสำคัญคือ โฟกัสที่ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า (Focus on your customer ) และคิดถึง Value Proposition ที่ลูกค้าจะได้รับให้มาก
“หากต้องการจะเติบโตแบบก้าวกระโดด SME ต้องกล้าคิด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย คิดให้เกินกว่าที่คนอื่นคิด แต่อย่าทำตามคนอื่น อะไรไม่ถนัด คิดได้ แต่อย่าทำเอง Outsource ออกไปดีที่สุด อะไรถนัด คิดแล้วทำเลย ไม่ต้องรอ SME ควรทำแบบ Disruptor เริ่มต้นจากการดิสรัปต์ตัวเอง เปลี่ยนจากนักคิดมาเป็นนักลงมือทำ เพื่อคว้าโอกาสนั้นก่อนใครๆ”
สนับสนุนงานสัมมนาเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีโดย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
สินเชื่อธนชาต SME ให้ธุรกิจของคุณก้าวหน้าได้ทุกวัน พร้อมรองรับทุกความต้องการ เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ
สนใจสมัครสินเชื่อธนชาต SME คลิก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี