จับ AR มาสร้างแบรนด์ของฝาก “Siam Tee Ruk” พลิกตลาดของที่ระลึกยุค 4.0

Text / Photo sir.nim




Main Idea
 
  • “Siam Tee Ruk” (สยามที่รัก) แบรนด์สินค้าของที่ระลึกมิติใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือการสร้างภาพเสมือนจริงสู่โลกจริงในรูปแบบ 3 มิติ ด้วยการสแกนผ่านคิวอาร์โค้ด
 
  • นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม ในรูปแบบที่แตกต่าง สร้างมิติใหม่ให้กับสินค้าของที่ระลึกที่อาจยังไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน



                 
     เวลาเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เรามักเก็บกลับมาเสมอนอกจากความทรงจำที่สวยงาม ภาพถ่าย ก็คือ เหล่าบรรดาของฝากของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด สมุดโน้ต หรือเสื้อยืดสักตัวหนึ่ง แต่บางครั้งก็อาจยังไม่เพียงพอ จะดีกว่าไหมถ้ามีโปสการ์ดสักใบ เสื้อยืดสักตัวหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงภาพนิ่งหรือลวดลายสกรีนเฉยๆ แต่มีลูกเล่นเป็นภาพเคลื่อนไหวที่น่าดึงดูด แถมยังสามารถบอกเล่าเรื่องราว รวมถึงอาจพาคุณเดินทางไปสู่สถานที่นั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง
               



     “Siam Tee Ruk” (สยามที่รัก) แบรนด์สินค้าของฝากของที่ระลึกยุคใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือการสร้างภาพเสมือนจริงสู่โลกจริงในรูปแบบ 3 มิติ ผ่านกล้องถ่ายรูปหรือการสแกนคิวอาร์โค้ดเข้ามาใช้ โดยเกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ เกศกนก แก้วกระจ่าง ที่อยากสร้างของที่ระลึกมิติใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว จุดเด่น รวมถึงเอกลักษณ์ของสถานที่นั้นๆ ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ผ่านแอปพลิเคชันและระบบที่ได้ออกแบบและคิดค้นขึ้นมาเอง โดยทำออกมาในรูปแบบของโปสการ์ด สมุดโน้ต เสื้อยืด ในราคาที่ใครๆ ก็จับต้องได้
               

     “จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราเองเป็นคนชอบท่องเที่ยวมาก่อน ทีนี้พอมาเห็นสินค้าที่ระลึกตามที่ต่างๆ ก็รู้สึกว่าดูซ้ำๆ กันไปหมด เสื้อยืดลายแบบนี้ไปที่ไหนก็เจอ เปลี่ยนแค่ชื่อสถานที่เท่านั้น เลยคิดว่าอยากให้มีสินค้าของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถานที่แห่งนั้นจริงๆ และด้วยความที่ตัวเองเป็นคนวาดรูปได้ จึงลองวาดรูปจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และนำไปทำต้นแบบสกรีนขายลงบนเสื้อยืด ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก เพราะสถานที่บางแห่งเขาก็ไม่รู้จัก แต่พอเราได้แนะนำก็ทำให้เขาเกิดสนใจอยากไปเที่ยว แต่จะให้ไปบอกทุกคนก็คงไม่ได้ เผอิญตอนนั้นได้ไปเห็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับพิเศษมีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ เห็นว่าน่าสนใจดี ถ้าเอามาใช้กับของที่ระลึกได้ก็น่าจะดี เลยเข้าไปทำโปรเจกต์กับบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง ไปเล่าไอเดียให้เขาฟัง โดยช่วงแรกทดลองทำให้เขาเห็นก่อน ทำสมุดออกมา 200 เล่ม โปสการ์ด 200 ใบ โดยไม่โปรโมตอะไรเลย เพราะอยากลองวัดฟีดแบ็กด้วย เลยปล่อยให้สินค้าเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จนในที่สุดก็ได้เป็นพาร์ทเนอร์ทำงานร่วมกัน”
 


               
     จากไอเดียที่คิดจะทำแค่ของที่ระลึก ก็แตกไลน์สู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เป็นของฝากของที่ระลึกมิติใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เก็บภาพความทรงจำในรูปแบบที่เคลื่อนไหวได้


     ความพิเศษของสินค้าที่ระลึกจาก Siam Tee Ruk ที่แตกต่างจากสินค้าของที่ระลึกอื่น มีอยู่ 3 ข้อเด่นๆ คือ 1.สามารถเล่น AR ในรูปแบบ 3 มิติได้ 2.บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน 3.เชื่อมต่อกับ Google Map ทำให้สามารถนำพานักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้


     โดยขั้นตอนการทำงานจะเริ่มจากการลงสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อค้นหาเอกลักษณ์และจุดเด่นที่มีอยู่ เพื่อนำมาถ่ายทอดออกเป็นภาพวาด จากนั้นจึงจะนำภาพที่ได้ดังกล่าวมาผ่านกระบวนการเขียนแบบ เพื่อสร้างระบบ ฝั่งจุดสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อให้เวลาส่องกล้องแล้วสามารถแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยี AR ขึ้นมาได้ และสุดท้ายจึงนำภาพที่ได้ดังกล่าวไปผลิตเป็นสินค้าของที่ระลึกต่างๆ อาทิ โปสการ์ด สมุดโน้ต เสื้อยืด โดยในเบื้องต้นเป็นการลงทุนทำขายเองในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในอนาคตอันใกล้ได้วางแผนเปิดแฟรนไชส์ เพื่อขยายออกไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
               



     “ยกตัวอย่างถ้าเป็นเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงประตูท่าแพ เราก็วาดประตูท่าแพ และรถสองแถววิ่งผ่าน เวลาสแกนก็จะเห็นรถวิ่งผ่านประตูท่าแพ อย่างที่นครศรีธรรมราช อาจเป็นภาพวัดพระธาตุและทำเป็นนกบินผ่านก็ได้ โดยเรามีศิลปินในสังกัดสามารถวาดให้ได้ หรือถ้าอยากวาดเองก็วาดได้ แต่สุดท้ายระบบหลังบ้านที่ทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องกลับมาที่เราอยู่ดี”


     สำหรับราคาที่จำหน่ายนั้น เรียกว่าแทบจะไม่ได้แตกต่างจากราคาสินค้าของที่ระลึกทั่วไปสักเท่าไหร่เลย อาทิ โปสการ์ดแผ่นละ 15 บาท สมุดโน้ต 39 – 49 บาท กระเป๋าผ้า 59 -159 เสื้อยืดเริ่มต้นที่ 250 บาท
               

     “ความจริงของที่ระลึกที่มีการใช้เทคโนโลยีแบบนี้น่าจะมีราคาแพงไม่ใช่แค่หลักสิบ แต่เรามองเรื่องการกลับมาซื้อซ้ำมากกว่า และอยากให้กระจายออกไปได้เยอะๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย สมมติซื้อกลับไปได้ 5 แบบ เขาก็ได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่งแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจไม่ได้มีแค่ที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเท่านั้น ในชุมชนต่างๆ ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมายหลายพันแห่ง ถ้าเราทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ ก็ได้ช่วยส่งเสริมชุมชนต่างๆ ช่วยส่งเสริมชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการได้ด้วยกันทุกฝ่าย โรงงานผลิตก็ได้ แฟรนไชส์ที่ดูแลอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้ด้วย ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับมาถึงธุรกิจของเราเอง  ต่อไปถ้าสามารถกระจายออกไปได้มาก ไม่ว่าเขาจะไปเที่ยวที่ไหน ถ้าโหลดแอปพลิเคชันของเราไว้ และเจอสินค้าของที่ระลึกจากเราที่ไหน เขาก็สามารถหยิบมือถือมาสแกนเพื่อดูรูปภาพ ดูข้อมูล และเส้นทางเพื่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง”
               



     นอกจากจะผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกแล้ว เทคโนโลยีของ Siam Tee Ruk ยังสามารถนำไปปรับใช้กับรูปแบบบริการและการทำธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย เช่น นำมาใช้กับโลโก้ธุรกิจ เพื่อสร้างความโดดเด่น ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเก็บข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาสแกนได้เช่นกัน เช่น มาจากพื้นที่ใด รูปที่ได้รับความนิยมในการสแกนมากที่สุดคืออะไร ในกรณีที่เป็นร้านอาหาร ก็สามารถทราบเมนูที่ขายดีได้เลย ฉะนั้นสิ่งที่ Siam Tee Ruk คิดขึ้นมาจึงไม่ใช่เพียงแค่การโชว์รูปสนุกเฉยๆ แต่ยังเป็นการเก็บข้อมูลที่ซ่อนอยู่ได้อีกด้วย


     จากไอเดียการทำธุรกิจที่แตกต่าง และนำนวัตกรรมเข้ามาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม จึงไม่แปลกที่ Siam Tee Ruk จะสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด จาก 12 โมเดลธุรกิจชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายในโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (SMEs & OTOP Transformation) มาครองได้ ในโมเดลธุรกิจที่ชื่อว่า “Travelers Souvenir AR สินค้าที่ระลึกพาเที่ยวนวัตวิถี” นั่นเอง
               



     “เราเองก็ไม่คิดว่าจะมาไกลถึงจุดนี้ เริ่มต้นจากแค่อยากผลิตของที่ระลึกดีๆ สักชิ้นเพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำของสถานที่นั้นๆ ได้ แต่ในวันนี้เรากลายเป็นผู้สร้างระบบ ซึ่งมันสามารถนำมาปรับใช้กับอะไรได้ตั้งมากมาย ถามว่ากลัวการก๊อปปี้ไหม เราเชื่อว่าสิ่งที่เราอยู่ เราไม่ใช่แค่เพียงบริษัทไอทีบริษัทหนึ่ง หรือแค่ศิลปินวาดรูป ผู้ผลิตสินค้าที่ระลึก แต่เรารวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน วันหนึ่งเรื่องระบบอาจมีคนคิดขึ้นมาได้ แต่ถามว่าในความลึกซึ้งเข้าใจชุมชน เพื่อค้นหา    อัตลักษณ์จุดเด่นที่แท้จริงของแต่ละชุมชนและตีเป็นภาพวาดออกมา เขาสามารถเข้าใจได้อย่างเราไหม เราจึงเชื่อในจุดเด่นที่เรามี และถึงแม้วันหนึ่งอาจมีคนทำขึ้นมาจริงๆ แต่ในวันนี้เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ทำออกมา ยังไงชื่อที่เขาจดจำได้ก็ต้องเป็นเราอยู่ดี” เกศกนก กล่าว
           

     และนี่เอง คือ เรื่องราวที่มาของสินค้าที่ระลึกมิติใหม่ ที่นอกจากจะช่วยเก็บภาพความทรงจำในรูปแบบใหม่ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้วย

 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย