เป็นเจ้าของกิจการมันไม่ง่าย! ต้อง ‘คิด’ แล้ว ‘ลงมือทำ’ อย่างมีแผน

Text : ตปนีย์ ติลา Founder & Designer  แบรนด์  by Tila




Main Idea
 
  • คนยุคนี้อยากทำธุรกิจ อยากประสบความสำเร็จ อยากมีแบรนด์ของตัวเองขายไปได้ทั่วโลก แต่เส้นทางผู้ประกอบการนั้นมันไม่ง่าย ยังมีอะไรให้ต้องรับมืออีกเยอะมาก
 
  • SME ต้องคิดแล้วลงมือทำ ต้องมีการวางแผน ฝึกตั้งเป้าหมาย หาช่องทางจัดจำหน่ายที่ใช่  มีกรอบในการทำงาน มีการจัดการที่ดี และเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ก้าวช้าๆ แต่ว่ามั่นคง ก็จะประสบความสำเร็จได้




     เจ้าของกิจการ คงเป็นคำที่ใครหลายคนวาดฝันไว้ การเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ต้องเดินทางเบียดเสียดผู้คนที่ออกไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกันทุกๆ เช้า ไม่ต้องคอยตอกบัตรเข้า-ออกเช้าเย็น...แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเป็นเจ้าของกิจการไม่ได้ง่ายเลย อยู่ที่ความตั้งใจมุ่งมั่นว่าเราจริงจังกับสิ่งที่ทำมากแค่ไหน ถ้าตอนนี้คุณกำลังฝัน หรืออยากจะทำอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง เราขอแชร์ประสบการณ์ทำแบรนด์ by Tila (บาย ติลา) ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมหม้อห้อม จากจังหวัดแพร่ ผ่านบทความนี้
               




     คิดแล้วทำเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ by Tila (บาย ติลา) ด้วยความที่เป็นคนจังหวัดแพร่ ได้เติบโตมาพร้อมกับผ้าหม้อห้อม ภูมิปัญญาการย้อมผ้าของท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณ จนได้ไปเรียนการมัดย้อมผ้าหม้อห้อมก็ยิ่งหลงรัก และตั้งใจที่อยากจะต่อยอดภูมิปัญญานี้ จากรูปแบบเสื้อผ้าเครื่องใช้แบบดั้งเดิม ออกมาเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ที่พร้อมส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้อย่างไม่เคอะเขิน การคิดแล้วลงมือทำ ณ วันนั้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วจึงเกิดขึ้น การลงมือทำเลยเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การแก้ปัญหาระหว่างทางมากกว่า


     และอีกปัจจัยที่อยากให้ความสำคัญคือ การวางแผน วางกรอบของการทำงาน จะเป็นภาพรวม ภาพแคบ ภาพใกล้ ภาพไกล เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยเป็นภาพร่างๆ ในความคิดว่า เราจะทำอะไรได้แค่ไหนบ้าง 
               

     การตั้งเป้าหมาย เป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยการตั้งคำถามตัวเองก่อนว่า “ความตั้งใจในการทำแบรนด์ครั้งนี้คืออะไร” สินค้าของเราคืออะไร ลูกค้าคือใคร ตัวตนของเราในตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในลักษณะเดียวกันเราโดดเด่นกว่าคนอื่นอย่างไร ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกของการเริ่มสร้างแบรนด์ เราอาจจะคิดแค่ว่าได้มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก ได้มองเห็นสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นรูปเป็นร่าง การคิดเพียงแค่นั้นเป็นเพียงแค่พื้นฐาน อาจเป็นเพียงสายน้ำให้เราได้ชุ่มชื่นหัวใจ เป็นแรงผลักดันเล็กๆ ในเวลาที่เราเจออุปสรรคปัญหาเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นแหล่งเส้นเลือดใหญ่ให้กับความฝันของเราก็คือ รายได้ที่เข้ามามากกว่า การทำแล้วมีความสุขเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เงินลงทุนทุกบาทมีค่าเกินกว่าจะปล่อยให้หายไปเฉยๆ หรือจมอยู่กับสินค้าในสต็อกไม่มีทางระบายออกไปได้...สินค้าในครั้งแรกของ by Tila คือกระเป๋าคลัตช์ 100 ชิ้น เป็นการสั่งทำโดยที่ปราศจากการวางแผนใดๆ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความเครียด





     นั่นจึงเป็นที่มาของการมองหา ช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อระบายสินค้า เราเริ่มทำการตลาดโดยการใช้ประโยชน์จาก Social Media ไม่ว่าจะเป็น Page/Facebook /Instagram ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้สินค้าพอกระจายออกได้ แต่นั่นไม่เพียงพอ จึงเริ่มหางานอีเวนต์เพื่อออกบู๊ธ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย แต่ควรต้องดูงานที่ไปออกดีๆ ว่า เป็น Theme หรือ Concept ที่ใกล้เคียงกับจุดยืนของสินค้าเราไหม ครั้งหนึ่งเคยไปออกงานแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ไปออกเพียงแค่อยากขายของ ปรากฏถึงหน้างานคนอื่นเขาขายสินค้า Mass+Fashion มาขาย แต่ในขณะที่เรานั่งขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม ผลคือขายสินค้าไม่ได้เลย ต้องยอมลดราคา ขายแบบขาดทุน คนขายก็แทบขาดใจ จนต้องมาตั้งสติถามตัวเองอีกครั้งว่า เราคือใคร ขายอะไร ลูกค้าคือใคร และเลือกไปเฉพาะงานที่มีคาแร็กเตอร์ใกล้ตัวเรามากที่สุด เมื่อไปในที่ที่ถูก สินค้าเราก็จะขายได้


     เท่านั้นยังไม่พอ การออกบู๊ธในงานที่ใช่ ยังมีโอกาสต่อยอดในหลายๆ ด้าน มีโอกาสรู้จักเพื่อนพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายสินค้าในประเภทเดียวกับเรา เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแนะนำโอกาสทางการขายในช่องทางอื่นๆ การวิจารณ์สินค้าของกันและกันนำไปสู่การปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น เมื่อเราได้เจอกันในงานต่างๆ มากขึ้นแล้ว จากคนรู้จักกันตามงาน มาเป็นเพื่อน พี่ น้อง เกิดเป็นมิตรภาพที่พร้อมจะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กันได้ ช่องทางการจัดจำหน่ายอีกส่วนที่สำคัญคือ การนำสินค้าฝากขาย ณ ร้านค้าที่มีศักยภาพที่จะปล่อยสินค้าได้ ยิ่งมีร้านที่ใช่ฝากขายมากเท่าไหร่ เราก็จะเหนื่อยน้อยลงเท่านั้น


     แน่นอนว่าเมื่อเรากำหนดเป้าหมาย มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดีแล้ว ทั้งหมดสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีเมื่อมี การจัดการที่ดี ในระหว่างทาง โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานประจำ เราเลือกที่จะพายเรือไปพร้อมกันทั้ง 2 ลำ อาจจะเป็นเพราะขอบข่ายที่ทำไม่ได้วางกรอบกว้างมากเกินไป ด้วยความที่ทำทุกอย่างเพียงคนเดียว การก้าวเดินของธุรกิจจึงเลือกเดินไปแบบช้าๆ ตามปัจจัยที่เราพอทำได้ไม่เบียดเบียนชีวิตให้รู้สึกกดดันมากนัก การมีงานประจำที่ดี มีสวัสดิการที่ดี มีความสนุกที่ได้ทำงาน เล็งเห็นศักยภาพที่เราจะพัฒนาไปได้ ก็ยังไม่จำเป็นที่จะละทิ้งสิ่งนั้น แต่ควรบริหารให้ได้ดี การแบ่งเวลาในช่วงพักกลางวัน หรือหลังเลิกงาน ในการคุยติดต่อ ประสานงาน กับ Supplier ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้าๆ อาๆ ที่บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ ที่คอยย้อมผ้าให้ คุยกับโรงงานที่ตัดเย็บกระเป๋า หรือการใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ ไปกับการออกบู๊ธ ไปกับการเลือกซื้อของที่สำเพ็ง อาจจะเบียดความเป็นส่วนตัวไปบ้าง และบางครั้งอาจจะเหนื่อย แต่ในทุกครั้งขอให้นึกถึงเป้าหมายในสิ่งที่ตั้งใจทำในครั้งแรก ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราไปต่อได้
               



     สิ่งที่ทำให้ by Tila ก้าวอย่างช้าๆ มาถึง ณ วันนี้ได้นั้น คงต้องขอบคุณตัวเองที่เราได้ให้คุณค่ากับความตั้งใจ และพยายามมาได้ เราอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายที่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้แม้จะถูกปฏิเสธ ทุกสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และพร้อมดับไปได้ ครั้งหนึ่งเราเคยภูมิใจนักหนาที่สินค้าเราได้เข้าไปขายในห้างชื่อดัง แต่ ณ วันหนึ่งก็ถูกให้นำสินค้าทั้งหมดออก หรือแม้แต่การออกบู๊ธที่ขายไม่ได้ หรือปัญหาระหว่างทางการผลิต ทุกสิ่งต้องมีการตั้งตัวพร้อมรับในทุกสถานการณ์เสมอ 
               

     ...ถ้าวันนี้คุณ​คิดแล้วทำเลย แสดงว่าคุณมีใจแล้ว ขอเพียงมีการวางแผนมีกรอบในการทำงาน มีการจัดการที่ดี เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ก้าวไปอย่างช้าๆ และมั่นคง ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังจะคิดเริ่มต้นทำกิจการเป็นของตัวเองทุกคน
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย