ร้อนแรงสุด! 'คาเฟ่วีแกน' เปลี่ยนร้านอาหารไร้เนื้อสัตว์ รับตลาดคนไม่บริโภคเนื้อ

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : Veganerie Concept 





Main Idea
 
  • ในยุคหนึ่งที่ความนิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ หรือแม้แต่อาหารวีแกนของคนไทย ยังคงจำหน่ายอยู่ในรูปแบบร้านอาหารธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตกแต่งร้านให้สวยงาม น่าเข้า น่านั่งสักเท่าไหร่นัก  
 
  • จากการมองเห็นโอกาสช่องว่างดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความต้องการส่วนตัว จึงทำให้ ณปภัสสร ต่อเทียนชัย เจ้าของร้าน Veganerie Concept ได้เลือกที่จะนำเสนอร้านอาหารไร้เนื้อสัตว์หรือวีแกนในมุมมองใหม่ในรูปแบบของคาเฟ่สุดชิก
 
  • ที่นอกจากจะเสิร์ฟอาหารสุขภาพดีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดแต่งพื้นที่ให้สวยงาม ไว้นั่งเล่น นั่งคุยได้ไม่ต่างจากคาเฟ่ทั่วไป กลายเป็นแหล่งชุมชนคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์หรือร้านอาหารอีกแห่งที่น่าเข้าที่สุดก็ว่าได้ในเวลานี้



     วันนี้กระแสวีแกนกำลังร้อนแรงไปทั่วโลก ในไทยเองก็ไม่แพ้กัน ทว่าหากย้อนไปเมื่อ 5–6 ปีก่อน วันนั้นกระแสอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารคลีนยังไม่เป็นที่นิยมและหาทานได้ง่ายอย่างทุกวันนี้ แต่มีหนึ่งธุรกิจที่เห็นโอกาสในตลาด พวกเขาคือ Veganerie Concept ผู้สร้างความแตกต่างด้วยการเป็นร้านอาหารวีแกนรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ชูคอนเซปต์ร้านอาหารและคาเฟ่สมัยใหม่เพื่อพลเมืองวีแกนโดยเฉพาะ
 



คาเฟ่วีแกนเจ้าแรกของไทย

 

     “เราไม่ใช่ร้านอาหารวีแกนร้านแรกของเมืองไทย แต่เป็นร้านวีแกนแรกๆ ที่นำเสนอออกมาในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เน้นบรรยากาศดี น่านั่ง ตกแต่งสวยงาม ไม่ต่างจากร้านคาเฟ่ทั่วไป ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีร้านอาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบนี้ออกมาเลย ครอบครัวของเราเป็นวีแกนกันทั้งบ้าน สมัยเรียนเวลาจะไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ อยากแวะร้านวีแกน หรืออาหารเจ-มังสวิรัติชิกๆ นั่งแทบจะไม่มีเลย จึงเกิดความคิดที่อยากทำร้านวีแกนและอาหารสุขภาพในรูปแบบใหม่นี้ขึ้นมา อีกเหตุผลคืออยากเปลี่ยนมุมมองและพิสูจน์ให้คนทั่วไปได้เห็นด้วยว่า อาหารวีแกนก็อร่อยเหมือนกัน แม้จะไม่ใส่นม ใส่ไข่ ฉะนั้นใครก็ตามที่อยากหาร้านนั่งชิลล์ๆ กินอาหารอร่อยๆ ก็สามารถเข้ามาร้านของเราได้ โดยไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นวีแกนเท่านั้น เพื่อเป็นทางเลือกอีกวิถีหนึ่งที่เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ และดีต่อสุขภาพของคุณเองด้วย” ณปภัสสร ต่อเทียนชัย เจ้าของร้าน Veganerie Concept เล่าที่มาของร้านให้เราฟัง
 

     หลังร้านของคนหัวใจวีแกนเปิดตัวขึ้น ก็ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากลูกค้า ณปภัสสร เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเดิมที่ติดตามเธอมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ สมัยที่เธอเริ่มทำเบเกอรี่และอาหารวีแกนขายตามตลาดนัดเพื่อสุขภาพ แต่หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น จนสามารถขยายสาขาเพิ่มเป็นสาขาที่ 2 ตั้งร้านสแตนด์อโลนออกมานอกห้าง ช่วง 2 – 3 เดือนแรก ร้านกลับเงียบๆ เพราะเป็นการขยายตลาดสู่ฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาหารวีแกนมากนัก ทว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงนั้นไปแล้ว อาหารวีแกนก็เริ่มเป็นที่รู้จักและกิจการของ Veganerie Concept ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในร้านแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มที่เป็นวีแกนโดยตรง และกลุ่มคนรักสุขภาพน
 



     “หลังจากเปิดร้านครั้งแรก ผลตอบรับค่อนข้างดีเลย คนเริ่มมองวีแกนในมุมมองใหม่ ซึ่งลูกค้าของเรามีทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเป็นต่างชาติประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ คนไทยอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องยอมรับว่าฝรั่งเขาคุ้นเคยกับการกินวีแกนดีอยู่แล้ว โดยจุดประสงค์ของลูกค้าคนไทยและต่างชาติที่เข้ามาในร้านเรา อาจแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยหากเป็นต่างชาติก็จะเข้ามากินเป็นหลัก เพราะเห็นว่าเราเป็นอาหารวีแกน ส่วนหนึ่งก็มากินเพื่อรักสุขภาพก็มี แต่สำหรับคนไทยอาจเริ่มจากการกินเพื่อรักสุขภาพก่อน ส่วนการไม่เบียดเบียนสัตว์ถือเป็นผลพลอยได้” เธอบอก
 

หัวใจสำคัญร้านอาหาร = สะอาด อร่อย ได้มาตรฐาน
 

     การทำร้านอาหารวีแกนกับร้านอาหารทั่วไป ณปภัสสร อธิบายว่าแทบไม่ได้แตกต่างกันเลย หากไม่นับเรื่องของวัตถุดิบที่ต้องไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ หรือแม้แต่รสชาติอาหารทุกอย่างเหมือนกันหมด คือ ต้องมีคุณภาพ สะอาด อร่อย และได้มาตรฐาน จึงจะสามารถมัดใจผู้บริโภคได้
 



     “ถึงจะเป็นอาหารวีแกน อาหารเพื่อสุขภาพ แต่หัวใจสำคัญ คือ ต้องทำออกมาให้อร่อย คุณภาพดี มีสารอาหารอย่างครบครัน ซึ่งร้านเรามีทุกอย่างทุกเมนูเหมือนร้านอาหารและคาเฟ่ทั่วไป รวมถึงเครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาหารคาวหวาน เพียงแต่ไม่ใช้ส่วนผสมที่มาจากสัตว์เท่านั้น โดยเราอยากเป็น One Stop Service เพื่อชาววีแกนไปเลย ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้เนื้อสัตว์ แต่เราก็สามารถได้สารอาหารบางอย่างจากพืชมาทดแทนได้ เช่น โปรตีนก็ได้มาจากผักโขม ผักใบเขียวต่างๆ รวมถึงถั่วเหลือง เป็นต้น สังเกตจากลูกค้าที่เข้าร้านส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คือมีรูปร่างที่ดีกันเกือบทุกคน” เธอบอก
 

ตลาดวีแกน อนาคตสดใส ครองใจผู้บริโภคหัวใจกรีน
 

     ในยุคที่กระแสอาหารเพื่อสุขภาพมาแรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ปลุกตลาดอาหารวีแกนให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสำหรับโอกาสในเมืองไทยณปภัสสรแสดงความเห็นว่า สามารถไปได้ดีกว่ายุคก่อนมาก ซึ่งปัจจุบันไทยเองก็มีร้านอาหารวีแกนรูปแบบทันสมัยเกิดขึ้นมากเช่นเดียวกัน
 



     “มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับวีแกนยังไปได้ดี เพราะเป็นเรื่องเชิงบวกและสร้างสรรค์ ซึ่งผู้คนทุกวันนี้ก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกกันมากขึ้น จากการที่เราเป็นคนวีแกนเองและได้คลุกคลีกับการทำธุรกิจตรงนี้ ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่หาอาหารวีแกนกินได้ง่ายรองจากอินเดีย ซึ่งมีการกินมังสวิรัติกันค่อนข้างมาก เพราะเรามีทรัพยากรอยู่มากมาย ผัก ผลไม้หารับประทานได้ง่าย แถมมีความเป็นมิตร ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นวีแกนนิยมเดินทางเข้ามาพักอาศัยอยู่ในเมืองไทยค่อนข้างเยอะมาก บางคนถึงกับย้ายมาอยู่ถาวร ทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เลยก็มี โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ชาววีแกนนิยมไปกันมาก ได้แก่ เชียงใหม่และเกาะพะงัน โดยเฉพาะเชียงใหม่ถือเป็นเบอร์ 1 ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีร้านอาหารวีแกน โรงแรมสำหรับชาววีแกนเกิดขึ้นมากมาย แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับวีแกนในบ้านเรา”
 

     ณปภัสสรได้ให้คำแนะนำทิ้งท้าย สำหรับคนที่สนใจอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับวีแกนว่า
 

     “อยากให้ลองศึกษาเยอะๆ อาจเริ่มจากการกินวีแกนด้วยตัวเองก็ดี เพื่อให้รู้มุมมองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ถึงขั้นว่าต้องเป็นวีแกนถาวรก็ได้ แต่เป็นได้ก็ดี เพราะเราทำด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชาววีแกนมักเริ่มจากการไม่กินอาหารที่มีส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์ก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับขึ้นมาเป็นไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ หรือมีการนำสัตว์ไปทรมานหรือทดลอง ไปจนถึงการรักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อมตามมา เพื่อลดการเบียดเบียนสัตว์ เบียดเบียนโลกไปโดยอัตโนมัติ”
 



     ปัจจุบันร้าน Veganerie Concept ขยายไปถึง 5 สาขา เพื่อบริการชาววีแกนนิสตาร์ได้อย่างทั่วถึง โดยใช้หัวใจของคนวีแกนตัวจริง สร้างสรรค์ธุรกิจที่คนวีแกนยุคใหม่ต่างกดไลค์
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย