Main Idea
- SME ไทย ถือเป็นกำลังสำคัญและเป็นรากฐานของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่จะร่วมขับเคลื่อนไทยให้ไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้อย่างแข็งแกร่ง สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SME ไทยในทุกมิติ
- โดยส่งเสริม SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับมาตรฐานสำหรับธุรกิจใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government
- กระบวนการในการคิดค้นและพัฒนาสินค้านวัตกรรมต้องใช้เวลาและความอดทน SME ต้องไม่จำกัดตัวเองแค่การแข่งขันกันภายในประเทศ แต่ต้องมองให้ไกลในระดับโลก ต้องช่วยกันผลักดันสินค้า Made In Thailand ให้ก้าวไกลสู่เวทีโลกให้ได้
“SME ไทยคือกำลังสำคัญและเป็นรากฐานของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้”
คำกล่าวของ ธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างมอบปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ
“การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยนวัตกรรมสำหรับ SME” ณ งานมอบรางวัล SME Thailand Inno Awards 2019 ซึ่งจัดโดย นิตยสาร SME Thailand ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ที่ผ่านมา
เขาบอกว่า ผู้ประกอบการ SME ไทย คือกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ผ่านนโยบาย 5 ด้าน เพื่อสนับสนุน SME ซึ่งประกอบด้วย
1. นโยบายที่จะส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้นใหม่ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมในอนาคต หรือที่เรียก S-Curve เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้นวัตกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ตรงกับ SME ที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve ในอนาคต
2. ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME และ Startup ให้เติบโตและเข้มแข็ง ด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมุ่งพัฒนารอบด้านทั้งส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างต้นแบบ SME ที่ประสบความสำเร็จ สร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงความเข้มแข็งของ SME ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างความพร้อมเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดย ธีระยุทธ ได้เปิดเผยถึงมาตรฐานใหม่ที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำขึ้นเพื่อผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน โดยใช้ชื่อว่า “มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอส” เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้กับสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้ประกอบการ SME และผู้ที่เริ่มธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรฐานระดับประเทศหรือระดับโลก แต่สูงกว่ามาตรฐานระดับท้องถิ่น อย่าง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อยกระดับมาตรฐานของ SME และ Startup ไทยให้เติบโตและเข้มแข็งขึ้น
3. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ที่ชัดเจนคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพ เป็นต้น
4. ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาอุตสาหกรรมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เป็นกลไกเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนรูปแบบใหม่
และ 5. ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น การยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ รวมถึงการเชื่อมข้อมูลโครงข่ายด้านต่างๆ ของกระทรวง ซึ่งการปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้ รองรับอุตสาหกรรม 4.0
“เชื่อว่าทั้ง 5 ด้านนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของเราให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้สนใจและตระหนักในเรื่องของนวัตกรรมให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ SME นั้น กระบวนการในการคิดค้นและพัฒนาต้องใช้เวลาและความอดทน จงอย่าจำกัดตัวเองแค่การแข่งขันกันภายในประเทศ แต่ต้องมองให้ไกลในระดับโลก ยิ่งไปกว่านั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมใจในการทำงาน เพื่อช่วยกันพัฒนาผลักดันสินค้า ภายใต้เครื่องหมายการค้าของเราคือ Made In Thailand ซึ่งหลายประเทศให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง นวัตกรรมของเราออกสู่เวทีโลกได้ เรามั่นใจในคุณภาพของสินค้าและบริการจากฝีมือผู้ประกอบการคนไทย ว่าเราไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอแค่พวกเราร่วมมือกัน” เขากล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี