Food & Beverage Game Changer พลิกเกมธุรกิจสู่การเป็นผู้นำตลาด




Main Idea
 
 
  • การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันทั้งในแง่มุมของพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยี และดิจิทัล ทำให้การทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่งในการพลิกสถานการณ์ทางธุรกิจอย่าง Game Changer ในอุตสาหกรรมนี้
 
  • สิ่งที่จะทำให้ SME เป็นผู้พลิกเกม สามารถไปถึงเป้าหมายธุรกิจที่ตั้งไว้ คือต้องรู้เทรนด์ ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และข้อมูลให้เป็น




     ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มคือไอเดียแรกๆ เมื่อคิดอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง นั่นทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันทั้งในแง่มุมของพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยี และดิจิทัล ทำให้การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปและกลายเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่งว่าจะพลิกสู่การเป็น Game Changer ในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร


     ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักในความสำคัญของการสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ในโครงการ SCB Intelligent Entrepreneur Program – IEP: รุ่นที่ 16  (Food & Beverage Game Changer) ขึ้น เพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์และศักยภาพการทำธุรกิจ ด้วยการใช้เครื่องมือธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจที่สามารถนำมาปรับใช้การบริหารกิจการและสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น





     พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
มองว่า ธนาคารถือเป็นสถาบันการเงินที่มีส่วนสำคัญยิ่งในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่จะเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจ (Purpose) ของ SME ให้ได้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์ ABCD ซึ่ง A คือ Academy เป็นโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการ, B คือ Banking Service จัดหาบริการที่จะเป็นอาวุธในการทำธุรกิจ, C คือ Connection การแบ่งปันประสบการณ์ การทำอะไรร่วมกัน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และ D คือ Digital จัดหาเครื่องมือดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ


     “การลงลึกจะได้ประโยชน์มากกว่า ในครั้งนี้เราจึงจัดอบรมเพื่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ปัจจัย 4 ก็ยังมีความสำคัญมาก อาหารและเครื่องดื่มคนก็ยังต้องบริโภค ถ้าผู้ประกอบการสามารถหาช่องว่างให้เจอก็ยังสามารถนำพาธุรกิจไปได้เสมอ”
 




ขมวด 4 เทรนด์หลักในตลาด Food & Beverage
               

     ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงต้องรู้ทันเทรนด์โลกจึงจะสามารถ ผลิตอาหารรูปแบบใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่ง โชติกา ชุ่มมี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เผย 4 เทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการนับตั้งแต่นี้ไป
               

     เทรนด์แรก คือ Healthy choice เมื่อผู้บริโภคดูแลตัวเองมากขึ้น ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และรับประทานคลีนฟู้ด แม้จะเป็นเทรนด์ที่มีมาหลายปีแล้ว แต่จะยังเป็นเมกะเทรนด์ที่ยังคงอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าตลาดในปี 2017 คือ 4 ล้านล้านบาท โดยที่ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าออแกนิก
 

     เทรนด์ที่ 2 คือ Elderly Choice เทรนด์ความต้องการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ในปี 2560 ผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุมีถึง 1 พันล้านคน และคาดการณ์ว่าปี 2643 จะมีผู้สูงอายุถึง 3 พันล้านคน แปลว่าในช่วงนั้นคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก จากการที่ผู้คนดูแลตัวเองดีขึ้น เลือกรับประทานอาหารดีขึ้น และวิทยาการทางการแพทย์ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2563 มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้กำลังโต เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีเวลาไปใช้จ่ายและรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือเป็นกลุ่มที่มีความจงรักภักดีกับแบรนด์สินค้าค่อนข้างมาก


     สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากจะทำอาหารให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ เขาทานอาหารต่อมื้อน้อยลง ฉะนั้นขนาดหรือจำนวนอาหารที่จะเสิร์ฟก็จะต้องน้อยลงและอ่อนนุ่มมากขึ้น





     เทรนด์ที่ 3 คือ Convenient Food ซึ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนเทรนด์นี้ คือ สังคมเมือง คนมีเวลาน้อยลง เร่งรีบมากขึ้น รวมถึงโมเดิร์นเทรดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นช่องทางที่เพิ่มยอดขายได้ดี และปัจจัยของขนาดครอบครัวที่เล็กลง เป็นตัวขับเคลื่อนเทรนด์นี้ จะเห็นว่าปัจจุบันมี Meal Kit Delivery จัดส่งวัตถุดิบอาหารพร้อมปรุง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในต่างประเทศ
 

    เทรนด์ที่ 4 คือ อาหารฮาลาล จะเห็นว่าตลาดชาวมุสลิมในโลกกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขามีภรรยาได้ 4 คน และห้ามคุมกำเนิด ผู้หญิงมุสลิม 1 คนมีลูกเฉลี่ย 3 คน ในขณะที่คนไทยนิยมมีลูกน้อยลง ทำให้ตลาดนี้น่าสนใจ ซึ่งหากเราจะได้ใบรับรองมาตรฐานฮาลาลมานอกจากจะมีการเลี้ยง การเชือด การปรุงตามหลักศาสนาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการจัดเก็บ การขนส่งก็ต้องฮาลาลด้วย แปลว่าถ้าหากเอาสินค้าฮาลาลไปใส่ตู้เดียวกับสินค้าที่ไม่ใช่ฮาลาลจะขายไม่ได้ทันที
 




ยกระดับธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
               

     เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ผลักดันให้ผู้ประกอบการจะต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่นนั้นแล้วธุรกิจจึงต้องการนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา การสร้างสรรค์การตลาดในมิติใหม่ๆ หรือกระบวนการทำงานก็ตาม ซึ่งการเริ่มต้นทำนวัตกรรมด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยากเพราะบางครั้งต้องใช้ศาสตร์ขั้นสูง
               

     อรวรรณ แก้วประกายแสงกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันอาหาร แนะเหล่าผู้ประกอบการว่าไม่จำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาเอง แต่สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการหรือศูนย์วิจัยที่มีอยู่ทั่วประเทศได้
               

     “ทุกวันนี้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องการผลิตสินค้า วันหนึ่งมีไอเดีย 10 ผลิตภัณฑ์แต่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือเปล่า ไม่รู้จะขายใครหรือขายได้จริงไหม ต้องทดลองตลาดก่อน การทำเพื่อทดลองตลาดไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรเอง แต่สามารถหาคนช่วยผลิตได้ อย่างมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยของ สวทช. ที่พร้อมทำต้นแบบให้นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เมื่อลองจ้างคนอื่นผลิต 2-3 รอบแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าสามารถลงทุนทำเองได้ต่อไป”
               

     ด้าน พีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองว่า ผู้ประกอบการต้องดูเทรนด์เป็นสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคยุคนี้ต้องการของสดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาทิ High Pressure Process จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องทราบก่อนว่าตลาดที่ตัวเองสนใจคืออะไรก่อนจะเข้ามาหาหน่วยงานวิจัยและพัฒนา
               

     “ผู้ประกอบการอาจจะมีวัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากการผลิต อาจจะเอามาต่อยอด แปรรูป เพิ่มมูลค่า เป็นหลักการง่ายๆ ที่ไม่ได้มีความยุ่งยาก หรืออยากพัฒนาเชิงนวัตกรรมก็มีหลายกระบวนการจากการดีไซน์ หรือการปรับปรุงกระบวนการ ก็เป็นการสร้างนวัตกรรมง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือการลงทุนมากๆ น่าจะตอบโจทย์กับผู้ประกอบการ”


     สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการต้องหาตลาดของตัวเองให้เจอ เพราะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยังมีช่องว่างสำหรับการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เข้าไปเติมเต็มได้อีกมากทีเดียว
 




นักธุรกิจตัวจริงพลิกตลาด


     ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย มีผู้ประกอบการที่พลิกเกมขึ้นมาเป็นแบรนด์แถวหน้าได้สำเร็จ อย่าง แบรนด์ Diamond Grains หรือ โจนส์สลัด ที่นอกจากจะขึ้นเวทีสัมมนาในครั้งนี้แล้ว จะยังเป็นวิทยากรที่ร่วมแชร์ประสบการณ์และวิธีการทำธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมอบรม Food & Beverage Game Changer ด้วย


     ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Diamond Grains ที่เริ่มต้นธุรกิจบนโลกออนไลน์สู่การเข้าโมเดิร์นเทรดในปัจจุบัน ได้เผยถึงกลยุทธ์ธุรกิจว่า “โลกใบนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน อำนาจของผู้ประกอบการลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นอำนาจของลูกค้า เราจึงตั้งใจทำให้ Diamond Grains เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้อยู่บนจุดสูงสุดของพีระมิด แต่อยู่ล่างสุดของพีระมิด โดยมีลูกค้าอยู่ข้างบน ถ้าเขาอยากได้อะไร เราจะทำให้”


     ด้าน อาริยะ คำภิโล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์สลัด จำกัด ผู้สร้างร้านสลัดธรรมดาให้โด่งดังบนโลกออนไลน์ ด้วยแนวคิดดีๆ จากความเชื่อที่ว่าธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่ได้ช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น เขาจึงเริ่มสร้างคาแรกเตอร์การ์ตูนลุงโจนส์มาบอกเล่าวิธีการดูแลสุขภาพ เป็นการสร้างจุดยืนและภาพจำให้กับแบรนด์ไปพร้อมกัน จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในใจเหล่าคนรักสุขภาพได้ในปัจจุบัน





     สิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นก็คือการรีวิวบนโลกออนไลน์ ซึ่ง รุจิภาส ฝันเซียน Community Manager ของ Starvingtime แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารที่นับได้ว่าเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศได้แชร์ภาพรวมของอุตสาหกรรมให้ฟังว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้คน มีฟู้ดเดลิเวอรี่ มีบริการหลายๆ อย่างที่เข้ามาเติมเต็มอุตสาหกรรม ดังนั้น ดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมถึงการเอาฟีดแบคที่ได้จากโลกดิจิทัลมาพัฒนาการสื่อสารเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ”


     ในขณะที่ นภนีรา รักษาสุข ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยินดีดีไซน์ จำกัด มาให้คำแนะนำเรื่องการสร้างแบรนด์ “ผู้ประกอบการมักมีคำถามว่าหากมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งจะสร้างแบรนด์หรือเน้นออนไลน์ ซึ่งเราจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะว่าออนไลน์คือช่องทางที่จะบอกว่าเราเป็นใคร ส่วนการทำแบรนด์ดิ้งคือการสร้างความชัดเจนว่าเราคือใคร ซึ่งตอนนี้หลายคนคงจะเห็นว่าแบรนด์ที่ไม่ใหญ่นักสามารถเกิดได้ เพราะเรามีเครื่องมือเดียวกัน อ่านสถิติเหมือนกัน ทั้งยังสามารถทำอะไรได้เร็วกว่าแบรนด์ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสของแบรนด์เล็ก”

 



ข้อมูลคือสินทรัพย์
               

     ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เหมือนที่ 2 เมนทอร์ของโครงการ SCB IEP อย่าง กุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจนัล ฟาร์ม จำกัด และ มิตรดนัย สถาวรมณี ผู้ร่วมก่อตั้ง CORO Field แหล่งท่องเที่ยว Lifestyle Farming ที่ราชบุรีได้เก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์และปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ


     กุลวัชร มองว่า สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดก็คือข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 2 มุมมอง คือ ข้อมูลของลูกค้า ที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และข้อมูลสำหรับการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ


     “เคยคำนวณกันไหมว่าที่นั่งลูกค้า 1 คนใช้พื้นที่กี่ตารางเมตร เราต้องดูว่าตัวเลขต่างๆ เรามีการกำหนดตัวเลขเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการวัดผลการทำงานของเราหรือเปล่า หรือใช้ข้อมูลที่มีมาหาจุดแข็งของธุรกิจให้เจอ เช่น ดูว่าลูกค้าสั่งเมนูประเภทไหนบ้าง แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าจะสั่งของเข้ามาหน้าร้านเท่าไร เพื่อให้ของไม่เหลือเยอะเกินไป ว่าจะสั่งของเข้ามาหน้าร้านเท่าไร เพื่อให้ของไม่เหลือเยอะเกินไป”





     ในขณะที่มิตรดนัย เก็บข้อมูลว่าลูกค้าใช้เวลาอยู่ที่พื้นที่ใดของฟาร์มมากที่สุด จำนวนบิลจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาทั้งหมดมีเท่าไร ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกคุณภาพของกิจกรรมภายในฟาร์มที่ทำให้ผู้คนอยากเดินทางมาเที่ยว หรือมากินอาหารที่ CORO Field นำไปสู่การออกแบบประสบการณ์ให้คนใช้เวลาอยู่ที่ฟาร์มมากที่สุดและมีคุณภาพมากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วจำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมส่งผลโดยตรงกับยอดขายร้านอาหารและผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม


     จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหลายประการด้วยกันที่จะทำให้เติบโตไปได้ไกลยิ่งขึ้น และนี่เป็นเพียงความรู้เรียกน้ำย่อยที่ในโครงการ Intelligent Entrepreneur Program – IEP: รุ่นที่ 16  (Food & Beverage) จะเจาะลึกให้กับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่ควรพลาด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมลงทะเบียนได้ที่: https://scbsme.scb.co.th/seminar-detail/196
 


   
          
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

#SCBSME #เพื่อSMEเป็นที่1#SCBIEP16 #FoodandBeverage #GameChanger #innovation #transformation #BusinessEnergizing


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย