อยากรอดต้องอ่าน! 5 ความท้าทายของ SME ไทย และ 5 สิ่งต้องทำเพื่อก้าวนำโลก

TEXT :  สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์    PHOTO : ปกรณ์ พลชัย


 
 
Main Idea 
 
  • ปัจจุบันทุกสิ่งรอบตัวล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันทันใด จนทำให้ผู้ประกอบการ SME รู้สึกไม่มั่นคงกับอนาคตของตนเอง การหาหนทางเพื่ออยู่รอดคือสุดยอดปรารถนาของทุกธุรกิจ 
 
  • สิ่งสำคัญที่ SME ต้องทำให้ได้ คือ เรียนรู้ที่จะจับปลาเอง ถ้ามัวแต่รอคนอื่นจับปลามาให้ ชีวิตนี้ก็จะไม่มีวันได้เรียนรู้ ยุคนี้ SME ยิ่งมีความรู้มากเท่าไร ความรู้กว้างเท่าไร จะยิ่งเป็นแรงส่งให้ธุรกิจก้าวกระโดดไปได้ไกลเท่านั้น


 
     โลกทุกวันนี้ส่งมอบความท้าทายให้กับ SME ไทยอย่างต่อเนื่อง การหาหนทางเพื่ออยู่รอดคือโจทย์ใหญ่ มาฟัง อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน แนะสิ่งที่ SME ต้องทำเพื่อก้าวนำโลก หากคิดจะโลดแล่นอยู่บนคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่องในวันนี้ 
จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!  


 
  • 5 ความท้าทายที่ SME ไทยต้องเผชิญ

     อริญญาบอกว่า ปัจจุบันทุกสิ่งรอบตัวล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันทันใด จนทำให้ SME รู้สึกไม่มั่นคงกับอนาคตของธุรกิจ ซึ่ง 5 เรื่องหลักนี้ถือเป็นความท้าทายที่ SME กำลังเผชิญอยู่ ได้แก่  

1. ไม่มีความแน่นอนในธุรกิจที่ทำ ในอดีตผู้ประกอบการอาจคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่วันนี้กลับไม่รู้เลยว่าอะไรจะมาในอนาคต เช่น วันดีคืนดีก็มีโมเดลธุรกิจแบบ Airbnb กระโดดเข้ามาแข่งขันกับโรงแรมขนาดเล็ก ความไม่แน่นอนทำให้ SME ไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้ชัดเจนมากเท่ากับสมัยก่อน 

2. ไม่รู้เมื่อไรกฎระเบียบจะเปลี่ยนไป ความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบใหม่ในแต่ละธุรกิจ อาจทำให้ SME มีเวลาเตรียมตัวน้อยลง เช่น เดิมทีสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับธุรกิจใหม่อย่าง Uber แต่ไม่นานแท็กซี่สายพันธุ์ใหม่ก็ดำเนินธุรกิจได้ฉลุย  

3. ไม่รู้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรออกมาอีก แล้วเทคโนโลยีนั้นจะเข้ามาเอื้อ หรือเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือเลวร้ายสุด คนจะตกงานเพราะเทคโนโลยีหรือไม่ อย่างในอนาคตก็เชื่อกันว่าไม่มีทางที่มนุษย์จะวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีเท่ากับ AI 

4. ไม่รู้จะจัดการกับข้อมูลที่มีอย่างไร สมัยก่อนประสบการณ์อาจสำคัญในการทำธุรกิจ แต่ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล (Data) ได้จากหลากหลายช่องทาง อย่าได้ประหลาดใจหากผู้ประกอบการหน้าใหม่จะมีความรู้เท่ากับหรือมากกว่า SME ที่เจนสนามมานานนับสิบปี หากใช้ประโยชน์จากข้อมูลไม่เป็นก็อาจถึงคราวอวสานของ SME ที่ไม่คิดจะปรับตัวก็ได้   

5. ไม่รู้จะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองเวลาไหน คิดนานมากไปก็อาจถูกโลกเปลี่ยนเอาได้ 


     “5 เรื่องหลักนี้เป็นความท้าทายใหญ่หลวง และส่งผลกระทบต่อ SME อย่างมาก วันนี้เรารู้อยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องเปลี่ยน แต่ว่า Speed ในการปรับเปลี่ยนของแต่ละธุรกิจนั้นไม่เท่ากัน บางธุรกิจอาจมีไทม์ไลน์ของมัน สำหรับเราที่อยู่ในธุรกิจการศึกษา (Education) เรามองว่าเราต้องนำโลก ก่อนที่โลกจะนำเรา เราไม่เชื่อว่ามันจะอยู่แบบเดิมได้อีกนาน” อริญญาบอก


     แล้วจะรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปแบบฉับพลันนี้อย่างไร? อริญญาบอกว่า ไม่ใช่เฉพาะ SME ไทยที่อยากจะรู้คำตอบ SME ทั่วโลกก็เช่นกัน โดยในประเทศที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างสนใจศึกษาหาโซลูชัน (Solution) หรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้ จนได้บทสรุป 5 สิ่งที่ SME ต้องทำ ดังต่อไปนี้ 


 
  • 5 สิ่งต้องทำ เพื่อก้าวนำโลก

1. ทุกคนในองค์กรต้อง Retraining ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าของธุรกิจ อย่าคิดว่ารู้แล้ว หรือเคยทำมาก่อน ลองก้าวออกจากกรอบเดิมๆ มาเข้ารับการอบรมใหม่ จะพบว่าสิ่งที่คิดว่ารู้ชัวร์ๆ นั้นไม่เหมือนเดิม มันอัพเดตไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย

2. เติมทักษะใหม่ด้วย Reskilling เช่น SME ที่ไม่เคยใช้ Data หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลน้อยมาก แต่อยากจะใช้ Data ตัดสินใจในการบริหารงาน และต่อยอดธุรกิจในยุคดิจิทัล ก็ควรหาทาง Reskilling ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องรู้เสีย

3. หาคนเก่ง (Talent) มาเสริมทีม ถ้าเรายังยืนอยู่ ณ จุดเดิม คุยกับคนเดิมๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะได้แนวคิดใหม่ๆ มาเปลี่ยนธุรกิจ SME ต้องเริ่มมองหาคนที่มีศักยภาพ คนที่คิดอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพ เพื่อช่วยกันพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า 

4. ใช้ Technology สร้างความได้เปรียบ ทุกธุรกิจกำลังวิ่งเข้าสู่ยุค Digitization (กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ) และ Automation (การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานต่างๆ แทนมนุษย์) ดังนั้น เลิกคิดไปได้เลยว่า เทคโนโลยีต่างๆ เป็นเรื่องไกลตัว และแพง วันนี้ SME สามารถจับจ่ายความไฮเทคเหล่านี้ มาใช้สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปได้ไว หมดข้ออ้างที่จะคิดและทำธุรกิจแบบเดิมๆ แล้ว 




5. Balance 2 หมวกในเวลาเดียว เงินก็ยังต้องหา ธุรกิจก็ได้เวลาทรานส์ฟอร์ม เจ้าของธุรกิจที่ทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทำมาค้าขาย อีกทั้งไม่ได้มีทีมงานมากพอที่จะมาช่วยซัพพอร์ตจะทำอย่างไร การเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ SME ต้องรู้วิธีที่จะจัดการรายการเปลี่ยนแปลง (Transaction Management) ที่เข้ามาพร้อมกันได้


     “สิ่งสำคัญที่ SME ต้องทำให้ได้ คือ เรียนรู้ที่จะจับปลาเอง ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน เขาก็จะจับปลาเป็น ถ้ามีแต่คนจับปลามาให้ ชีวิตนี้เขาจะไม่มีวันได้เรียนรู้เลย ยิ่งมีความรู้มากเท่าไร ความรู้กว้างเท่าไร จะยิ่งเป็นแรงส่งให้ธุรกิจก้าวกระโดดไปได้ไกลเท่านั้น” 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย