การเดินทางของปลาอินทรีย์ทะเลใต้สู่ปลาเค็มพร้อมกินที่อยากพาอาหารไทยไปตลาดโลก

Text : Yuwadi.s 
Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์ 



 
Main Idea
 
  • จากปลาอินทรีย์ที่เดินทางมาไกลจากท้องทะเลใต้สู่ปลาเค็ม Ready to Eat ฉีกซองพร้อมทานภายใต้แบรนด์ Promptkin by เทพา ที่ถูกใจคนรักปลาเค็มด้วยรสชาติที่อร่อยเฉพาะตัว
 
  • นอกจากปลาเค็ม แบรนด์ Promptkin ยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง โดยภัณฑิลา คือสาวรุ่นใหม่ที่ปลุกปั้นแบรนด์ Promptkin ตั้งเป้าไว้ว่าอยากพาแบรนด์อาหารไทยไปโกอินเตอร์ในระดับโลก



 
     เรือประมงของชาวบ้านออกเดินทางจากโซนสมุทรสาคร มุ่งหน้าสู่ทะเลใต้ ใช้เวลานานกว่า 3 เดือนก็จะได้วัตถุดิบจากท้องทะเลสดใหม่เพื่อส่งตรงมายังร้านค้า ร้านอาหาร ท้องตลาด จากนั้นวัตถุดิบเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเมนูซีฟู้ดที่หลากหลายและหนึ่งในวัตถุดิบจากทะเลใต้ที่โดนใจใครหลายคนก็คือ “ปลาอินทรีย์” ที่ผ่านกระบวนการหมักเกลือแบบสดๆ ตั้งแต่บนเรือประมงจนได้เป็นปลาเค็มแสนอร่อยที่เข้ากันได้ดีกับมื้ออาหาร และนี่คือแบรนด์ปลาเค็มของคนรุ่นใหม่ที่ฉีกซองแล้วกินได้เลย ‘Promptkin by เทพา’ (พร้อมกินบายเทพา) 





     สาวรุ่นใหม่ผู้ทำให้แบรนด์ Promptkin เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนนั่นคือ ‘ภัณฑิลา เทพาคำ’ เธอได้แอบกระซิบเคล็ดลับที่ทำให้ปลาเค็มของเธอแตกต่างจากปลาเค็มทั่วไป คือเป็นเพราะกระบวนการหมักเกลือที่ต้องหมักในทันทีหลังจากจับปลาได้ ปลาเค็มของแบรนด์ Promptkin จึงมีกลิ่นเฉพาะตัวที่หาได้ยากจากปลาเค็มทั่วไป แต่คงหาไม่ยากเท่าไหร่หากคุณเดินเข้าไปใน Villa Market หรือ Foodland ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลาเค็มแบรนด์ Promtkin นั้นวางขายอยู่หรือหากใครไม่สะดวก จะสั่งซื้อทางออนไลน์ก็ได้เช่นกัน 





     ความพิเศษของปลาเค็มไม่ได้มีดีแค่ที่รสชาติอร่อยๆ เท่านั้น แต่ภัณฑิลายังได้ต่อยอดปลาเค็มที่ทานทั้งชิ้นให้กลายเป็นผงโรยข้าวปลาเค็มที่สามารถฉีกซอง โรยบนข้าวสวยร้อนๆ แล้วทานได้เลย เหมาะสำหรับการพกพาไปต่างแดนให้หายคิดถึงอาหารไทย 


     “ตอนแรกเราทำแค่ปลาเค็ม แต่ด้วยความที่เราเป็นคนเดินทางบ่อย พกปลาเค็มไปกินทั้งชิ้นก็ไม่ไหว เลยลองเอาปลาเค็มมายีแล้วทำเป็นปลาเค็มป่น จากนั้นผสมพริกกับผักโรยและก็มีสาหร่ายกับงา ปรากฏว่ามันโรยข้าวแล้วทานได้เลย มีกลิ่นปลาเค็ม ไปต่างประเทศสามารถพกไปได้ เอาไว้พกพา เพราะบางทีเราคิดถึงอาหารไทยไม่ไหวแล้ว ได้อันนี้โรยข้าวก็โอเค เลยทำเป็นสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากปลาเค็มขึ้นมา”





     ความฝันสูงสุดที่ภัณฑิลาตั้งธงเอาไว้ในใจคือการพาแบรนด์อาหารไทยไปเฉิดฉายอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองนอก สิ่งที่เธอทำจึงเริ่มต้นจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ใช้ดีไซน์เข้ามาทำให้แบรนด์อาหารไทยมีเอกลักษณ์ในระดับสากล มีความทันสมัย เป็นไทยในแบบที่ไม่เชยอีกทั้งยังสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมา อย่างเช่น ‘สามเกลอเสมอใจ by เทพา’ ซึ่งเป็นกระเทียม พริกไทย รากผักชีแบบพร้อมทำ สามารถนำไปประกอบอาหารไทยได้อย่างสะดวกสบาย เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำอาหารแต่อยากประหยัดเวลา ไปจนถึงการจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคุณแม่มือใหม่ อยากทำอาหารให้ลูกน้อยทานแบบอร่อยโดยไม่ต้องใส่ผงชูรส 


     “เราเริ่มคิดว่าครัวไทยอย่างครัวคุณยายของเราเองมันมีอะไรบ้างที่ทุกๆ ครัวจะต้องมี ก็พบว่าเมนูไทยๆ เกือบทุกเมนูจะต้องใช้กระเทียม พริกไทย รากผักชี เลยเป็นที่มาของตัวสามเกลอเสมอใจ สามารถใช้ได้กับทุกเมนู ใช้แทนผงชูรสได้เลย โดยตัวนี้จะเหมาะกับคนที่ชอบทำอาหารไทยและรักสุขภาพ เพราะว่ามันธรรมชาติมาก อย่างตัวสามเกลือเสมอใจเราจะทำการตลาดและโฆษณาออกไปเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแม่ลูกอ่อนเลยว่ามันง่ายขนาดไหน ตัวโฆษณาของเราจะเป็นแม่ลูกอ่อน ที่เขาโขลกไม่ได้ แต่เขาจะทำแกงจืดให้ลูกทาน อาหารที่เขาจะทำมันต้องดีต่อสุขภาพด้วยจะใช้ผงชูรสก็ไม่ได้ เราก็สื่อสารออกไปว่าตัวนี้มันง่ายมากเลยนะ”





     นอกจากการสร้าง Content ที่สื่อสารให้ตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ภัณฑิลายังมองเห็นความสำคัญของการทำการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้ควบคู่กันไปอย่างกลมกลืน เพราะในยุคนี้ธุรกิจจะอยู่แค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป 


     “เราเริ่มจากออนไลน์ก่อนออฟไลน์ เพราะออนไลน์เหมือนเป็นสถานที่ทดลองตลาดก่อน เราคุยกับลูกค้าได้หมดเลยว่าชอบไม่ชอบ จากนั้นเราก็ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เรามองว่ากลุ่มลูกค้าออฟไลน์และออนไลน์ต่างกัน อย่างกลุ่มออฟไลน์จะเป็นแม่บ้านมากกว่า เขาอาจจะชอบเดินแล้วจับสินค้าก่อน ส่วนออนไลน์จะเป็นพวกสาวออฟฟิศ กลุ่มแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่จะเดินทางไปเมืองนอก เราเลยจัดเซ็ตสำหรับลูกค้าที่จะไปเมืองนอกเลยคือมีทุกอย่างอยู่ในเซ็ต เป็นต้น บางทีเวลาเราทำ Online Marketing ปรากฏว่ายอดออนไลน์ไม่ขึ้น แต่พอไปเช็คช่องทางออฟไลน์กลับยอดขายขึ้นเพราะคนเห็นจากออนไลน์แล้วไปซื้อที่ห้างแบบนี้ก็มีเหมือนกัน”


     ภัณฑิลาได้ปิดท้ายหัวใจการทำธุรกิจสำหรับเธอไว้ว่าต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ตนเองหลงใหลและลงมือทำด้วยตนเองจริงๆ 


     “เราเป็นแบรนด์เล็กๆ เราเลือกสิ่งที่ไม่มีในตลาด เลือกจากสิ่งที่ชอบและทำทานเองจริงๆ สิ่งที่เราทำคือการรับฟังลูกค้าและปรับปรุงสินค้าไปเรื่อยๆ หากว่ามีความคิดเห็นไหนที่ลูกค้าบอกเยอะๆ ก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้ลูกค้ามองเห็นว่าเรามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น” เธอบอกในตอนท้าย 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย