ปรับลุคบุรีรัมย์ให้อินเตอร์ด้วยแลนด์มาร์กใหม่ ‘สนามฟุตบอลช้างอารีนา’

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์



 
Main Idea
 
  • หากพูดถึงบุรีรัมย์ ดินแดนแห่งอารยธรรมอีสานใต้ ใครๆ ก็มักนึกถึง “ประสาทหินพนมรุ้ง” แต่ตอนนี้มีหมุดหมายใหม่ที่กลายเป็นจุดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ นั่นคือ สนามฟุตบอลช้างอารีนา
  • สนามช้างอารีนา สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดและจัดเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยแถมยังเป็นแหล่งสร้างรายได้โดยใช้โมเดลธุรกิจใกล้เคียงกับบรรดาสนามฟุตบอลระดับโลกดังๆ อีกด้วย  

___________________________________________________________________________________________
 
 
 
     หากพูดถึงบุรีรัมย์ ดินแดนแห่งอารยธรรมอีสานใต้ ใครๆ ก็มักนึกถึง “ประสาทหินพนมรุ้ง” อันเป็นที่ตั้งของวัตถุโบราณล้ำค่าและโด่งดัง “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา บุรีรัมย์ก็มีแลนด์มาร์คหรือหมุดหมายแห่งใหม่เกิดขึ้น เป็นปราสาทยุคปัจจุบันที่อยู่ในรูปสนามฟุตบอลใช้ชื่อว่า “ปราสาทสายฟ้า” (Thunder Castle) หรือเรียกตามชื่อสปอนเซอร์ที่สนับสนุนก็ “สนามช้างอารีน่า” (Chang Arena Stadium) นั่นเอง




     สนามช้างอารีนาตั้งอยู่ในตัวเมืองบุรีรัมย์  สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด มีความจุ 32,600 ที่นั่ง โครงสร้างประกอบด้วยเหล็กและไฟเบอร์ สร้างด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท โดยเป็นเงินสนับสนุนของไอ-โมบายและบางส่วนของนายเนวิน ชิดชอบประธานสโมสร จัดเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีลู่วิ่งคั่นสนามเพื่อให้ได้บรรยากาศใกล้ชิดระหว่างกองเชียร์กับพื้นสนาม เป็นสนามที่ผ่านมาตรฐานสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียและสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน และยังได้บันทึกลงกินเนสส์บุ๊ค (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นสนามฟุตบอลในระดับฟีฟ่าแห่งเดียวในโลก ที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน


     เนื่องจากเป็นสนามฟุตบอลที่สวยงามและได้มาตรฐานระดับโลก สนามช้างอารีนาจึงไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลแมทช์สำคัญๆ เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดผู้คนทั้งใน และจังหวัด ใกล้เคียง รวมถึงแฟนบอลทุกเพศทุกวัยให้มาที่นี่ เพื่อชม และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้โดยใช้โมเดลธุรกิจใกล้เคียงกับบรรดาสนามฟุตบอลระดับโลกดัง ๆ อาทิ สนามเซนต์เจมส์พาร์คของสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สนามกูดิสันพาร์คของสโมสรเอฟเวอร์ตัน หรือสนามแอนฟิลด์ของสโมสรลิเวอร์พูล โมเดลธุรกิจที่ใช้สร้างรายได้ให้สนามมาจากหลายทาง ได้แก่


     ขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 100-600 ขึ้นอยู่กับทำเลและโซนที่นั่ง จากการเปิดเผยของพนักงานที่นำชมสนาม มูลค่าการขายตั๋วต่อรอบนั้นหลายล้านบาทเลยทีเดียว ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นผู้ชมทั่วไป นอกจากนั้น สนามช้างอารีนายังมีบริการจำหน่ายตั๋วแพลตินัมแบบเหมาจ่าย 8,000 บาทต่อปี สามารถเข้าชมการแข่งขันได้ทุกแมทช์ ซึ่งการจัดแข่งขันฟุตบอลที่สนามช้างอารีนามีขึ้นเฉลี่ยปีละ 16 ครั้ง จึงถือว่าคุ้มค้า ลูกค้าที่ซื้อตั๋วแพลตินัม ส่วนใหญ่เป็นองค์กร หรือบริษัทต่างๆ ที่เหมาตั๋วตลอดปีเพื่อเป็นของกำนัลลูกค้า 


     ขายความวีไอพี ที่ชั้น 4 ของสนามช้างอารีนาจะมีห้อง VIP ใช้ชมการแข่งขันแบบส่วนตัวรวม 15 ห้องด้วยกัน  ห้องวีไอพีที่ว่าสามารถรองรับผู้ชมได้ 20-30 คน และในห้องจะมีแว่นเสมือนจริงสามมิติที่จำลองภาพและบรรยากาศในสนามขณะมีการแข่งขันเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ห้องวีไอพีนี้ต้องจองคิวกันข้ามปีเพื่อใช้บริการ และในขณะนี้คิวเต็มไปจนถึง 3 ปีข้างหน้า ความวีไอพีที่ย่อมลงมาคือการจำหน่ายพื้นที่ในโซนสำหรับกองเชียร์ที่เป็นแฟนบอลตัวยง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม GU กับ กลุ่ม Hardcore โซนนี้จะกั้นเป็นคอกไว้ กระจายตามมุมต่างๆ สนาม และที่นั่งของกลุ่ม Hardcore จะมีการสลักชื่อของเจ้าของตั๋วไว้ให้ด้วย  




     ขายทัวร์พาชมสนาม โดยปกติทางสนามจะเปิดให้ชมทุกวันยกเว้นวันที่มีแข่ง มีแบบชมฟรีไม่เสียเงินแต่จะเข้าถึงสนามได้แค่บางส่วน แต่ถ้าใช้บริการ “สเตเดียมทัวร์” ราคา 200 บาท เด็กและผู้สูง 100 บาท จะมีเจ้าหน้าที่นำชมสนามตั้งแต่ชั้น 1-4 ทุกซอกทุกมุมตั้งแต่ห้องวีไอพีจนถึงห้องพักนักกีฬาพร้อมคำอธิบายละเอียดยิบ แต่ก่อนจะเข้าไปชมสนาม นักท่องเที่ยวจะต้องผ่านจุดบริการถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่นำภาพเสมือนในรูปแบบ 3 มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องอีกด้วย โดยมีฉากให้เลือกมากมาย เช่น ฉากถ่ายคู่กับคุณเนวิน ถ่ายกับกองเชียร์ในสนาม ถ่ายฉลองแชมป์ หรือถ่ายกับสนาม เป็นต้น สนนราคาค่าภาพอยู่ที่ใบละ 100 บาท และหลังจากที่ชมสนามเสร็จ พนักงานจะพามาส่งยังทางออกอันเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ หมวก กระเป๋า เสื้อยืด ชุดกีฬา และอื่นๆ ใครต้องการพักดื่มน้ำ ในบริเวณร้านก็มีเคาน์เตอร์จำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มบริการด้วย 


    ขายพื้นที่จัดอีเวนต์ บริเวณชั้น 2 ของสนามเป็นห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยงใหญ่จำนวน 400 ที่ นั่ง และที่ชั้น 3 เป็น ห้องวีไอพี 6 ห้อง และ ห้องจัดเลี้ยง 1 ห้อง ซึ่งก็มีองค์กรและหน่วยงานมาเช่าพื้นที่เพื่อจัดสัมมนาหรือประชุมอยู่บ้าง ส่วนลานด้านหน้าสนาม ก็มีการจัดกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ เช่น มหกรรมสงกรานต์ งานคอนเสิร์ตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมแข่งวิ่งมาราธอน เป็นต้น  




     ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นรูปแบบการบริหารที่ทำให้สนามช้างอารีนาเป็นแหล่งสร้างรายได้มโหฬาร โดยโมเดลทางธุรกิจนั้นเรียกได้ว่าไม่ต่างจากสนามของสโมสรฟุตบอลดังๆ ในต่างประเทศเลย นอกจากเป็นทำเงินเพื่อเลี้ยงตัวเอง สนามช้างอารีนา รวมถึงสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต อันเป็นสนามแข่งรถมาตรฐานสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติที่อยู่ใกล้ๆ กันยังทำให้บุรีรัมย์ขึ้นแท่น Sport city หรือเมืองกีฬามาตรฐานโลก 


     จากที่เป็นแค่เมืองเล็กๆ เป็นทางผ่านไปยังจังหวัดอื่น นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นก็แวะมาเยี่ยมเยือนมาพักมากขึ้น กระตุ้นให้เศรษฐกิจจังหวัดเติบโต ธุรกิจต่างๆ คึกคักอย่างเห็นได้ชัด ลบเลือนการเป็น 1 ในจังหวัดที่ยากจนสุดในประเทศไทยไปเสียสิ้น
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย