ถอดไอเดีย SME ปลายด้ามขวาน ปั้นธุรกิจให้ฉายแสงด้วยนวัตกรรม




Main Idea  
 
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้เมืองปลายด้ามขวานมีอะไรน่าสนใจกว่าที่คิด เพราะผู้ประกอบการ SME ของที่นี่หันมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ  กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างให้เกิดการลงทุน ในเมืองที่ใครๆ เคยหมางเมิน
 
  • ดินแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตผู้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
 
  • จากสินค้าและบริการธรรมดาๆ กลับน่าสนใจขึ้น ด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นวัตกรรมด้านช่องทางการค้า และนวัตกรรมด้านการเกษตร พลิกธุรกิจให้ฉายแสงยิ่งกว่าเก่า




     จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจอยู่นอกสายตาใครหลายคน หลังเหตุการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่วันนี้ผู้ประกอบการในดินแดนแห่งปลายด้ามขวานจะเปลี่ยนภาพความน่ากลัว ให้ฉายแสงขึ้นด้วยธุรกิจนวัตกรรม จากผลงานความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) ที่เข้าไปส่งเสริมนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ด้วยกิจกรรม Southernmost Technology and Innovation Festival งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ที่กระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น




     วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บอกเราว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงโดดเด่นในแง่ของศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เนื่องด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนไลฟ์สไตล์และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
 

     สำหรับประเภทของกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ได้แก่
 

Halal Innovation หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล


     สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชากรในพื้นที่ภาคใต้ และประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและเติบโตสูง โดยในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้ง ธุรกิจอาหาร ธุรกิจด้านการแพทย์ ธุรกิจแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่ง SME ในพื้นที่มีความเชี่ยวชาญและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว แต่ยังขาดเพียงกระบวนการสร้างความแตกต่างและการเติมนวัตกรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น นวัตกรรมเชิงสุขภาพ ระบบบริการใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบและเพิ่มความทันสมัยให้สอดคล้องกับผู้บริโภค เป็นต้น
 



Culture & Tourism Innovation



     เป็นการหยิบเอาความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติ บริการนำเที่ยวชุมชน ระบบจองที่พักและโรงแรม บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบจองตั๋ว ระบบจ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ผู้คนในชุมชน พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วไปได้ทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชายแดนใต้ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว เช่น ยี่เทียนทัวร์ แพลตฟอร์มนำเที่ยวเพื่อลดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนและช่วยให้ชาวจีนเข้าถึงการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายมากขึ้น หรือ Hotel Hub บริการซื้อขายสินค้าในธุรกิจโรงแรมด้วยแอปพลิเคชั่น เป็นต้น
 

Market Place and E-Commerce ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ


     โดยเฉพาะที่ผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการค้าจึงต้องสร้างระบบการค้าออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าหรือบริการท้องถิ่นที่หาไม่ได้ทั่วไป เช่น สินค้าฮาลาล วัตถุดิบท้องถิ่น อาหารแปรรูป ของฝาก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น พร้อมลดปัญหาการตลาด การกระจายสินค้า ต่อเนื่องถึงการสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางจำนวนมากในอนาคต
 



Smart Farming หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ



     ในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ยังมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก การนำแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเข้ามาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม เช่น การกำจัดศัตรูพืช การควบคุมสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ และยังจะช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนช่วยให้ผลผลิตมีราคาที่สูงกว่าฟาร์มทั่วไป
 

                มาดูตัวอย่าง 3 ธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ที่น่าจับตา




     1.ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT ที่เข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการดูแลและเลี้ยงให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT – Internet of Thing) เข้ามาเป็นสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยง มายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรง ซึ่งมีทีมสัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงและด้านอุปกรณ์ช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบสถานการณ์สถานะการำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะคอยเฝ้าระวังเหตุไม่ปกติในระบบโรงเรือนการเลี้ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายต่อเจ้าของกิจการได้เป็นอย่างดี เกิดเป็นระบบการแบ่งปันบุคคลากรที่สามารถรองรับลูกค้าฟาร์มสัตว์เลี้ยงได้เป็นจำนวนมากทำให้ต้นทุนทางด้านบุคคลากรถูกลง เป็นทางเลือกที่ทำให้เจ้าของกิจการมีกำลังความสามารถในการใช้บริการนวัตรกรรมดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจด้านการบริการ ลักษณะเช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย จึงถือเป็นนวัตรกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต และมีโอกาสขยายตัวไปในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน




     2.ร้านเตมเป ปัตตานี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเตมเป อาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยเชื้อรา Rhizopus oligosporus  เป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยผู้บริโภคนิยมนำเตมเปสดไปประกอบเป็นอาหารชนิดต่างๆ  พวกเขาแปรรูปเตมเปให้เป็นขนมอบกรอบ (Tempe snack) โดยอาศัยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน (Extrusion) โดยมีนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้พัฒนากรรมวิธีการแปรรูปดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นยีสในเนื้อถั่วเตมเป และปรับปรุงเนื้อสัมผัสโดยการพัฒนาสูตรส่วนผสมต่างๆ โดยมีเตมเปเป็นส่วนผสมหลัก ปรุงรสชาติให้ถูกปากคนไทย มีการผสมข้าวสังข์หยดเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทำให้ทางร้านฯ สามารถขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วประเทศ และสามารถขยายตลาดไปสู่บุคคลทั่วไปเพิ่มเติมจากผู้รับประทานมังสวิรัติด้วย 
               



     3.หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา ที่ได้ดำเนินกิจการด้านการผลิตเส้นใยสับปะรด โดยการผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บ้างชนิดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเส้นใยให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและมีคุณสมบัติของผ้าทอที่ตรงต่อความต้องการของตลาด จึงพัฒนาเครื่องต่อเกลียว


     เส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.6 และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติ
ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 71.43 ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยสับปะรดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยให้แข่งขันได้กับเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกา สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าแล้วยังสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง
 

ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย