เปิดห้องส่องแบรนด์ ‘Craftroom’ งานย่ามและความชนเผ่าที่คนเมืองเข้าถึงได้

Text : Mata CK.





Main Idea
 
  • เมื่อครีเอทีฟหนุ่มได้เจอกับครูช่างของชนเผ่าปกาเกอะญอ ได้เห็นภูมิปัญญาการทอด้วยกี่เอว เห็นย่ามใหญ่ที่ชาวปกาเกอะญอใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อเกิดเป็นความประทับใจ และแรงบันดาลใจที่อยากต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้คนเมืองเข้าถึงได้
 
  • นี่คือที่มาของ Craftroom แบรนด์งานคราฟท์ที่นำเรื่องราวของภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอ มาส่งต่อถึงคนเมืองผ่านผลิตภัณฑ์คูลๆ อย่างย่ามใหญ่ ย่ามหางยาว ในลวดลาย รูปแบบ และสีสัน ที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ขัดเขิน



     ย่ามใบใหญ่ สะพายเคียงไหล่ในชุดตามสมัยนิยม ดูกลมกลืนมีสไตล์จนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือย่ามรูปทรงออริจินัลที่ชาวปกาเกอะญอใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ใส่ของยามย้ายถิ่นฐาน ใส่พืชผลทางการเกษตร โดยมีเอกลักษณ์สะดุดตา คือการสะพายย่ามซ้าย-ขวา หรือคาดศีรษะ    





     ภาพนี้อาจดูธรรมดาในสายตาของชาวปกาเกอะญอ แต่สำหรับ “จิรวัฒน์ บุญสมบัติ” เจ้าของบริษัทกราฟฟิกดีไซน์ ที่สนใจในงานหัตถกรรม เขาหลงใหลในเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาเหล่านี้ จนเมื่อวันที่ได้มาเจอกับ “สมศรี ปรีชาอุดมการณ์” ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 เมื่อครั้งได้ทำงานกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้เห็นผลงานและฝีไม้ลายมือ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาการทอด้วยกี่เอวของชาวปกาเกอะญอ ได้เห็นรูปแบบของกระเป๋าย่าม เห็นคุณค่าและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้น จึงเกิดความคิดที่อยากจะนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมือง คนรุ่นใหม่ ตลอดจนไปสู่ตลาดสากลได้


     “ลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติเขาให้คุณค่ากับงานฝีมือและภูมิปัญญาของไทยเราอย่างมาก เพียงแต่ว่าในการใช้งานอาจจะต้องมีการปรับปรุง หรือว่าลวดลายบางอย่าง ตลอดจนสีอาจต้องเป็นโทนที่กำลังเป็นที่นิยม นี่คือสิ่งที่เราต้องเอามาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป อีกเรื่องที่เราพยายามสร้างให้เกิดคือการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเราพยายามชักชวนให้ชาวปกาเกอะญอมาใช้สีธรรมชาติ ใช้เส้นฝ้ายที่ปลูกแล้วทอด้วยมือ ปั่นด้วยมือ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ตั้งแต่ต้นน้ำ” จิรวัฒน์ บอกความมุ่งมั่นของเขา หลังตัดสินใจที่จะเข้าสู่โลกของงานหัตถกรรม





     โดยเริ่มจากใช้พลังงานของงานดีไซน์และครีเอทีฟไปสนับสนุนกลุ่มทอผ้าด้วยกี่เอวชาวปกาเกอะญอ ในดอยแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของครูช่างสมศรี ให้ผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์และการใช้งานของคนยุคนี้มากขึ้น มีรูปแบบที่ตลาดต้องการ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า  Craftroom (คราฟท์รูม) ให้ความหมายถึงห้องหรือพื้นที่ของงานหัตกรรมที่มาจากภูมิปัญญานั่นเอง
               




     “ผมเป็นกราฟฟิกดีไซน์ มีความครีเอทีฟเป็นอาชีพ โดยส่วนตัวชอบเรื่องหัตถกรรมไทยอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถต่อยอดหัตถกรรมไทยด้วยนวัตกรรม หรือดีไซน์ใหม่ๆ มีคอนเซ็ปต์ดีไซน์ดีๆ มาผสมกับวิธีการดีๆ แมททีเรียลดีๆ และยังคงรักษาความเป็นไทย ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย มันจะไปช่วยพัฒนางานให้กับชุมชนได้อีกเยอะมาก เพราะเขามีภูมิปัญญาดีๆ มีต้นทุนดีๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดการต่อยอดหรือว่าแนวคิดในเรื่องของดีไซน์คอนเซ็ปต์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบที่ตลาดต้องการ ซึ่งตรงนี้เราสามารถเติมเต็มให้ได้”


     การเติมเต็มที่ว่าไม่ใช่การทำลายล้างแบบเก่า  จิรวัฒน์ บอกเราว่างานของพวกเขาจะเน้นความเรียบง่ายและโชว์สัจจะ (ความเป็นจริง) ของวัสดุ โดยไม่ไปทำอะไรที่บดบัง เพราะเชื่อว่าวัสดุเดิมสวยงามอยู่แล้ว เช่น ลวดลาย ฝ้ายเส้นใหญ่ และการทอด้วยกี่เอวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร หน้าที่ของพวกเขาก็แค่ทำอย่างไรจึงจะโชว์ความโดดเด่นนี้ออกมาให้มากที่สุด จึงเป็นรูปทรงย่ามที่เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ซ่อนอยู่





     “เราพยายามเก็บเขารายละเอียดอย่างเส้นย่ามใหญ่ของเขาเอาไว้ หรือย่ามหางยาวที่ชาวปะกาเกอะญอ จะใช้ในพิธีสำคัญๆ หรืองานที่เป็นสิริมงคล ผ้าม้วนหนึ่งจะมีส่วนที่เป็นเหมือนปลายผ้าออกมา พอจะสร้างความรู้สึกเป็นเหมือนหางได้ เราก็รักษาตรงนี้ไว้ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ ความเชื่อ แนวคิด ศรัทธา หรือที่เขาใช้คำเท่ๆ ว่า จิตวิญญาณ ซึ่งถ้าเปิดใจดูจะเห็นว่ามันมีกลิ่นอายของความเป็นปะกาเกอะญออยู่ มันมีบางอย่างที่กำลังสื่อถึงเขา” จิรวัฒน์ บอก


     โจทย์ต่อมาคือการนำจิตวิญญาณเหล่านี้มาเชื่อมถึงคนรุ่นใหม่ วิถีชีวิตคนเมือง ตลอดจนชาวต่างชาติ จึงดีไซน์สีสันและรูปทรงให้ตอบโจทย์ตลาด ออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยนอกจากกระเป๋าแนวแฟชั่น ยังมีกระเป๋าใส่มือถือ กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าโน้ตบุ๊ก-ไอแพด และอื่นๆ  เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคนี้ให้มากขึ้น


     สินค้าของ Craftroom วางขายอยู่ในร้านของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีออกงานแสดงสินค้าตามแต่โอกาส และเฟซบุ๊ก Craftroom (www.facebook.com/craftroombook) เมื่อถามว่าลูกค้าของพวกเขาคือใคร จิรวัฒน์ ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า เป็นไลฟ์สไตล์หรือแนวคิดของคนมากกว่าช่วงวัย


     “ลูกค้าของพวกผมมองว่ามันเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือแนวคิดมากกว่า ไม่เกี่ยวกับช่วงวัย คือมีความหลากหลายมาก เขาซื้อด้วยแนวคิด ซื้อด้วยสไตล์ที่เขารู้ว่า หนึ่งมันมีคุณค่า ภูมิปัญญานี้น่าสนับสนุน ทุกคนมาด้วยความเคารพและให้คุณค่าในภูมิปัญญา และสอง เขามองว่ามันใช้งานได้ในชีวิตของเขา มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครอง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก มองว่าสินค้าของเราไม่ได้เพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงทางกายภาพ แต่มันตอบด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก  เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการใช้ด้วย” เขาบอก
               




     วันนี้เริ่มที่ปะกาเกอะญอ แต่ในอนาคตพวกเขามุ่งมั่นที่จะเข้าไปช่วยกลุ่มอื่นๆ ซึ่งที่ทำมาแล้วคือ การเข้าไปช่วยพระอาจารย์ท่านหนึ่งต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นไหลของชาวบ้านในจังหวัดศรีสะเกษ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านที่เข้ากับโลกสมัยใหม่อย่างกลมกลืน รวมถึงชุมชนอื่นๆ ในอนาคต
               

     “Craftroom จะเป็นความภูมิใจ ส่วนแรกเลยคือการมีส่วนช่วยชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวปกาเกอะญอ เท่านั้น แต่ในอนาคตเรามองที่จะช่วยหลายๆ กลุ่ม จะพัฒนางานให้กับภูมิปัญญาในทุกที่ที่มีโอกาส เพื่อนำเรื่องราวดีๆ มาสู่วิถีชีวิตของคุณ มาสู่บ้านคุณได้อย่างกลมกลืน นี่เป็นหน้าที่ของเรา” เขาบอกในตอนท้าย
               

     ในการทำธุรกิจรายได้และการเติบโตคือสิ่งที่หลายคนปรารถนา แต่สำหรับชาว Craftroom พวกเขาบอกเราว่าสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ การได้ทำงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และเป็นความจริงที่สัมผัสได้มากกว่าหลายๆ งานที่ผ่านมา


     ซึ่งนั่นคุ้มค่าที่สุดแล้วในเส้นทางธุรกิจหัตถกรรมของพวกเขา  
         

      
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

ทำร้านเบเกอรี่ยังไงให้เนื้อหอม? SmoreBite ชลบุรี แค่ 2 เดือนมีห้างดังรุมจีบ

 แค่ 2 เดือน “เซฟ-ปัณฑา ลอออรรถพงศ์” หนุ่มน้อยวัย 24 ปี ก็พา SmoreBite ร้านเบเกอรี่ในชลบุรี ปังจนห้างดังอย่างพารากอนและเดอะมอลล์ต้องมาจีบ ... เขาทำได้อย่างไร