Main Idea
- สวนสามพราน ใช้วิธีจัดการขยะตามสายพานวัตถุดิบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนสุดปลายน้ำ ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยโลก แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเกิดมูลค่า ลดต้นทุน และได้ผลกำไรจากขยะทุกวัน
- “คน” คือแรงขับเคลื่อนหลักที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การจะทำให้เกิดผลจึงไม่ใช่แค่การบอกให้ทำตาม แต่ต้องตั้งกฎข้อบังคับ กำหนดกติการ่วมกัน และทำความเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่ต้น
- ใครจะคิดว่าแค่การ แจกถุงผ้าและขันน้ำ (โดยมีจุดเติมน้ำไว้บริการ) ให้กับผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงาน ก็สามารถเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดการใช้พลาสติก และช่วยปลูกจิตสำนึกให้กับผู้คนไปพร้อมกันด้วย
___________________________________________________________________________________________
“ทำธุรกิจอย่างรู้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม”
นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย และไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเพียงแค่จะสื่อสารอย่างไรให้พนักงานในองค์กร ไม่นำพลาสติกเข้ามาในที่ทำงาน ก็ว่ายากแล้ว แต่สำหรับ อนัฆ นวราช เจ้าของกิจการร้านปฐมออร์แกนิค ลิฟวิ่ง ร้านอาหารและสินค้าออร์แกนิกของสวนสามพราน จังหวัดนครปฐม บอกแบบตรงไปตรงมาว่า “ใช่! มันไม่ง่าย แต่ ทำได้แน่นอน”
จำนวนพนักงานร่วม 400 คน ของสวนสามพรานที่ครอบคลุมธุรกิจบริการ ตั้งแต่ ร้านอาหาร โรงแรม สปา สถานที่ท่องเที่ยว สวนเกษตร โรงงานแปรรูป ตลาดสุขใจ ต่างพร้อมใจกันลุกมาสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาพนี้ดูสวยงามจนต้องตามหาคำตอบ
“แนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม คือหลักดำเนินงานของสวนสามพราน โดยพี่ชายของผม (อรุษ นวราช) ซึ่งสนใจเรื่องสุขภาพมาก เป็นผู้ริเริ่ม เขาให้ความใส่ใจกับการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเปิดฟาร์มของตนเองขึ้นมา และสนับสนุนเกษตรกรรอบพื้นที่ 150 ราย ให้หันมาปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ โดยเรารับซื้อวัตถุดิบเพื่อป้อนสู่กระบวนการแปรรูปและจำหน่ายในร้านปฐมออร์แกนิค ลิฟวิ่ง ร้านอาหารและสินค้าออร์แกนิกของสวนสามพราน”
จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือกระบวนการที่สวนสามพรานลงมือทำ และสิ่งที่เห็นคือสายพานการเดินทางของวัตถุดิบแต่ละชนิดที่แอบแฝงสิ่งซ่อนไว้ไม่มิด นั่นก็คือ “ขยะ” และนี่แหละความท้าทายที่มิอาจปล่อยหลุดลอยไป
แนวคิด “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งกับธุรกิจ องค์กร สิ่งแวดล้อม และโลก
“เราลดขยะตามเส้นทางของวัตถุดิบก่อน อย่างสมุนไพรนำมาแปรรูปเป็นลูกประคบ เหลือกาก ซึ่งเป็น Good Waste นำไปทำปุ๋ย หรือสีสำหรับย้อมผ้า เช่นเดียวกับ ใบกล้วย เปลือกไม้ ใบไม้ร่วงหล่น นำมาทำสีธรรมชาติ สร้างผลงานศิลปะให้เกิดขึ้น และเราไม่ได้ทำแค่เพียงตัวเรา แต่สอนให้ผู้สนใจที่เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานได้ลงมือทำไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการบอกต่อ ให้เขาเห็นคุณค่าจากสิ่งรอบตัว ที่แม้จะเป็นเพียงขยะในสายตาของเขาก็ตาม” อนัฆ บอก
หรือในบางฤดูกาลมีผลผลิตล้นตลาด อย่างกล้วย ที่ขายผลสดคงไม่ทันสุกงอม ก็จะนำมาแปรรูปเป็น ไวน์กล้วย ผงกล้วย และแป้งกล้วย เป็นการเพิ่มมูลค่าอีกทางหนึ่ง กระทั่งสุดท้ายเหลือเพียงกาก ที่เรียกได้ว่าขยะเต็มตัว ก็ยังสามารถนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการหมักเป็นปุ๋ยและฮอร์โมนคุณภาพดี คืนสู่ต้นน้ำ คือนำไปใช้ในฟาร์มและส่งต่อเกษตรกรผู้ร่วมทาง
ส่วนต่อมาคือ ขยะที่ต้อง ลด ละ และเลิกใช้ โดยยกตัวอย่าง ถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก ที่หลายคนมองว่าเป็นขยะชิ้นเล็กๆ แต่เมื่อนำมารวมกัน กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ทำร้ายโลก ซึ่งวิธีจัดการของสวนสามพราน เริ่มต้นจากคนใน คือ ทำความเข้าใจกับพนักงาน ชี้นำให้เขาเห็นพ้องต้องกันก่อน แต่ด้วยจำนวนพนักงานสูงถึง 400 คน เพียงแค่บอกกันดีๆ คงยากจะรับรู้และทำตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ จึงตามมา
“ใช่ว่าทุกคนจะเต็มใจ หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เรื่องสะอาด หรือน่าทำ อย่าง ต้องมาช้อนไขมัน แยกขยะ ห้ามใช้พลาสติก ใช้กระติกแทนแก้วน้ำ มันดูเหมือนง่ายนะ แต่เริ่มแรกเขามองว่ายุ่งยาก เขาไม่ฟัง และด้วยจำนวนพนักงานเยอะ ฉะนั้นคนที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ระดับหัวหน้างาน หัวหน้าต้องแข็งแรง ต้องดึงคนให้เดินหน้าไปได้ และบางอย่างเราทำแบบหักดิบเลย เช่น ให้เวลา 1 เดือน ต้องหยุดใช้หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก ฝ่ายจัดซื้อต้องเลิกสั่ง แล้วหาวัสดุอื่นมาทดแทน ทีนี้พอลูกค้าถามว่าทำไมไม่ให้หลอด หากพนักงานตอบไปว่าผู้บริหารไม่ให้ใช้ ไม่ได้นะ แสดงว่าเขาไม่เข้าใจเจตนา จึงต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ซึ่งผมมองว่าแค่ชี้ชวน เชิญชวน ไม่ได้ ต้องมีข้อบังคับ มีกฎกติกาเป็นตัวกำหนด”
แม้วันนี้ คำว่า Zero Waste จะยังไปไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การบริหารจัดการที่เอาจริงเอาจัง ก็สามารถสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นมิตรของคนทำธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และที่เห็นอีกด้านชัดเจน คือ ต้นทุนลด ในขณะผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นอีกคำตอบของการทำธุรกิจที่ไม่ใช่เพียงฉายภาพสวยงามว่าได้ช่วยโลก แต่คือความจริงของโลกธุรกิจที่เพียงแค่ลงมือทำก็เห็นผลทันตา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี