ว้าว! รองเท้า KHYA เปลี่ยนตัวปัญหาให้เป็นแฟชั่นรักษ์โลก ปกป้องทะเล

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
  • สหประชาชาติประเมินว่าแต่ละปีมีขยะพลาสติกประมาณ 8 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีสถิติการปล่อยขยะสู่ทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ประมาณ 1.03 ล้านตันต่อปี แน่นอนว่าขยะที่เราทุกคนสร้างกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบไปยังเหล่าสัตว์ทะเลที่ไม่รู้ว่านั่นไม่ใช่อาหารที่สามารถกินได้
 
  • ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถกำจัดได้หมดแต่เราสามารถลดปริมาณได้หากร่วมใจกัน โดยเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกในการลดปริมาณขยะลงได้ อย่างการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโปรเจกต์ Product of Trash กับนันยางที่ร่วมมือกับทะเลจร เปลี่ยนขยะให้เป็นรองเท้า (KHYA)




     จะทำอย่างไร? หากจำนวนขยะมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทร
     จะทำเช่นไร? หากจำนวนขยะมากขึ้นแซงอัตราการเพิ่มของประชากรโลก
     จะเกิดอะไรขึ้น? หากขยะล้นโลกเพียงเพราะเรารู้จักแค่การใช้ แต่ไม่รู้จักวิธีดูแลรักษา




     ปัญหาขยะที่ออกสู่ทะเลนั้นย้อนกลับคืนมายังชายหาดแสนสวยที่อาจจะกลายเป็นแค่เคยสวย แน่นอนว่าขยะเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากการทิ้งของคนที่ไปเที่ยวทะเลเท่านั้น แต่มาจากขยะบนบกที่ใช้แล้วถูกทิ้งลงสู่ทะเลมากกว่าหลายเท่า แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาแก้ไขและกำจัด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งเหล่าอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันเก็บกวาดตามชายหาด แต่ก็ไม่สามารถทำให้ขยะเหล่านั้นหมดไปได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้จักการใช้และดูแลรักษามากกว่าทิ้งเป็นภาระให้กับคนอื่นและสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้กับสัตว์ทะเล




     “ขยะเป็นปัญหาอันดับสองของโลกรองจากปัญหาสภาวะโลกร้อน และขยะในทะเลกำลังเข้าไปสู่วงจรอาหารของเรา ซึ่งผลกระทบมันยังไม่ชัดเจนมากในเรื่องของสุขภาพ แต่ในอนาคตเราจะได้เรียนรู้อีกเยอะว่าขยะจะส่งผลกระทบหนักหนาแค่ไหน” ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งทะเลจร องค์กรไม่แสวงผลกำไรและแบรนด์รองเท้าที่ผลิตจากขยะทะเลเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะลุกลามไปถึงอนาคต


     การกำจัดขยะมีน้อยวิธีเมื่อเทียบกับความหลากหลายของประเภทขยะ ซึ่งบางอย่างสามารถนำกลับไปใช้ใหม่หรือสร้างเป็นสิ่งใหม่ได้ แต่ก็มีขยะบางประเภทที่เราไม่สามารถกำจัดนอกเสียจากรอการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลานานถึงร้อยปี เช่นเดียวกับรองเท้าที่ใครหลายคนมักจะทอดทิ้งคู่เก่าเมื่อมีคอลเลกชันใหม่เข้ามา นอกจากปัญหาพลาสติกแล้ว รองเท้าก็ถูกพบเป็นขยะทะเลจำนวนมาก "นันยาง" ผู้ผลิตรองเท้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมโดยการร่วมมือกับทะเลจร




     จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวถึงเหตุของการสร้างโปรเจคนี้ว่า “เราพบว่าขยะมีจำนวนที่เยอะมากในโลกนี้ และที่สำคัญเราเจอขยะทะเลที่เป็นรองเท้าจำนวนมากโดยเฉพาะรองเท้าแตะ ด้วยความเป็น นันยาง เราจึงเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นโปรเจค KHYA คือการ Upcycled ขยะในทะเลให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ โดยรายได้จากการขายรองเท้าคู่นี้จะนำไปให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


     โดยกระบวนการผลิตรองเท้าจะต้องเก็บขยะรองเท้าปริมาณ 5 กิโลกรัม มาสร้างเป็นรองเท้าใหม่ได้ 1 คู่ เพราะขยะบางประเภทจะต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้นการ Upcycled จึงเป็นทางเลือกที่ทะเลจรได้ทำไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยนันยางได้นำพื้นรองเท้าช้างดาวมาประกอบกับรองเท้าที่ทำจากขยะจนเกิดเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ที่ทนทานและมีลวดลายสวยงามไม่เหมือนใคร




     “เป้าหมายของรองเท้าขยะไม่ใช่เพื่อยอดขาย แต่เราทำเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือข้อความที่จะสื่อสารไปยังทุกคนว่าทำไมนันยางต้องทำรองเท้าขยะ คำว่า KHYA มันอ่านว่าอะไร ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ทำให้เกิดการพูดคุยว่ามันคือขยะ เป็นปัญหาที่ต้องมีคนแก้และเราขอเชิญทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา” จักรพลเล่าถึงเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ทุกคนเล็งเห็นถึงปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน




     การนำขยะมารีไซเคิล ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำ แต่ความจริงแล้วขยะไม่ได้ราคาถูกเลย จักรพลถึงกับเอ่ยขึ้นว่า “ขยะไม่ใช่ราคาถูกๆ นะครับ” ซึ่งการผลิตรองเท้า KHYA จะใช้กระบวนการผลิตมากกว่าช้างดาวถึง 3  เท่า เพราะถึงแม้จะใช้วัตถุดิบที่มาจากรองเท้าอย่างเดียวก็ตาม แต่กว่ารองเท้าจะกลายมาเป็นขยะก็ผ่านอะไรมามากมาย อีกทั้งประเภทของวัตถุดิบรองเท้าเดิมก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโฟม ยางพารา หรืออาจจะเป็นโฟมกับยางพาราผสมกัน ขยะเหล่านี้แทบจะไม่สามารถนำไปทำเป็นอย่างอื่นได้เลย ดังนั้นการสร้างโปรเจคนี้ขึ้นจึงเป็นการส่งต่อเรื่องราวปัญหานี้และอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับทะเลจรมากขึ้น


     การทำธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในด้านการดูแลรักษาหรือแก้ไขปัญหา ถือว่าเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจในปัจจุบัน เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกคนทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะต่างประเทศจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการออกแบบสินค้า หรือใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต แต่ยังเป็นการสร้างเรื่องราว สร้างคุณค่า สร้างข้อความขึ้นมาสื่อสารให้ทุกคนได้ทราบถึงปัญหาและร่วมมือกันดูแลรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป




     โดยโปรเจครองเท้า KHYA จำหน่ายรองเท้าในราคา 399 บาท วางจำหน่ายแบบสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น สามารถสั่งซื้อได้เฉพาะในวันที่ 15-23 สิงหาคม 2562 ผ่านช่องทาง 1. www.KHYA.net 2. LAZADA หรือ SHOPEE 3. ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 สาขาทั่วประเทศ 4. THP Contact Center 1545 ซึ่งรองเท้าจะเปิดจำหน่ายเพียง 9 วันและผลิตตามจำนวนคำสั่งซื้อเท่านั้น ไม่ผลิตเกินและผลิตซ้ำ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย