3 ทศวรรษ THEATRE ยั่งยืนด้วยดีเทลและความเนี้ยบ สู้ศึก Fast Fashion

Text : Mata CK.





Main Idea
 
 
  • ในยุคที่แฟชั่นมาไว ไปไว คนรุ่นใหม่เจนวาย ไม่ได้สนใจรายละเอียด ไม่ต้องการความเนี้ยบ ขอแค่แฟชั่นที่เร็ว ใหม่ ปัง เป็น Fast Fashion เข้าถึงง่าย ซื้อได้สะดวกแค่ปลายนิ้วคลิก แล้วแบรนด์แฟชั่นเก่าแก่ที่ขายความเนี้ยบจะอยู่รอดได้อย่างไร
 
  • สำหรับแบรนด์รุ่นเดอะอย่าง THEATRE ที่อยู่ในสนามมากว่า 30 ปี พวกเขายืนหยัดที่จะขายความเป็นงานคราฟท์ งานประณีต เน้นดีเทลและความเนี้ยบในการทำ เพื่อเป็นแฟชั่นที่อมตะไม่หล่นหายไปจากตลาดแม้ในวันโลกเปลี่ยน





     มีอะไรแตกต่างกันระหว่างธุรกิจแฟชั่นในยุคนี้กับยุคก่อน ลองย้อนกลับไปสัก 30-40 ปี จะพบว่าถนนเส้นนี้ยังมีผู้เล่นอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์ แฟชั่นเป็นเรื่องของสังคมชั้นสูง เน้นขายความประณีต ละเอียดลออ และเข้าถึงคนแค่บางกลุ่ม แบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องสั่งสมชื่อเสียง มีคอนเน็กชันที่ดี ค่อยๆ สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาได้
               

     ต่างจากธุรกิจแฟชั่นในยุคนี้ ที่คนเข้าสู่สนามได้ง่ายขึ้น และไม่จำกัดด้วยว่าจะต้องมีความรู้หรือโตมาทางสายแฟชั่นเท่านั้น วันนี้เราเลยมีแบรนด์มากมายเกิดขึ้นอยู่เต็มออนไลน์ ไม่ต้องลงสื่อแฟชั่นแถวหน้า ไม่ต้องจัดแฟชั่นโชว์อะไรใหญ่โต ก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่เจนวาย ก็ไม่ได้สนใจรายละเอียด ไม่ต้องการความเนี้ยบ ขอแค่แฟชั่นที่เร็ว ใหม่ ปัง เป็น Fast Fashion เข้าถึงง่าย ซื้อได้สะดวกสบายแค่ปลายนิ้วคลิก
               




     นี่คือเรื่องจริงในวันโลกเปลี่ยนที่กำลังส่งความท้าทายก้อนโตให้แบรนด์รุ่นเดอะอย่าง THEATRE (เธียเตอร์) ของ ศิริชัย ทหรานนท์ หรือ “พี่จ๋อม” ของน้องๆ ที่อยู่ในสนามมากว่า 30 ปี ในวันนี้สาขาที่สยามเซ็นเตอร์ซึ่งเหลืออยู่เพียง 1 เดียวของเขามีแบรนด์น้องใหม่มากมายรายล้อม โดยเฉพาะเหล่ามัลติสโตร์ใหม่ๆ กับแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์อีกมหาศาล
                 


     “พี่มองว่าปัจจุบันคนที่ทำเสื้อผ้าจริงๆ ที่เรียก Dressmaker (ช่างตัดเสื้อ) แทบไม่มีเลย เขาแค่ออกแบบแล้วส่งไปให้ช่างทำ แต่อย่างรุ่นพี่นี่เราเป็น Dressmaker คือทำเอง มันจะมาเทียบกันไม่ได้หรอกเพราะว่ามันลึกกว่ามาก รุ่นนี้เขาเป็น Fast Fashion คนฮิตอะไรกันเขาก็ทำโดยไม่ต้องการดีเทลอะไรทั้งนั้น ถามว่าเขารู้ไหมว่ามันต้องเย็บแบบนี้ เส้นต้องเป็นแบบนี้ๆ เขาไม่รู้หรอก แต่เสื้อผ้ามันต้องมีดีเทลไง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เด็กรุ่นนี้จะขาด”


     พี่จ๋อมฉายภาพที่เกิดขึ้น ในฐานะแบรนด์รุ่นพี่ที่อยู่เป็นอมตะมานานกว่า 30 ปี เขาเริ่มธุรกิจนี้ด้วยความรักและสนใจในแฟชั่น นำพาตัวเองไปอยู่ในวงล้อมของสิ่งที่รักด้วยการเริ่มจากเป็นพนักงานขายในร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ด้วยความคิดที่ เงินไม่ใช่ ใจมาก่อน ซึมซับประสบการณ์ ก่อนจะมาเปิดร้านและทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ THEATRE รุ่นพี่บอกเราว่า เติบโตและสร้างแบรนด์ให้ปังได้ตั้งแต่วันแรก ก็เพราะมีคอนเน็กชั่นที่ดีคอยเกื้อหนุน ทั้งพันธมิตรพ่อค้าผ้าตลาดสำเพ็ง ที่ยอมให้เครดิตถึง 3 เดือน ลูกค้าเก่าที่ตามมาอุดหนุน ผู้ใหญ่ใจดีที่ชักชวนมาเปิดร้านแรกตรงตึกชาญอิสสระ เมื่อกว่า 30 ปี ก่อน ตลอดจนเหล่าเพื่อนฝูงในวงการที่ช่วยทำให้แบรนด์ปังตั้งแต่เริ่ม
               





     “เราเริ่มโดยที่เรามีฐาน ไม่ใช่หมายถึงทุนนะ แต่ฐานที่ว่าคือ คอนเน็กชัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อแมกกาซีนแฟชั่นทุกเล่ม ศิริชัยรู้จักหมด เพราะเพื่อนๆ ทำงานอยู่ทั้งนั้นเลย เป็นเด็กยุคเดียวกัน คนนี้ไปเป็นช่างแต่งหน้า นางแบบคนนี้ก็รู้จักกัน ทีนี้พอมาทำธุรกิจทุกอย่างก็เลยง่าย เธอมาเป็นนางแบบให้ฉันหน่อย มาแต่งหน้าให้หน่อยนะ ขอยืมสถานที่คนนี้ เรียกว่าเป็นคอนเน็กชันล้วนๆ พอเราบอกจะเปิดแบรนด์เสื้อผ้า จะมีแฟชั่นโชว์ ทุกคนก็ช่วยกันเต็มที่ ตอนเปิดตัวเราจัดแฟชั่นโชว์มีขายบัตรด้วย 350 บาท ปรากฏคนมากันเพียบเลย ก็ได้พี่ๆ เพื่อนๆ นางแบบมาเดินแฟชั่นโชว์ให้ ซึ่งนับว่าได้รับฟีดแบคที่ดีมาก”
               


     รุ่นพี่ THEATRE ยอมรับว่าเขาไม่เคยซื้อเสื้อผ้าทางออนไลน์เลย เพราะค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้า ประสบการณ์ที่แบรนด์รุ่นเก๋าอย่างเขาจะแนะนำรุ่นน้องได้ คือการสร้างแบรนด์ให้อมตะและอยู่นาน ไม่ใช่มาๆ ไปๆ เหมือนแฟชั่นรุ่นใหม่ในยุคนี้


     “ความเป็นอมตะของแบรนด์ มันเกิดขึ้นได้ต้องสะสม ต้องสร้างขึ้นมาให้เป็นแบรนด์ที่เด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่ต้องเด่นทุกเรื่องก็ได้ แต่เวลาคนจะพูดถึงแบรนด์ต้องมีซิกเนเจอร์บางอย่างที่เขานึกถึงเรา เช่น ต้องมีการเย็บเส้นสีแดงตรงมุมนี้ คนเห็นเส้นสีแดงเมื่อไรก็นึกถึงแบรนด์เราทันที ไม่ใช่แค่โลโก้ที่ติดนะ คิดว่านี่เป็นความแตกต่างระหว่างคนทำเสื้อ กับ Fast Fashion พวกพี่นี่กว่าจะทำ กว่าจะคิดดีเทล ใส่ความละเอียด ความประณีตเข้าไป แต่ทีนี้คนที่เสพเขาอาจไม่มองตรงนั้นไง เหมือนกับมาตรฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างพี่ซื้อเสื้อผ้าค่อนข้างพิถีพิถัน เย็บไม่ดีก็ไม่ซื้อ ผ้าไม่ดีก็ไม่ซื้อละ แต่บางคนแค่สวย ซื้อเลย ถูกดีก็ซื้อ อะไรอย่างนี้


     “การทำแบรนด์ให้มีความอมตะ มันต้องต่อเนื่องด้วย ความที่แฟชั่นมันเร็ว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเพราะฉะนั้นคนที่เสพแฟชั่นก็จะต้องตาม ตามแฟชั่น ตามกระแสแฟชั่น เกาะกระแสเซเลบที่ชอบไปเรื่อยๆ แต่อย่าง THEATRE เราค่อนข้างชัดเจนในความเป็นแบรนด์คลาสซี่ เราจับทางออกว่าอะไรที่เราถนัด จากที่เราบอกว่ามีความหลากหลาย ตอนนี้ก็หลากหลายอยู่แต่เรามุ่งไปในงานคราฟท์ ซึ่งเป็นจุดขายที่เราสตรองมาก โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติเขาจะจ่ายให้กับงานคราฟท์ แต่เสื้อผ้า Fast Fashion ไม่มีงานคราฟท์ เขาไม่ทำงานมือ แต่เรายอมจ่ายค่าแรงแพงๆ เพื่อให้งานมันมีแวลู่ เห็นแล้วน่าซื้อ และคนจะยอมจ่ายให้กับงานแบบนี้ อย่างเราสร้างลวดลายลงไปบนสูท สูทก็คือสูท แต่สูทคนอื่นอาจขาย 5,000 บาท แต่ของเราเพิ่มงานปักเข้าไปเราขาย 12,000 บาท นี่คือความต่าง มันช่วยแยกลูกค้าของเราออกจากลูกค้าร้านอื่นชัดเจน เรียบง่ายไปทางโน้น ชอบอะไรพิเศษๆ มาทางนี้ อย่างนี้เป็นต้น ทุกวันนี้แบรนด์เราอยู่ได้ด้วยความพิเศษ ใช้งานคราฟท์งานยากฉีกตัวเองออกจากคู่แข่ง”


     รับมือให้ทันในวันที่โลกเปลี่ยน


     แต่แม้จะเคยประสบความสำเร็จมากๆ ในอดีต ด้วยแรงสนับสนุนจากเหล่าเพื่อนฝูงและคอนเน็กชันแต่รุ่นพี่ในสนามแฟชั่นอย่าง THEATRE ก็ยอมรับว่า ทำธุรกิจในวันนี้ไม่ง่าย  ที่ผ่านมา THEATRE เคยขยายร้านได้มากถึง 5 สาขา แต่วันนี้เหลือเพียงสาขาเดียวที่สยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เลือกที่จะอยู่แบบเล็ก เพราะสามารถควบคุม ทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ไม่เกินกำลัง และรักษาจุดยืนของแบรนด์เอาไว้ให้ได้


     “วันนี้เราเหลืออยู่ช็อปเดียวในช่วงเวลาที่โหดขนาดนี้ กลายเป็นว่าเราไม่ได้เจ็บตัวมากนัก ในวันนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้คนไม่ได้ออกมาจับจ่ายซื้อของแบบนี้กันแล้ว เผอิญว่าตัวพี่เองก็เป็นคนที่ไม่ถนัดเรื่องการทำออนไลน์เสียด้วย มีน้องๆ บอกให้ลองทำดูสิ แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที เหมือนกับตัวเองก็พอใจในสิ่งที่ทำอยู่ และทำได้แค่นี้ พอเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร มีกำลังได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น เลยทำให้เรายังอยู่ได้ และลูกค้าก็ค่อนข้างพอใจ


     ที่จริงเราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้มาสัก 7-8 ปีแล้ว และนับวันมันก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะว่าเจนใหม่มันเกิดขึ้นมา ถามว่ากังวลไหมกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป และความฉาบฉวยอาจจะมีมากขึ้นในวงการแฟชั่น พี่เองก็คิดอยู่นะว่าเราจะหาฐานลูกค้าเด็กลงได้อย่างไร แต่มันก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าเด็กไทยเขาก็ยังเสพแฟชั่นตามกระแส เขาคงไม่ได้อยากได้อะไรที่พิเศษมากมาย มันเลยเหมือนกับว่าแบรนด์ของเรามีลูกค้าค่อนข้างโตแล้ว อาจจะเริ่มทำงานและเริ่มอยากจะแต่งตัวไปงานที่พิเศษอย่างนี้เป็นต้น และลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่า เขามาช้อปปิ้งลองซื้อไปใส่และได้ฟีดแบคกลับมา เลยกลับมาซื้ออีก ลูกค้ากลุ่มนี้เขาจะกลับมา โดยที่เราไม่ได้ทำโฆษณาอะไรเลย แต่ลูกค้าจะไปโฆษณาให้เราเอง”


     การรักษาจุดยืนของตัวเองคือสิ่งที่แบรนด์รุ่นพี่อย่าง THEATRE เลือกทำ โดยบอกว่า ยังยึดมั่นทำงานคราฟท์ ในราคาสมเหตุสมผล และจัดเต็มในดีเทลเพื่อสร้างผลงานชิ้นพิเศษให้กับลูกค้า และสร้างมูลค่าให้กับชิ้นงานที่สร้างขึ้น
 





Did you Know
 
  • อายุธุรกิจกว่า 30  ปี
 
  • เน้นงานคราฟท์ เจาะตลาด Niche ราคาสมเหตุสมผล
 
  • ใช้คอนเน็กชัน สร้างแบรนด์ให้ปังตั้งแต่เริ่ม
 
  • เป็นแบรนด์ที่อยู่มานานกว่า 30 ปี มีฐานแฟนคลับทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่เคยมีสินค้าค้างสะต๊อก แทบไม่มีการเซลส์ ทำออกมาเท่าไรก็ขายหมด
 
  • เป้าหมายอนาคต รักษาจุดยืนในตัวตน อยู่ในจุดที่พอใจ ไม่ขยายธุรกิจให้เกินกำลัง 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย