ไอเดียเจ๋ง! ‘ลูกประคบธัญพืชเซรามิก’ นวัตกรรมใหม่สร้างรายได้ให้กับชุมชนหัวครีเอทีฟ!

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
 
  • จังหวัดลำปางเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างโรงงานเซรามิก แต่ความครีเอทีฟของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อชุมชนบ้านศาลาบัวบก พวกเขาปฏิวัติความคิดโดยนำเอาเศษดินที่ถูกทิ้งหลังกระบวนการผลิตถ้วยชามเซรามิก มาเชื่อมโยงกับเรื่องของสุขภาพ จนเกิดเป็น ลูกประคบธัญพืชเซรามิก
 
  • การสร้างนวัตกรรมใหม่นี้ไม่เพียงก่อเกิดเป็นธุรกิจเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนเท่านั้น ทว่ายังเป็นการคืนความสุขและสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน นำร่องหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย





     นวัตกรรมใหม่ๆ บางอย่างเกิดขึ้นได้จากความบังเอิญ บางอย่างเกิดจากความตั้งใจเพื่อลบล้างสิ่งเก่าและบางอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ แน่นอนว่ากว่านวัตกรรมชิ้นหนึ่งจะผุดออกมาเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมได้นั้นย่อมต้องเริ่มจากความสร้างสรรค์ การแสวงหาความแตกต่าง โดยนำเอาจุดเด่นหรือประโยชน์มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับ นวัตกรรมกรรมใหม่อย่าง “ลูกประคบเมล็ดธัญพืชเซรามิก” จากบ้านศาลาบัวบกจังหวัดลำปาง
 




จุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม
   

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าการริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นมาจากการ “ตั้งคำถาม” จากสิ่งที่มีอยู่ อย่างลูกประคบเมล็ดธัญพืชเซรามิกก็เกิดขึ้นได้จากการตั้งคำถามของ สายหยุด กันทะเสน ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านศาลาบัวบกว่า จะทำอย่างไรให้เซรามิกที่มีอยู่ในชุมชนมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพได้

  
     “จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดลูกประคบเซรามิกขึ้นมานั้น เริ่มจากหมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นโรงงานเซรามิก ประมาณ 36 โรงงาน ซึ่งสร้างรายได้หลักให้กับชุมชน อย่างที่จังหวัดลำปางจะมีโรงงานเซรามิกตั้งแต่ 200-300 โรงงาน จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมบ้านเราต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกอย่างเดียว จะทำยังไงให้เซรามิกมันต่างออกไปจากเดิม” สายหยุดบอกที่มา ก่อนเล่าต่อว่า เริ่มแรกได้ตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เซรามิกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นจึงได้ไปศึกษา คิดค้น อบรม และนำเอาความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในชุมชน โดยเริ่มนำเอาเศษดินที่เหลือใช้จากการผลิตเซรามิกในโรงงานที่พร้อมจะเอาทิ้งมาปั้นเป็นลูกเซรามิกเล็กๆ แล้วเอามาผสมกับเมล็ดธัญพืชอย่างถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดข้าวโพด ลูกเดือย เมล็ดข้าวสารและยังมีไพรแห้ง ผิวมะกรูดแห้งผสมผสานกันจนเกิดเป็นลูกประคบเซรามิกขึ้น ซึ่งในตอนนี้นอกเหนือจากลูกประคบสมุนไพรเซรามิกแล้ว ยังมีเม็ดเซรามิกขนาดใหญ่กว่าไว้ใช้สำหรับนวดฝ่าเท้าอีกด้วย
 



 
ความเหมือนและความต่างระหว่างลูกประคบธัญพืชเซรามิกและลูกประคบสมุนไพรธรรมดา


     สายหยุดเล่าถึงความพิเศษของลูกประคบสายพันธุ์ใหม่ให้ฟังว่า เม็ดเซรามิกจะเก็บความร้อนได้นานขึ้น ซึ่งแตกต่างจากลูกประคบสมุนไพรธรรมดาทั่วไป ที่คลายความร้อนได้เร็ว ใช้ได้ไม่นานก็ต้องไปนำไปนึ่งหรืออบใหม่ แต่ถ้าเป็นเซรามิกจะเก็บความร้อนได้นาน เวลาในการประคบร้อนจึงเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องต้องเสียเวลาไปนึ่งหรืออบบ่อยๆ  ขณะที่ตัวธัญพืชจะมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน บรรเทาอาการปวดเหมื่อย และยังช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้นอีกด้วย และนี่คือความพิเศษของ ลูกประคบธัญพืชเซรามิกของพวกเขา

     “ความพิเศษอีกอย่างคือลูกประคบเซรามิกสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ทำให้สะดวกสบาย  เมื่อใช้เสร็จก็นำไปผึ่งแดดได้เลย การเก็บรักษาสามารถวางไว้ภายในห้องได้โดยไม่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนวิธีการใช้คือนำเข้าไมโครเวฟตั้งเวลาไว้ประมาณ 3 นาที และในการอบ 3 นาที เราจะใช้ลูกประคบเซรามิกได้เกิน 20 นาที เมื่อความร้อนคลายแล้ว ถ้าเรายังต้องการใช้ต่อก็แค่นำไปใส่ในไมโครเวฟใหม่อีกครั้งใช้เวลาประมาณ 2 นาที ซึ่งครั้งต่อไปต้องลดลงเช่นเดียวกัน เพราะว่าความร้อนยังคงระอุอยู่ข้างใน โดยลูกประคบธัญพืชเซรามิกนี้สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น” สายหยุดกล่าวเสริมถึงความพิเศษของลูกประคบนวัตกรรมใหม่นี้
 




เตรียมความพร้อมสู่การส่งออก


     การมาถึงของผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่คิดจากความครีเอทีฟของคนในชุมชน สร้างโอกาสธุรกิจให้กับพวกเขา โดยสายหยุดเล่าว่า ตอนนี้มองไปที่ตลาดจีน เพราะคนจีนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์นี้


     “เราจึงทำบรรจุภัณฑ์ให้มีข้อความสำหรับภาษาจีนสำหรับคนจีน เพราะคนจีนสนใจค่อนข้างมาก ชาวต่างชาติก็สนใจค่อนข้างเยอะ เวลาไปออกบูธที่ไหนเขาก็จะตามมา คนไทยก็มีแต่จะมีแค่คนรักสุขภาพ นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่สนใจก็จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสปาเขาก็ติดต่อมา ล่าสุดคือมีคนสั่งให้ทำ 3,000 ชิ้น แต่ด้วยความที่ลูกประคบนี้เป็นงานทำมือ มันจึงต้องใช้เวลา อีกทั้งชาวบ้านที่จะมาทำก็จะเริ่มทำช่วงกลางคืนหลังจากเลิกจากงาน ซึ่งถ้าต้องทำส่งเยอะๆ มันจะมีปัญหาในเรื่องของกระบวนการผลิตเพราะว่ามันเป็นงานฝีมือ ไม่ได้ใช้เครื่อง


     “ซึ่งตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาตามออนไลน์ที่ลูกค้าเขาใช้ของเราประจำ เขาก็จะแนะนำก็ยังคนอื่นว่าซื้อจากที่ไหน อยากได้ของเพิ่ม ซึ่งเราสามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าต้องการเยอะเราก็ต้องคุยกันก่อน เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาตามทีหลัง สำหรับจีนคือมีไปออกตลาดบ้างแล้ว โดยอาจารย์จากราชมงคลล้านนาลำปาง พาไปออกงาน แล้วตอนนี้เราก็เอามาพัฒนาเป็น Packaging ให้เสริมไปในส่วนของภาษาอังกฤษและภาษาจีนเข้าไปด้วย”
 




ไม่เพียงแค่สร้างรายได้หากแต่ยังคืนความสุขให้กับชุมชน


     ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนต้องการกำไร แต่ไม่ใช่กับชุมชนแห่งนี้ที่มองว่า พวกเขาได้อะไรมากกว่านั้น...


     “เราไม่ต้องไปแข่งใคร เพราะเราจดลิขสิทธิ์เรียบร้อย วิสาหกิจชุมชนของเราก็จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ฉะนั้นใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบเราได้ เรามองว่าสิ่งที่จะได้มากกว่ารายได้ คือเราสามารถสร้างอาชีพให้กับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน อีกทั้งกระบวนการปั้นก็ยังเป็นการออกกำลังกายมือ ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของพวกเราดีขึ้นตามไปด้วย และระหว่างการทำก็จะมีการพูดคุยทำให้รู้สึกคลายเครียด และลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวันลงได้”


     นอกการการปั้นที่สร้างรายได้แล้ว ยังมีในเรื่องการซื้อขายธัญพืชตลอดจนสมุนไพรต่างๆ ที่คนในชุมชนสามารถนำมาขายให้กับทางกลุ่ม โดยเธอเล่าว่า จะรับซื้อวัตถุดิบจากในชุมชนเท่านั้นและซื้อในราคาที่เท่าตลาด อย่างการเผาลูกเซรามิกก็จ้างโรงงานในหมู่บ้านทำเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือรายได้ที่จะกระจายอยู่แค่ในชุมชน “ไม่ต้องเอาเงินออกนอกบ้าน” นี่คือนโยบายของเธอ ซึ่งนอกจากนี้หมู่บ้านศาลาบัวบกยังกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชม หรือเข้าไปร่วมกิจกรรมกับคนในหมู่บ้านได้อีกด้วย


     การทำลูกประคบเซรามิกนั้น สายหยุดมองว่า เป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่นำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่างดินเซรามิกซึ่งไม่ต้องไปขวนขวายหาซื้อจากที่ไหนมาทำ จึงสร้างแต้มต่อ เพิ่มความแตกต่างและสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการคืนความสุขให้กับตนเองทั้งสิ้น


     เพราะเธอเชื่อว่า..เมื่อเราได้ทำอะไรในสิ่งที่ชอบ ได้อยู่กับสิ่งที่รัก ความสุขจะย้อนคืนกลับมาเสมอ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย