ธุรกิจสปาต้องรู้เรื่องนี้! กลยุทธ์ปักหมุดสปาไทยสู่ Wellness Destination บนแผนที่โลก

Text : กองบรรณาธิการ
Photo :เจษฎา ยอดสุรางค์





 Main Idea
 
  • ชื่อเสียงของสปาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่เรามี บวกฝีมือ หัวใจการบริการ และอัตลักษณ์ไทยที่เป็นเสน่ห์ในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้สปาไทยเป็นธุรกิจที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
 
  • ตลาดสปาและเวสเนสทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 27 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท มีแรงงานอยู่ราว 6 หมื่นคน และที่เกี่ยวเนื่องอีกกว่า 4 แสนคน
 
  • หากสามารถหลอมรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จะช่วยยกระดับธุรกิจสปาไทยให้เข้าไปอยู่ในหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวบนแผนที่โลกได้




     ชื่อเสียงของสปาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่เรามี บวกฝีมือ หัวใจการบริการ และอัตลักษณ์ไทยที่เป็นเสน่ห์ในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้สปาไทยเป็นธุรกิจที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสามารถหลอมรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็จะช่วยยกระดับธุรกิจสปาไทยให้เข้าไปอยู่ในหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวบนแผนที่โลกได้
 

ธุรกิจสปาเติบโตรับกระแสโลก


     ในขณะที่ตัวเลขรายได้ของหลายๆ ธุรกิจซบเซาลง หรือถูกดิสรัปชั่นจากดิจิทัล แต่ธุรกิจสปากลับยังเติบโตขึ้นทุกปี ตามเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและความงามกันมากขึ้น โดยพบว่าในปีที่ผ่านมาธุรกิจสปาและเวลเนสทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 27 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าถึงกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแรงงานอยู่ราว 60,000 คน รวมทั้งแรงงานในห่วงโซ่ (Value Chain) ที่เกี่ยวเนื่องอีกถึงกว่า 400,000 คน




     วัชรพงศ์ กลิ่นปราณีต นายกสมาคมไทยล้านนาสปา ได้ฉายภาพรวมของธุรกิจสปาภาคเหนือให้ฟังว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทั้งมีจำนวนผู้ประกอบการและรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 มีผู้ประกอบการธุรกิจ สปาที่ได้รับใบอนุญาต 45 แห่ง สร้างรายได้รวมกันที่ 270 ล้านบาท ต่อมาปี 2559 มีผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่ได้รับใบอนุญาต 50 ราย สร้างรายได้ที่ 432 ล้านบาท ในปี 2560 มีผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่ได้รับใบอนุญาต 56 ราย สร้างรายได้เพิ่มเป็น 493 ล้านบาท และปี 2561 มีผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่ได้รับใบอนุญาต 65 ราย และสามารถสร้างรายได้สูงถึง 588 ล้านบาท สะท้อนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
               

     เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละ 15-17 ล้านคน ทำให้ธุรกิจสปาผุดขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ รัตนดา ชูบาล นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต เปิดเผยว่า ธุรกิจสปาของภูเก็ตมีหลากหลายระดับ เฉพาะที่มีเตียงบริการ 40-60 เตียงแบบ Day Spa มีจำนวนมากกว่า 30 สปา ถ้านับรวมสปาในแถบภูเก็ตและอันดามันสร้างรายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจสปาทั้งประเทศ
 
                
ยกระดับสปาไทยสู่ Wellness Destination


     ด้าน อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ซีอีเอ) เปิดเผยว่า ศักยภาพของผู้ประกอบการสปาไทยที่มีความแข็งแกร่งเป็นพื้นฐาน จึงมองว่าหากได้รับการส่งเสริมในเรื่องมาตรฐานคุณภาพและการบริการ นำความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ตลอดจนวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นมาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ ก็จะช่วยยกระดับภาพรวมของธุรกิจสปาไทยให้เพิ่มขึ้นได้อีกมาก
“ผมว่าชื่อเสียงของสปาไทยคนทั่วโลกฟังแล้วรู้สึกดี แต่ถ้าเราสามารถยกระดับขึ้นอีกได้สปาไทยก็จะเหมือนกับอาหารไทยที่คนรับรู้ได้ทันทีว่านี่คือสิ่งที่ดีเยี่ยม” เขาบอก




     อย่างไรก็ตาม แม้สปาไทยจะเติบโตทุกปีแต่ปัจจุบันสปาไทยยังอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก อันดับที่ 5 ของเอเชีย ดร.ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ถ้าสามารถพัฒนาสปาไทยทั้งประเทศให้มีเอกลักษณ์เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้บริการสปา พร้อมต่อยอดไปสู่สินค้าเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เหมือนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ที่สามารถขายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย จะทำให้ธุรกิจสปาไทยเติบโตสร้างเม็ดเงินได้อีกมหาศาล
               

     “การทำให้ประเทศไทยเป็น Wellness Destination ต้องพัฒนา 4 High คือ 1.Highly Innovative ทำนวัตกรรมที่จับต้องได้ทั้ง Functional, Emotional 2.High Touch บริการที่เป็นเลิศ ลองสังเกตสปาที่อยู่ระดับบนการบริการของเขาอยู่ในระดับเยี่ยมยอด เรื่องที่ 3.High Standard ต้องสร้างมาตรฐานเพราะธุรกิจสปาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังมีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และ 4.Highly Brand สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมืองสปาภายใต้คอนเซปต์ Magic Spa Magic Experience”


นำของดีในพื้นที่ สร้างจุดแข็ง เพิ่มจุดขาย


     วัลวลี ตันติกาญจน์ ประธานสมาพันธ์สปาไทยและนายกสมาคมสปาสมุย แสดงความเห็นว่าการทำให้ประเทศไทยเป็น Wellness Destination จะต้องมีทิศทางไปในทางเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจสปาในประเทศไทยทุกแห่งจะต้องมีหน้าตาหรือบริการเหมือนกันทุกอย่าง สิ่งที่ต้องสงวนไว้คือ ความเป็นไทย แต่ก็ต้องมีจุดต่างที่เป็นจุดขาย นั่นคือวัฒนธรรมหรือสินค้าในแต่ละท้องถิ่น เพราะถึงแม้จะเป็นภาคเดียวกันแต่เอกลักษณ์ปลีกย่อยในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น ในเกาะสมุยนั้นมีขมิ้นชันและมะพร้าวสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้ เป็นต้น ที่สำคัญผู้ประกอบการสปาต้องไม่นำเรื่องราคามาเป็นจุดแข่งขัน และธุรกิจต้องไม่ตอบสนองเพียงการเป็นที่ต้องการของลูกค้าและคู่ค้าเท่านั้น แต่ต้องเป็นที่ต้องการสำหรับคนในชุมชนด้วยธุรกิจจึงจะยั่งยืนได้


     ในขณะที่จังหวัดภูเก็ต มีการนำผลิตภัณฑ์จากสับปะรด ไข่มุก และหอยเป๋าฮื้อ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับสมาชิกสมาคมสามารถสั่งซื้อได้โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุน หรือแม้แต่ในเชียงใหม่ก็มีการนำลำไยมาทำเป็นน้ำมันนวด ส่วนเปลือกก็นำมาทำเป็นสครับขัดผิว




     “ภาคเหนือก็ยังมีสมุนไพรพวกว่านสมุนไพร เช่น ว่านนางคำ ถือว่าเป็นนางพญาแห่งว่าน มีสรรพคุณดูแลผิว ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาผสมกับท่านวดของล้านนาซึ่งเป็นการผสมระหว่างศาสตร์ตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างลงตัว บวกกับความเชื่อท้องถิ่นมีตัวอักขระล้านนาแสดงถึงความมีเสน่ห์ เสริมสร้างกำลังใจ เป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนได้” วัชรพงศ์ กลิ่นปราณีต นายกสมาคมไทยล้านนาสปา เผยถึงการสร้างอัตลักษณ์ฉบับสปาทางเหนือ


     นอกจากสร้างอัตลักษณ์แล้ว กรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย แนะนำให้ผู้ประกอบการศึกษาเทรนด์ข้อมูลต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ยกตัวอย่าง ข้อมูลที่น่าสนใจของปีที่แล้วคือ Real Estate Wellness ที่พักอาศัยที่มีบริการเวลเนสผสมผสาน, ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การแพทย์ทางเลือก การฝังเข็ม การครอบแก้ว ฯลฯ และอาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ 


     “ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พนักงาน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้” นายกสมาคมสปาไทยกล่าวในตอนท้าย
 
               
     การสร้างอัตลักษณ์ในธุรกิจสปาไทย นอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่าง เป็นเสน่ห์ที่จะทำให้ลูกค้าติดใจแล้วยังช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนเติบโตไปพร้อมกันด้วย เพื่อขับเคลื่อนสปาไทยไปสู่เป้าหมาย Wellness Destination บนแผนที่โลกได้ในที่สุด
                               


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย