แชร์เคล็ดลับ ‘สุดยอดคุณแม่นักธุรกิจ’ จาก 3 ผู้ประกอบการสาวแกร่งที่สตรองสุดในยุคนี้




Main Idea
 
 
  • การเป็นผู้ประกอบการว่ายากแล้ว แต่การต้องเป็นทั้งผู้ประกอบการและคุณแม่ Full Time นั้นโหดหินยิ่งกว่าหลายเท่า เพราะนอกจากที่พวกเธอจะต้องโฟกัสกับการทำธุรกิจให้สำเร็จ ต้องทุ่มเทใส่ใจลูกค้า เวลาเดียวกันก็ยังต้องมีเวลาให้กับลูกๆ อีกด้วย
 
  • บางครั้งการรับหลายบทบาทในเวลาเดียวกันก็เกินกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเอาอยู่ แต่ด้วยพลังแห่งความรักที่มีต่อลูกๆ ก็ทำให้พวกเธอเลือกกัดฟันสู้ อดทน ฟันฝ่าความยากลำบากเพื่อที่จะปูทางชีวิตและสร้างทุกอย่างไว้ให้พร้อมสำหรับลูกๆ นี่แหละคือหญิงแกร่งตัวจริงที่เราทุกคนเรียกว่า..‘แม่’
 

 
 
     การเป็นผู้ประกอบการว่ายากแล้ว แต่การต้องเป็นทั้งผู้ประกอบการควบคู่ตำแหน่งคุณแม่แบบ Full Time นั้นโหดหินยิ่งกว่ากันหลายเท่า เพราะนอกจากที่พวกเธอต้องโฟกัสกับการทำธุรกิจ ต้องดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีเวลาให้ลูกๆ ของพวกเธออีกด้วย บางครั้งเหนื่อยจากงานแค่ไหนก็ยังต้องยิ้มแย้มเล่นกับลูกๆ ต้องคอยกักเก็บความเครียดเอาไว้ภายในใจไม่ให้แสดงออกมาให้ลูกเห็น นี่แหละคือหัวใจของการเป็น “คุณแม่นักธุรกิจสาวแกร่ง”





     Nahathai (ณ หทัย) สกินแคร์แบรนด์ไทยสายเขียวที่ก่อตั้งโดย 3 คุณแม่สุดแกร่งอย่าง ณหทัย แก้วสนิท, ดาวใจ ศรลัมพ์และดวงกมล ศรลัมพ์ จุดเริ่มต้นของแบรนด์คือ พวกเธอต้องการสกินแคร์ที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีมาใช้ในการบำรุงผิวจนได้ก่อเกิดเป็นสกินแคร์ที่สกัดจากเปลือกกาแฟปลอดสารพิษ ซึ่งเต็มไปด้วยคุณประโยชน์จากกาแฟ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อผิวพรรณ นอกจากนี้สกินแคร์จาก Nahathai ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีรายได้ในการขายเปลือกกาแฟเพิ่มขึ้นด้วย
               

     ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำธุรกิจของพวกเธอทั้ง 3 คนจึงกลายเป็นแบรนด์สกินแคร์ยอดฮิตขวัญใจคนรักผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่เบื้องหลังธุรกิจที่กำลังก่อร่างสร้างตัวอย่างงดงามคือความเหนื่อยไม่น้อยของการควบตำแหน่งคุณแม่แบบเต็มเวลา โดยพวกเธอจะมาแชร์เคล็ดลับการบริหารเวลาแบบคุณแม่นักธุรกิจที่ต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน
 


 
  • บริหารเวลาให้ดี
     เริ่มต้นที่คุณแม่ดวงกมล นอกจากการรับหน้าที่ในการดูแลลูกค้า ตอบไลน์ของ Nahathai แล้วเธอยังมีอีกหนึ่งธุรกิจนั่นคือร้านขายเครปที่ La Villa Ari โดยเธอเล่าว่าทุกวันเธอจะต้องไปรับส่งลูกด้วยตัวเอง จากนั้นกลับมาทำงานบ้าน ตอบไลน์ ดูแลลูกค้า ช่วงบ่ายโมงจะต้องเตรียมตัวไปรับลูก ช่วงเย็นต้องดูแลลูก หากว่าลูกนอนก็จะมีเวลาทำงานบ้าน ชีวิตของดวงกมลจะเป็น Routine แบบนี้ ซึ่งเธอบอกว่ามันคือความโชคดีอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจออนไลน์เพราะไม่ต้องเข้าออฟฟิศตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่สิ่งสำคัญคือการบริหารเวลาให้ดี หากทำได้ก็จะสามารถมีความสุขทั้งคุณแม่และลูก


      “เราอยู่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก พ่อแม่ลูก หน้าที่เราคือรับส่งลูก และเราต้องเป็นแอดมินตอบไลน์ด้วย ชีวิตจะติดมือถือมาก บางทีลูกเรียกเราก็จะไม่ค่อยได้ยิน มันอาจจะไม่ดีแต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด โชคดีที่การขายออนไลน์ยังมีเวลาทำให้เราได้อยู่กับลูก ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แม้จะอยู่กับมือถือบ้างแต่ตัวก็ยังอยู่กับลูก ได้ดูแล ใกล้ชิด ยังไม่ต้องพึ่งพาพี่เลี้ยง เป็นงานที่ค่อนข้างโชคดีในการแบ่งเวลา หากบริหารเวลาดีก็จะมีความสุขกับลูก ลูกก็จะมีความสุขที่อยู่กับเรา”
 


 
  • กดดันตัวเองไม่ช่วยอะไร ต้องปรับที่ใจก่อน

      ทางด้านดาวใจ ผู้ดูแลด้านการวิจัยของแบรนด์ Nahathai ได้แชร์ว่าสิ่งที่คุณแม่ต้องทำให้มุมมองของเธอคือการปรับที่ใจ เพราะบางครั้งการเป็นคุณแม่นั้นอาจไม่ได้เพอร์เฟ็ค บางทีต้องมีเรื่องผิดพลาด การกดดันตัวเองและโทษตัวเองไม่ช่วยอะไร สภาพครอบครัวแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน ความยืดหยุ่นจึงสำคัญมาก


     “จากเดิมที่เรามีเวลาให้ลูก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงวันที่เรามาดูแลธุรกิจ เวลาส่วนใหญ่จะมาอยู่กับงาน เพราะธุรกิจพึ่งโต หากคุณปรับที่ใจไม่ได้ มันก็จะพัง ลูกก็จะแย่ เราก็แย่ เช่น บางทีเรารู้สึกว่าวันนี้ไม่ได้เล่นกับลูกเลย แย่ละ เราจะรู้สึกผิด ถ้าพูดถึงเทคนิกคือการเริ่มปรับที่ใจ ทุกครอบครัวไม่เหมือนกัน ความพร้อมในการมีคนมาซัพพอร์ตไม่เหมือนกัน เรา 3 คนไม่มีใครมาซัพพอร์ตเลย ต้องยอมรับก่อนว่าบางทีเราไม่ได้พาลูกไปเที่ยวเหมือนคนอื่น บางทีเราเผลอดุลูกตอนงานเร่งว่ารอก่อนได้มั้ย ไม่ใช่ความผิด เราจะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เริ่มใหม่ในวันพรุ่งนี้ เด็กเขาต้องเรียนรู้ไปกับเรา บางทีเราไปอ่านเพจนั้นเพจนี้ มันเครียด ต้องมองสภาพครอบครัวว่าไม่เหมือนกัน เราทำไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เราต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าวันนี้เรารู้ตัวแล้วว่าทำได้ไม่ดี พรุ่งนี้เริ่มใหม่ พอคิดแบบนี้ ทุกวัน เราจะใจเย็นลง”
 


 
  • เพราะชีวิตคือความยืดหยุ่น

     ปิดท้ายที่ ณหทัย ผู้ที่ดูแลการทำคอนเทนต์ในช่องทางต่างๆ ของแบรนด์ สำหรับณหทัย เธอคือคุณแม่ลูก 2 ที่ต้องดูแลทั้งการทำคอนเทนต์บนณหัยและยังต้องดูแลร้านกาแฟที่จังหวัดลำพูนไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เธออยากแนะนำให้แก่คุณแม่คือความยืดหยุ่น เพราะการทำธุรกิจร้านกาแฟนั้นกะเวลาค่อนข้างยาก


     “เราต้องทำทั้งร้านกาแฟและ Nahathai แต่ตอนเช้าวันจันทร์ถึงศุกร์ต้องไปส่งลูก จากนั้นกลับมาทำร้านกาแฟต่อ พอตอนเย็นจะขอให้คุณยายเป็นคนไปรับ เราต้องมีความยืดหยุ่นตลอดเวลา เพราะเราจะกะไม่ได้เลยว่าร้านกาแฟจะเสร็จประมาณกี่โมง ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาด้วย พอลูกกลับมาบ้านตอนเย็น เราอาจจะไม่ได้มีเวลาให้ลูกมากแต่เวลาที่เราให้ลูกทุกครั้งคือเวลาคุณภาพ เราจะให้เต็มที่เลย ณ ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ได้บริหารเวลาดีเท่าไหร่ แต่ก็ต้องปรับหลายอย่าง เพราะร่างกายเราก็ไม่ไหวเหมือนกัน ต้องทำหลายอย่างมาก สิ่งที่อยากบอกพ่อแม่หลายคนที่เครีดยเรื่องเวลาคือการให้เวลาคุณภาพกับลูกเยอะๆ”

            
     บางครั้งการรับหลายบทบาทในเวลาเดียวกันก็เกินกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไหว แต่ด้วยพลังรักที่มีให้ลูกจึงทำให้พวกเธอต้องสู้ อดทน ฝ่าฟันกับความยากลำบากในวันนี้เพื่อที่ในอนาคตจะได้มีทุกอย่างเอาไว้ให้พร้อมสำหรับลูกๆ ของพวกเธอ นี่แหละคือหญิงแกร่งตัวจริงที่เราทุกคนเรียกว่า ‘แม่’
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย