บรรจุภัณฑ์สร้างโอกาส! ‘ขนมไทยลุงอเนก’ ขนมเมืองเพชรที่ไม่ได้ขายแค่ในเพชรบุรี

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
  • ขนมไทยลุงอเนก คือธุรกิจที่เกิดจากทายาทผู้ต้องการสืบสานสูตรทำขนมของครอบครัวเอาไว้ โดยมีจุดยืนคือจะเป็นขนมเมืองเพชรที่ไม่มีขายแค่ในเพชรบุรี ที่มาของธุรกิจที่ไม่เพียงเติบโตได้ แต่ยังเชื่อมโยงและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
 
  • ด้วยความที่เป็นวิศวกรมาก่อนบวกกับความชอบสะสมบรรจุภัณฑ์แปลกใหม่มาเก็บไว้ จึงทำให้เกิดการนำความชอบมาเสริมทัพด้วยความรู้ที่ได้เล่าเรียนและสั่งสมมาระหว่างทาง สู่การยกระดับขนมไทยลุงอเนกให้ดังไกลไปทั่วประเทศ


      “ขนมไทย” มีความหลากหลายทั้งเรื่องของรสชาติ วัตถุดิบ รูปลักษณ์ กลิ่นหรือแม้กระทั่งความเชื่อที่สอดแทรกรวมอยู่ในนั้น เห็นได้จากขนมไทยที่นิยมนำมาประกอบในพิธีมงคลต่างๆ ตามภูมิปัญญาของคนในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถ้าได้เอ่ยชื่อจังหวัดขึ้นมา แทนที่จะนึกถึงสถานที่หรือบุคคลสำคัญกลับกลายเป็นว่าเราดันนึกถึงขนมเสียนี่ เช่นเดียวกับถ้าเอ่ยถึง “เพชรบุรี” ใครหลายคนคงต้องนึกถึงขนมหม้อแกงเมืองเพชรอย่างแน่นอน!
               


     หม้อแกงเมืองเพชรมีหลายร้านดัง โดยแต่ละร้านก็ไม่ได้มีเพียงแค่ขนมหม้อแกงเท่านั้น หากแต่มีขนมไทยหลากหลายชนิดให้ได้ลองชิมและซื้อเป็นของฝากกันด้วย เช่นเดียวกับ ร้านขนมไทยแบรนด์ ลุงอเนก ที่กำเนิดมาจากร้านขนมไทยเล็กๆ เติบโตสู่ธุรกิจขนมไทยที่ปัจจุบันสามารถส่งขายไปทั่วประเทศ โดยฝีมือของทายาทลุงอเนก ที่ชื่อ “ประวิทย์ เครือทรัพย์”
               





     กว่าจะเป็น “แบรนด์ลุงอเนก”  เช่นทุกวันนี้เรียกได้ว่า พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านหมู่บ้าน ผ่านจังหวัด ยอมขาดทุนก่อนได้กำไรจากการขาย เพียงเพราะจุดเริ่มต้นจากความตั้งใจที่อยากกลับมาอยู่บ้าน และความบังเอิญจากการที่เพื่อนฝากซื้อขนม
               

     “เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เวลาที่ผมกลับมาบ้านเพื่อนก็มักจะฝากซื้อขนม เพื่อนบอกว่าขี้เกียจไปเพชรบุรี เห็นผมกลับทุกอาทิตย์ก็ซื้อมาฝากหน่อย ซึ่งสมัยก่อนบ้านผมเองและคนแถวบ้านก็ทำขนมขายกันอยู่แล้ว เลยเริ่มจากเอาขนมที่บ้านไปขายโดยบวกค่าส่งไป พอมาคิดจำนวนเงินที่ได้มันก็พอกับจำนวนค่าน้ำมันพอดิบพอดี” เขาเล่า
               




     จากจุดเล็กๆ อย่างการขายส่งขนมให้เพื่อน ใครจะคิดว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นธุรกิจที่ขายไปทั่วประเทศได้ ประวิทย์เล่าให้ฟังว่า


     “ก่อนที่จะมาทำธุรกิจที่บ้านอย่างจริงจังผมเป็นช่างมาก่อน ก็จะมีความรู้ในสายช่าง ซึ่งถ้าจะกลับมาทำงานช่างในเพชรบุรีมันก็ไม่ค่อยมีงาน แต่จะมาขายขนมเหมือนพ่อก็คงทำไม่ได้เช่นกัน ผมจึงมองหาธุรกิจอื่นๆ จนมองเห็นโอกาสจากการเปิดเว็บไซต์แล้วเอาขนมพ่อนี่แหละไปลองขายดู ปรากฏขายได้ ก็เริ่มส่งให้ภาคใต้ก่อน โดยทางที่เร็วและสะดวกที่สุดคือต้องฝากรถตู้ รถบขส. ผ่านไปสัก 2 อาทิตย์ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีเลยลองส่งไปภาคอื่นบ้าง แต่ค่าขนส่งมันแพงเกินกำไรที่จะได้และเราขาดทุนเพราะยังเป็นรายใหม่ หลังๆ มาเขาก็เริ่มลดค่าส่งให้เราบ้าง ช่วยทำให้พอได้กำไร”
               





     เขาเล่าต่อว่า เริ่มเห็นความเป็นไปได้ในธุรกิจ และมองว่ามีโอกาสที่จะนำเอาขนมของครอบครัวมายกระดับเพื่อขายนอกพื้นที่ได้ ซึ่งวิธีนี้ดีกว่าการไปฝากขายตามร้านดังที่เจ้าของสินค้ามักจะถูกกดราคา และถ้าขายไม่หมดยังต้องรับภาระเก็บสินค้ากลับบ้านเองด้วย เป้าหมายของธุรกิจเลยเปลี่ยนไป
พวกเขากำลังทำขนมเมืองเพชร ที่ไม่ขายในเพชรบุรีอีกต่อไป!


     เมื่อเริ่มนำขนมไทยแสนอร่อยไปขายนอกพื้นที่ ประวิทย์จึงได้มีการรวมกลุ่มคนในหมู่บ้านเป็นแหล่งผลิตชั้นดี ซึ่งนี่ยังเป็นการเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน ไปพร้อมกับยกระดับขนมเมืองเพชรบุรีให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศอีกด้วย
               





     เมื่อธุรกิจเติบโตจนกระทั่งมีโรงงานทำขนมเป็นของตัวเอง ประวิทย์จึงคิดอยากสร้างความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใครอื่น บวกกับความชอบในเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่มักจะเก็บสะสมไว้ดูไว้ศึกษา จึงทำให้เขาอยากจะมีบรรจุภัณฑ์ที่สวย เก็บขนมได้ดีและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ด้วย นั่นคือที่มาของบรรจุภัณฑ์ขนมหม้อแกงลุงอเนกที่มีความสวยงายและสะดวกต่อการทาน ซึ่งบรรจุภัณฑ์นี้ทำให้สินค้าของเขากลายเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
               




     “เราเป็นเจ้าแรกที่ทำ Packaging แปลกจากคนทั่วไป  โดยตั้งโจทย์ว่าอยากได้บรรจุภัณฑ์ขนมหม้อแกงที่มีความสะอาด มีการปิดสนิท สามารถทานได้ในครั้งเดียว และมีรูปแบบที่แตกต่างจากที่อื่น ซึ่งผมเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบรรจุภัณฑ์ของเพดดีกรี ซึ่งพอเอาไปวางขายแล้วไม่มีการแปะสติ๊กเกอร์คนอื่นเขาก็เข้าใจว่ามันเป็นอาหารของสุนัข (หัวเราะ) ผมก็เลยเริ่มหาบรรจุภัณฑ์อื่นจนกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์ทรงกลมเช่นปัจจุบัน ซึ่งตอนหลังมาก็มีการต่อยอดให้มีหลากหลายรสเพราะผมอยากเปลี่ยนภาพหม้อแกงให้ต่างจากเดิมออกไป ให้มันว้าวขึ้น จนมารู้ทีหลังว่าของวิสกัสก็มีรูปแบบนี้เหมือนกัน(หัวเราะ)”
               

     ธุรกิจอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากเพียงเรามองเห็นคุณค่า  ริเริ่มสร้างสรรค์  หาความแตกต่างแต่ยังคงคุณภาพไว้ กิจการก็เจริญเติบโตได้ไม่ยาก  เช่นเดียวกับประวิทย์ ที่ผันตัวเองจากวิศวกรสู่เจ้าของแบรนด์ขนมไทยโดยตั้งมั่นว่าอยากรักษาสูตรขนมไทยของพ่อให้ยังคงอยู่ ซึ่งความพยายามนั้นส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จที่ไม่เพียงแต่สามารถรักษาสูตรขนมของพ่อไว้ได้ หากแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ตนเองรัก และยังสร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศอีกด้วย
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย