Main Idea
- เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรอาหารมากมาย และยังขึ้นชื่อในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการดัดแปลงวัตถุดิบมาใช้ประกอบอาหารในรูปแบบต่างๆ ด้วย
- ทว่าทำไมผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรของไทยถึงมีอยู่น้อยรายนักที่จะสามารถก้าวข้ามไปแข่งขันอยู่ในเวทีโลกได้
- สุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของ ขาบ สตูดิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปั้นแบรนด์สินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีรางวัลระดับโลกอย่าง ‘กูร์มองด์อวอร์ด’ การันตี จะมาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง
ประเทศไทยขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นครัวของโลก เพราะพื้นเพความเป็นเมืองเกษตรกรรมทำให้อุดมไปด้วยวัตถุดิบอาหารมากมาย อีกทั้งยังมีเมนูคาวหวานที่ทั่วโลกต่างยกนิ้วให้ นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เลือกที่จะทำธุรกิจด้านอาหารและการเกษตร โดยกว่าครึ่งของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเติบโตมาจากภาคการเกษตรและอาหาร กระนั้นในจำนวนนี้กลับมีอยู่ไม่มากนักที่สามารถออกไปผงาดบนเวทีโลกได้ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากความอ่อนด้อยในเรื่องของการนำเอานวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจแบบองค์รวม
ติดกับดักความคิดแบบเดิมๆ
สุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของ ขาบ สตูดิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปั้นแบรนด์สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งมีโอกาสไปคว้ารางวัลกูร์มองด์อวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกติดต่อกันถึง 9 ปี กล่าวว่า ด้วยข้อได้เปรียบของไทยในความเป็นแหล่งทรัพยากรด้านอาหารที่มีวัฒนธรรมการกินที่โดดเด่น สามารถสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจอาหารได้ หากแต่ข้อได้เปรียบเดียวกันนี้ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองมี จนกลายเป็นกับดักที่ทำให้ไม่กล้าหลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ในการพัฒนาธุรกิจ
“ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการขาย มองว่าเรามีอะไรดี ก็เอาสิ่งนั้นมาขาย คิดว่าออกแบบดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้ออกมาดี โฆษณาสวย ก็น่าจะขายได้แล้ว ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดมาก แน่นอนว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทยยังคงดึงดูดความสนใจของคนทั่วโลกได้ แต่หากยังคงขายในรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่มีความเป็นสากล จึงทำให้ไม่สามารถขยายตลาดไปได้กว้าง ซึ่งการนำเอาความเป็นสากลมาใส่ในธุรกิจจะต้องมองภาพรวมทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การแปรรูปสินค้า โดยนำเอานวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่มาใช้เพิ่มคุณค่าของเสน่ห์อาหารไทยให้มากขึ้น ไปจนถึงการเอานวัตกรรมสร้างสรรค์การออกแบบมาใช้ในการสื่อสารแบรนด์ เพื่อให้ภาพของแบรนด์มีความชัดเจนยิ่งขึ้นบนเวทีโลก”
ใส่นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม
สุทธิพงษ์ยกตัวอย่างมะพร้าวน้ำหอมละไม หนึ่งในแบรนด์ที่เขาปั้น และนำเอาผลงานไปสร้างสรรค์เป็น Cook Book ส่งเข้าชิงรางวัลกูร์มองด์อวอร์ดปีล่าสุด โดยเล่าว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลกในเรื่องรสชาติและคุณประโยชน์ หากแต่การส่งออกไปในรูปแบบของมะพร้าวเป็นลูกๆ คุณค่าของผลิตภัณฑ์ก็จะไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปกว่าคุณค่าที่มีอยู่เดิม แต่หากนำเอานวัตกรรมเข้ามาจับตั้งแต่กระบวนการผลิต ก็จะทำให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น และสามารถขยายตลาดไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม
โดยมะพร้าวน้ำหอมละไม จะใช้วิธีเจาะตัวกะลาของมะพร้าวให้สามารถเปิดออกง่าย ทำให้ผู้บริโภคสะดวกในการกิน นี่คือ นวัตกรรมดีไซน์ที่เอาใส่เข้าไปในตัวแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งไม่ได้มองแต่เฉพาะแค่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นการเอาเสน่ห์ดั้งเดิมมาผสมผสานเข้ากับการบริโภคในยุคสมัยใหม่ที่ผู้บริโภคเน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก ในเรื่องการสื่อสารมีการขยายเพิ่มเติมในเมนูอาหารเข้าไป โดยให้ไอเดียกับผู้บริโภคว่ามะพร้าวน้ำหอมนอกจากกินน้ำและเนื้อสดๆ แล้ว ยังสามารถเอาไปเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูทั้งคาวหวาน และไม่ลืมใช้กลยุทธ์ Farm to Table บอกเล่าวิธีการผลิตตั้งแต่รากเหง้าไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ด้วย
“คนไทยมักเข้าใจว่ามะพร้าวของเราอร่อยที่สุด แต่นอกเหนือจากความอร่อย หรือคุณภาพของสินค้าแล้ว เรายังต้องใช้ภาพลักษณ์สื่อออกมาให้คนทั่วไปเห็นภาพตามนั้นด้วย ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด คือ การเอางานดีไซน์ที่ร่วมสมัยและเป็นสากลใส่เข้าไปจะทำให้คนให้ความสนใจมากขึ้น โดยต้องเป็นการออกแบบที่โลกต้องการ ไม่ใช่ออกแบบตามที่ตัวเองเห็นว่าดี เพราะสิ่งที่เรามองว่าดีทั่วโลกอาจไม่ได้มองเห็นตามนั้นก็ได้ อย่างสินค้าโอทอปในโลกนี้มีเยอะมาก แต่โอทอปที่ได้รับความนิยมในระดับโลกมีน้อยมาก ผู้ผลิตจึงมีหน้าที่ที่จะต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด แล้วที่เหลือผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ตามรสนิยมที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน”
สร้างใบเบิกทาง ด้วยรางวัลการันตี
นักปั้นแบรนด์รางวัลกูร์มองด์อวร์ด ยังกล่าวต่ออีกว่าการเอานวัตกรรมสร้างสรรค์การออกแบบมาใช้อย่างเป็นระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการสื่อสารแบรนด์ เป็นรูปแบบที่จะทำให้เสน่ห์ความเป็นไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น จนเกิดแรงผลักดันให้สินค้าเกษตรแปรรูปไทยไปสู่เวทีโลกได้ง่ายขึ้น
“ในกระบวนการรีแบรนด์ของแบรนด์ละไม ผมได้ทำหนังสือ Cook Book ส่งเข้าประกวดบนเวทีกูร์มองด์อวอร์ดด้วย เวทีนี้ถือเป็นเวทีออสก้าด้านอาหารที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือมาก ซึ่งละไมได้มา 2 ประเภทรางวัล คือ เฮล์ทตี้ดริ๊งค์ และคอร์ปอเรทแบรนด์ ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Local Food ของโลก ใบประกาศรางวัลที่เขาได้รับไม่เพียงการันตีในเรื่องคุณภาพของสินค้า แต่ยังยกระดับสินค้าสู่ความเป็นสากลด้วย จากเดิมที่เขาส่งออกโดยเอาความเป็นไทยไปขาย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มะพร้าวน้ำหอมไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยแค่ที่เดียว แต่ยังมีในประเทศอื่นๆ อีกเยอะ แต่ในวันนี้มะพร้าวน้ำหอมละไมแตกต่างจากมะพร้าวน้ำหอมทั่วโลกตรงที่มีโลโก้รางวัลกูร์มองด์ระบุความเป็น The best in The world ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ทุกตัว นั่นช่วยทำให้เขาคุยกับตัวแทนขายในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น เอเยนต์สามารถเอาไปใช้สร้างความเชื่อถือกับลูกค้าของเขาได้ การที่แบรนด์สินค้าสามารถเอาโลโก้ตัวนี้มาประทับตราลงบนแพ็กเกจจิ้งของตัวเองได้ นั่นหมายถึงการได้รับการยอมรับระดับโลก ซึ่งก็จะทำให้สินค้าถูกส่งไปในตลาดระดับโลกได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีโลโก้รางวัลรับรอง”
สุทธิ์พงษ์กล่าวเน้นย้ำในตอนท้ายว่า การนำสินค้าเกษตรแปรรูปก้าวสู่เวทีโลก ผู้ประกอบการ SME ต้องไม่หลงติดกับความได้เปรียบในการเป็นเมืองแห่งวัตถุดิบอาหารหรือนำเอาเสน่ห์ความเป็นไทยเดิมมาเป็นประเด็นหลักในการสร้างความแตกต่างบนเวทีโลก เพราะนั่นจะเป็นข้อจำกัดให้สินค้าไทยก้าวไปได้ไม่ไกลนัก แต่ให้เอานวัตกรรมสร้างสรรค์การออกแบบมาใช้เป็นเครื่องมือในการขยายความเป็นไทยออกไปเวทีโลกดีกว่า โดยไม่ต้องกังวลว่าเสน่ห์คุณค่าความเป็นไทยจะหายไป เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เปลี่ยนโลกทั้งใบไปแล้ว หาก SME รายไหนไม่เปลี่ยนแปลงตาม อย่าว่าแต่จะไปเวทีโลก แม้แต่ในเวทีในประเทศเองก็อาจถูกเขี่ยตกขอบเวทีได้!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี