Main Idea
- ภาพจำของผ้าไหมในสายตาของคนทั่วไปอาจดูเป็นของล้ำค่า เป็นผืนผ้าทอราคาสูง เหมาะสำหรับสตรีรุ่นแม่หรือผู้หญิงสูงอายุเท่านั้น แต่ผ้าไหมในความคิดของสาวรุ่นใหม่อย่าง ภัสซา จีระนันทกิจ เจ้าของแบรนด์ PASSA silkwear นั้นมีความเปรี้ยว เก๋ เข้าถึงง่าย ใส่ได้ทุกวัน
- เป้าหมายของแบรนด์ PASSA silkwear คือเปลี่ยน Mindset คนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าและหันมาใส่ผ้าไทยมากขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนผ้าทอของชุมชนด้วย
ภาพจำของผ้าไหมในสายตาของคนทั่วไปนั้นอาจดูล้ำค่า เป็นผืนผ้าทอราคาสูง เหมาะสำหรับสตรีรุ่นแม่หรือผู้หญิงสูงอายุเท่านั้น แต่ผ้าไหมในความคิดของสาวรุ่นใหม่อย่าง ภัสซา จีระนันทกิจ นั้นแตกต่างออกไป เธอคลุกคลีกับผ้าไหมตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากคุณแม่ของเธอหลงใหลและมักจะซื้อผ้าไหมมาเก็บสะสมเอาไว้ ความชอบผ้าไหมจึงส่งต่อมายังภัสซา แต่ด้วยความที่เป็นสาวสายแฟชั่น รักการแต่งตัว การใส่ผ้าไหมแบบเดิมๆ อาจจะไม่เข้ากับสไตล์ของเธอ ภัสซาจึงเริ่มต้นปรับลุคผ้าไหมให้ดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้แก้ม (ภัสซา) เป็นแอร์โฮสเตส แล้วเราสังเกตว่ารุ่นพี่ที่เป็นแอร์ฯ เหมือนกันเวลาไปงานแล้วเขาเช่าชุด มันจะเหมือนๆ กันไปหมด ทำไมถึงไม่มีใครทำร้านเช่าชุดที่เป็นแนวอื่นบ้าง ทำไมเป็นโทนเดียวกันหมด เราจึงเริ่มต้นจากการทำร้านเช่าชุด พอเริ่มทำ ก็จะมีช่างประจำที่ตัดชุดราตรีเข้าร้าน แก้มจะชอบให้เขาตัดเสื้อผ้าให้เราใส่โดยเฉพาะ โดยส่วนตัวแล้วแก้มชอบผ้าไหมไทย เลยเลือกผ้าไหมให้ช่างที่ร้านตัดให้ใส่ในชีวิตประจำวันได้”
หลังจากนั้นผ้าไหมไทยในสไตล์ภัสซาจึงถูกดีไซน์ออกมาในรูปแบบของเสื้อสายเดี่ยว ชุดเดรสสั้น ไปจนถึงกางเกง ช่วงเริ่มแรกผ้าไหมไทยแบบ Everyday Wear ที่ดูทันสมัยนั้นมาจากความชอบและสไตล์ชองภัสซาล้วนๆ แต่ความชอบของเธอนั้นกลับโดนใจสาวๆ รุ่นใหม่อีกมากมายที่กำลังมองหาทางเลือกการใส่ผ้าไทยที่ดูเปรี้ยว ดูเก๋ไก๋และไม่เชย
“เริ่มจากคนที่ติดตามแก้ม เวลาลงรูปแล้วเขาเห็นเราใส่ก็มาถามว่าราคาเท่าไหร่ อยากใส่บ้าง เริ่มมีคนสั่งตัดตาม เราจึงเริ่มทำเป็น Ready-to-wear ทุกชุดแก้มจะออกแบบเอง เน้นสไตล์ที่วัยรุ่นมาก กระโปรงสั้น สายเดี่ยว เกาะอก ไม่ตีตลาดผู้ใหญ่เลยเพราะกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่เขาก็ใส่ผ้าไหมอยู่แล้ว แต่เราอยากให้วัยรุ่นหันมาใส่ผ้าไหมกันมากขึ้น”
ภัสซาได้เล่าเคล็ดลับการออกแบบและการเลือกผ้าไหมให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเธอจะเดินทางไปเลือกผ้าด้วยตัวเองในแต่ละพื้นที่
“ถ้าเราอยากได้ลายประมาณนี้จะต้องไปจังหวัดนี้ เช่น อำเภอปักธงชัย โคราช จะทำเป็นโทนพาสเทล ลายไม่โบราณจนเกินไป ส่วนบุรีรัมย์จะเข้มขึ้นมาหน่อย แต่ละพื้นที่เขาก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง”
อีกหนึ่งเหตุผลที่ภัสซาอยากปรับลุคผ้าไหมให้วัยรุ่นเข้าถึงง่ายเพื่อต้องการสนับสนุนชาวบ้านที่ทอผ้าไทย เนื่องจากเธอมองเห็นปัญหาอย่างหนึ่งคือคนทอผ้ากำลังจะหายไปจากประเทศของเรา
“ตัวเราเองชอบไปเดินงาน OTOP ก็จะเจอกลุ่มคุณป้า คุณยาย บางทีเราก็ตามไปหาเขาที่จังหวัดเลย คนที่ทอผ้าก็อายุเยอะกันหมดแล้ว เราถามว่าถ้าหมดรุ่นคุณยายใครจะทอต่อ เขาก็บอกว่าคงไม่มีเหมือนกัน ถ้าเราไม่อุดหนุนก็จะไม่มีผ้าไทยต่อไปในอนาคต เราชอบผ้าไทยมาก ลูกค้าบางคนมาตัดชุดแล้วขอแหล่งซื้อผ้า แก้มยินดีมาก เพราะอยากให้ช่วยกันอุดหนุนคนทอผ้าไทย”
อุปสรรคสำหรับคนอยากใส่ผ้าไหมอีกเรื่องหนึ่งคือราคา เนื่องจากผ้าไหมมีราคาสูง ยิ่งนำมาใช้ตัดเสื้อผ้า ทำแบรนด์ให้ราคาสูงขึ้น แต่เบื้องหลังราคาที่สูงนั้นคือคุณค่าของผ้าไทยที่ถูกถักทอขึ้นมาแต่ละเส้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งหมู่บ้าน ใช้ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาทั้งชีวิตของคุณยาย ถ่ายทอดออกมาเป็นผ้าไหมหนึ่งผืน
“การทำผ้าไหมหนึ่งผืน ขั้นตอนมันยาวมากประมาณ 3 เดือน และไม่ใช่ว่าบ้านนี้เป็นของคนนี้ทำคนเดียว แต่จะเป็นบ้านหลังนี้ทำขั้นตอนนี้ อีกหลังทำขั้นตอนนี้ ต้องให้ทุกคนในชุมชนช่วยกัน การที่เราไปอุดหนุนผ้าไทยไม่ใช่แค่การอุดหนุนบ้านหลังใดหลังหนึ่งแต่เป็นการอุดหนุนคนทั้งชุมชน สมมติว่าผ้าผืนละ 1 เมตร 80 เซนติเมตร ใช้เวลา 3 เดือน ผ้า 1 ผืน ต้องหารกัน 10 คน ก็ตกแค่คนละไม่กี่บาทเอง เราไม่ได้มองว่าผ้าไหมแพง แต่เรามองว่ามันคุ้มค่ากับแรงงานและกระบวนการที่ผ่านมาของเขา คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผ้าผืนนี้ถูกทำมา 18 ขั้นตอนหรือใช้คนในบ้านกี่หลังช่วยกันทำ เขาจะมองแค่ว่าผ้าผืนนี้มันแพง หลายพัน บางผืนแตะ 2 หมื่น คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ามันแพงเพราะอะไร เรารู้สึกว่าถ้าทำให้คนเข้าใจและรู้ว่าผ้าไหมหนึ่งผืนมีคุณค่าเพราะอะไร ผ่านอะไรมาบ้าง น่าจะทำให้คนเห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับผ้าไหมมากขึ้น”
สิ่งที่สาวสวยอดีตแอร์โฮสเตสลุคเปรี้ยวได้บอกกับเราคือ ผ้าไหมไม่ใช่แค่ผ้าผืนหนึ่งที่ถูกทอขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมแรงกายแรงใจของคนในชุมชน ถักทอด้วยฝีมือล้ำค่าของคุณยายที่ตีเป็นราคาไม่ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี