‘New Retail’ โลกใหม่ธุรกิจค้าปลีกต้องฉีกกฎ!





 Main Idea
 
  • เวลาเปลี่ยน พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยน การทำธุรกิจค้าปลีกก็ต้องปรับตัวเพื่อหนีการถูก Disruption ด้วยยุทธวิธีที่เรียกว่า New Retail  หรือการทำธุรกิจหลายช่องทางแบบไร้รอยต่อ
 
  • ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่นอกจากต้องใส่ใจเรื่องช่องทางการขายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความแข็งแกร่งของพื้นฐานธุรกิจและระบบหลังบ้านที่จะช่วยซัพพอร์ตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไม่มีสะดุด
 
  • เคล็ดลับการสร้างธุรกิจค้าปลีกให้ปังในยุคนี้ อยู่บนพื้นฐานของการแก้ Pain Point ให้กับผู้บริโภคให้ได้





     ‘การเปลี่ยนแปลง’ คือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจค้าปลีกยุคนี้ ผู้ประกอบการ SME รุ่นเก่าหลายคนยังมีความเชื่อแบบเดิม ทำธุรกิจรูปแบบเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยนไป ทำให้ร้านค้าปลีกในโลกใหม่ต้องปรับตัวเพื่อหลีกหนีการถูก Disruption ก่อนธุรกิจจะต้องล้มหายตายจากไป  


     คำว่า New Retail จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจค้าปลีกที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญและเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันกับความเป็นไปของโลก





     วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร 
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงความยากของการทำธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ในงานสัมมนาโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยเปิดประเด็นด้วยคำว่า ‘คนที่ไม่เปลี่ยนคือคนที่ตายไปแล้ว’ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง


     “การทำธุรกิจรีเทลไม่ง่าย ผมทำงานธนาคารมา 22 ปี แม้แต่โลกรีเทลธนาคารยังมีขึ้นมีลง เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้เราอยู่นิ่งไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อะไรจะมา แต่เรารู้แน่ชัดได้เลยว่าถ้ายังอยู่เหมือนเดิม เราตายแน่นอน”
 
  • New Retail ค้าปลีกยุคใหม่ที่ต้องจับตา

     สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายคนกำลังหวาดกลัวคงหนีไม่พ้นเรื่องของการถูก Disrupt ลองนึกภาพว่าคุณฝึกฝนวิชาดาบมาเป็น 10 ปี แต่อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาปืนมายิงคุณดังเปรี้ยงแล้วคุณก็ล้มลงโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณกันแน่? การทำธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ก็เช่นกัน





     วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมค้าปลีกและ CEO ของบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ที่รู้จักกันดีในชื่อ
OfficeMate จากจุดเริ่มต้นร้านขายเครื่องเขียนห้องแถวเล็กๆ เติบโตมาถึงระดับพันล้าน เขาได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนไปในธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่จะเข้ามาแทนค้าปลีกแบบเดิมๆ เรียกว่า New Retail หรือ Omni Channel


     “Disrupt คือการที่คุณทำธุรกิจค้าปลีกอยู่ดีๆ แล้วก็มีธุรกิจหนึ่งมาทำให้คุณล้มหายตายจากอย่างรวดเร็ว เกิดมาแล้วกับ Nokia, Kodak ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งโลกกลัวมากว่าจะโดนอะไรเข้ามาแทนที่ คำตอบคือ New Retail แต่ก่อนเรียก Omni Channel คือการทำธุรกิจหลายช่องทางแบบไร้รอยต่อ ซึ่งธุรกิจบนโลกนี้ที่ทำได้จริงๆ มีน้อยมาก เช่น Amazon และซูเปอร์มาเก็ตของ Alibaba ที่ชื่อ Hema เป็นต้น”





     โดยวรวุฒิได้อธิบายเพิ่มเติมสำหรับค้าปลีกที่จะก้าวขึ้นมาเป็น New Retail ในยุคนี้ว่าต้องเก่งกาจในการทำ Omni Channel เขากล่าวว่าผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำระบบดังกล่าวนั้นล้วนมาจากฝั่งของคนทำออนไลน์มาก่อน เนื่องจากการทำ Omni Channel ให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน

1.Digital Content เพราะการขายออนไลน์ต่างจากออฟไลน์ ต้องมีการถ่ายภาพสินค้าให้ดึงดูดใจ เล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร ทำคลิปวิดีโอ หากทำคอนเทนต์ไม่น่าสนใจก็จะกลายเป็นจุดอ่อน ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกยุคเก่ายังมีความเชี่ยวชาญในจุดนี้น้อยกว่าผู้ประกอบการออนไลน์

2.Big Data ข้อมูลของลูกค้านั้นสำคัญมากในการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ต้องมีการเก็บข้อมูลให้ละเอียดเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า

3.Logistic ผู้ประกอบการค้าปลีกยุคเก่าอาจไม่ชินกับการออกไปส่งของให้ลูกค้าชิ้นต่อชิ้น ต่างจากผู้ค้าออนไลน์ที่สามารถส่งได้ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ


     “ผมว่าทุกคนที่ทำธุรกิจค้าปลีกต้องหันมามองออนไลน์ ทั้งสินค้าและบริการ ผมไม่อยากให้คิดไกลเกิน ลองมองก่อนว่าเรามีเฟซบุ๊กหรือยัง ถ้ามีแล้ว อัพเดตบ้างหรือไม่ แต่ก่อนอื่นเรื่องของพื้นฐานคุณก็ต้องแน่น ขายสินค้าที่มีคุณภาพ เซอร์วิสต้องดี ระบบหลังบ้านทำงานดีแค่ไหน ทำบัญชีและสต็อกสินค้าบ้างหรือไม่ อันดับแรกหากอยากเปลี่ยนแปลงคือเริ่มจากระบบบัญชีและสต็อก ผมอยากเชียร์ให้ทุกคนทำบัญชีเดียวและเสียภาษีถูกต้อง ลองกลับไปทบทวนตัวเอง ดูว่าธุรกิจของคุณทำงานเป็นระบบหรือยัง”


     ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่นอกจากต้องใส่ใจเรื่องการทำ Omni Channel แล้ว เขายังเน้นย้ำเรื่องความแข็งแกร่งของพื้นฐานธุรกิจและระบบหลังบ้านที่จะช่วยซัพพอร์ตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไม่มีสะดุด

 
  • เจาะลึกเทรนด์ค้าปลีกออนไลน์

     หากพูดถึงประเทศที่มีการจับจ่ายใช้สอยบนโลกออนไลน์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน ที่มีสัดส่วนการชอปปิงออนไลน์ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ส่วนประเทศไทยยังมีสัดส่วนการชอปปิงในตลาดออนไลน์เพียงแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังมีช่องว่างอีกมากมายในตลาดนี้ที่รอให้คุณก้าวเข้าไป เพียงแค่คุณต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะช้าเกินไป





     ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา
 นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ให้ตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้าปลีกออนไลน์ไว้ว่าคนไทยใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่หากเจาะลึกถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานสมาร์ตโฟนพบว่าคนไทยใช้เวลากับสมาร์ตโฟนเป็นอันดับ 1 ของโลก ลองมองไปถึงมูลค่าของการชอปปิงออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทและจะโตขึ้นทุกปี ปีละ 30 เปอร์เซ็นต์จนแตะ1.2 ล้านล้านบาทภายในปี 2568 หากผู้ประกอบการคนไหนที่อยากจะเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ต้องรีรออีกต่อไปเพราะนี่คือสิ่งที่คุณควรทำตั้งแต่ตอนนี้


     “3 ช่องทางหลักที่ผมอยากแนะนำให้ SME ใช้ในการขายออนไลน์คือ 1.Social Media เนื่องจากคนไทยติดเฟซบุ๊ก ชอบยูทูป ชอบตามเทรนด์ใหม่ๆ และตอนนี้โซเชียลมีเดียไม่ใช่ช่องทางการสร้างปฏิสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่คือช่องทางในการขายด้วย 2. Website เปรียบเสมือนบ้านของคุณ ที่สามารถควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองได้ อยากขายตัวไหนก็ได้ อยากเก็บข้อมูลลูกค้าก็ทำได้ อีกทั้งยังช่วยให้ไม่พลาดโอกาสจากลูกค้าที่ชอบค้นหาใน Google ก่อนซื้อสินค้าอีกด้วย 3.Marketplace เป็นช่องทางการขายที่ SME ต้องมี ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางอาจจะไม่จำเป็นต้องขายสินค้าแบบเดียวกัน เช่น คุณอาจจะใช้กลยุทธ์ว่าสินค้าไหนที่อยากให้เป็นตัวท็อป มี Exclusive เท่านั้น ก็ขายเฉพาะใน Website สินค้าไหนที่จัดโปรโมชั่น ต้องการขายจำนวนเยอะๆ ลดราคา ให้ลงขายใน Marketplace ส่วนสินค้าไหนที่ลูกค้าน่าจะถามเยอะๆ เน้นให้ข้อมูลก็ลงขายใน Social Media เป็นต้น”


     โดยธนาวัฒน์ได้ยกตัวอย่างของการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่เรียกว่า New Retail สอดคล้องกับที่วรวุฒิได้ให้ข้อมูลไว้ อย่าง Hema ซูเปอร์มาเก็ตของ Alibaba ที่เปลี่ยนค้าปลีกแบบเดิมให้กลายเป็น New Retail ที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากร้านค้าปลีกทั่วไปอยู่ 3 ข้อนั่นคือ 1.Digital Grocery Store การเข้าไปชอปปิงที่นี่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ทุกสินค้าจะมีข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งการจ่ายเงินยังผูกกับ Alipay ด้วย 2.Restaurant ภายในซูเปอร์มาเก็ตจะมีส่วนของร้านอาหารที่มีความสดใหม่ 3.Real time E-commerce ภายในร้านจะมีสิ่งที่เรียกว่าศูนย์กระจายสินค้า ให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นและสามารถจัดส่งถึงบ้านที่อยู่ในระยะของร้านได้ภายใน 30 นาที ทั้งหมดนี้คือการออกแบบประสบการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันจนสามารถทำให้ Hema มียอดขายที่เติบโตกว่าธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ได้

 
  • แชร์เคล็ดลับสร้างธุรกิจค้าปลีกให้ปัง

     อาจเรียกได้ว่าธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้คือธุรกิจปราบเซียน ผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ปรับตัวเร็วกว่าจะกลายเป็นผู้อยู่รอด  ส่วนใครที่ไม่มีจุดเด่น เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทันก็จะแพ้พ่ายไปในเกมนี้





     สมยศ เชาวลิต
 กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป อดีตเด็กวัดที่ทำงานหาเงินส่งเสียตัวเองเรียนจนในที่สุดเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านอย่าง J.I.B. ขึ้น ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 5 ปีคือจุดเริ่มต้นที่สมยศเริ่มมองหาหนทางขยายธุรกิจจากเดิมที่เน้นการขายรูปแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียว


     “ผมมีโอกาสได้ฟังสัมมนาการตลาด เขาบอกว่าในอนาคต หน้าร้านจะตายกันหมด คนจะซื้อของออนไลน์ ผมตกใจมาก เลยคิดว่าเราจะต้องทำอย่างไรดี ซึ่งเรามีเว็บไซต์อยู่แล้ว สิ่งที่ผมทำคือเพิ่มปุ่มซื้อขายเข้าไป ยอดขายจากปุ่มนั้นเพิ่มขึ้นถึง 8 แสนบาท ซึ่งตอนเริ่มต้นขายออนไลน์ผมลงมาทำเอง เริ่มศึกษาดูว่าจะทำยังไงให้ขายได้ เราเลยทดลองด้วยการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ดังๆ ปรากฏว่ารอของเกินกำหนด กลายเป็นว่าเหมือนเขาเล่นกับความรู้สึกเรา”


     หลังจากนั้นสมยศจึงเกิดไอเดียในการพัฒนาระบบออนไลน์ของเขาให้บอกลูกค้าได้เลยว่าจะส่งสินค้าวันไหน อีกทั้งยังเพิ่มความเร็วเข้าไปด้วยการส่งสินค้าถึงมือภายใน 3 ชั่วโมง ส่งตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหนึ่งในการนำ Pain Point มาพัฒนาและตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้





     ทางด้าน อริยะ จิรวรา ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ SOS – SENSE OF STYLE หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เล็งเห็นปัญหาของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สายแฟชั่นที่มีข้อจำกัดในเรื่องของหน้าร้าน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังต้องการทดลองสินค้า อยากเห็นของจริง ได้สัมผัสสินค้าก่อนซื้อ เขาจึงได้ก่อตั้งร้านขายสินค้าแบบ Multi-Brand Stores ขึ้นในชื่อ SOS ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างลูกค้าและผู้ประกอบการออนไลน์ให้ได้มาเจอกัน


     “จริงๆ มีคนถามเยอะมากว่าทำไมกล้าทำสวนกระแส กล้าเปิดร้านแบบออฟไลน์เพราะที่ผ่านมาทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องขายออนไลน์ แต่สำหรับผม เวลาจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมองเห็นปัญหาก่อนแล้วเราจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ถ้าเราคิดวิธีแก้ไขได้ นั่นแหละ คุณกำลังจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว ผมเล็งเห็นปัญหาที่แบรนด์ออนไลน์ทุกคนต้องเจอ เราคิดว่าสิ่งที่ทำมันเป็นไปได้”





     อริยะได้กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ยังอยู่ได้ในยุคที่ร้าน Multi-Brand Stores บูมนั่นคือความแตกต่างและเป็นตัวเอง อยากทำธุรกิจต้องแตกต่าง อย่า Copy แล้ว Paste อีกทั้งต้องมีเป้าหมาย อย่างตัวเขาเองมีเป้าหมายหลักคือการพาแบรนด์ไทยไปไกลระดับโลก จึงทำให้เขาคิดอย่างรอบด้านและสนับสนุนแบรนด์ในร้านอย่างเต็มที่และนี่คือจุดแข็งของ SOS จนกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่โดดเด่นท่ามกลาง Red Ocean


     ปิดท้ายด้วยสมยศ เขากล่าวว่าหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจค้าปลีกคือเรื่องของการให้บริการ ต้องแนะนำลูกค้าให้ตรงจุด รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วธุรกิจของเราควรจะมอบสินค้าแบบไหนให้แก่พวกเขา หากลูกค้ามีการติชมในเรื่องของการบริการ ธุรกิจจะต้องน้อมรับและปรับปรุงโดยด่วน อย่าวางเฉย หากคุณทำได้ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด
 




     ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโลกค้าปลีกยุคใหม่จากงานสัมมนาโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 ซึ่งได้จัดขึ้นเพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปีนี้จะเน้นสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีก พร้อมจัดคอร์สอัพความรู้หนุน SME โตอย่างสตรองด้วยงานสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ อีกทั้งยังมีแคมป์อบรมเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ปิดท้ายด้วยการเฟ้นหาผู้ประกอบการตัวจริงจาก 2 กลุ่มทั้งกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีกเพื่อรับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวม 1 ล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรของโครงการ


     เพราะก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงนั้นยากเสมอ คลื่นแห่ง Disruption กำลังถาโถมใส่ทุกคนอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการ SME ต้องเริ่มขยับตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อก้าวเข้าสู่โลกค้าปลีกยุคใหม่ก่อนใคร  


     ติดตามกิจกรรมดีๆ ของธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ Facebook K SME




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย