Eureka Coffee Tap เปิดสูตรครีเอทีฟคาเฟ่ ใช้วัตถุดิบไทยใส่กาแฟ




Main idea
 
  • ธุรกิจจะยั่งยืนได้ไม่ใช่เพราะความแปลกหรือแค่ทำตามกระแส แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างมีเหตุผลเพราะไม่เช่นนั้นความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นแค่ความเพ้อเจ้อ
 
  • Eureka Coffee Tap ศูนย์รวมเมนูสุดแปลกที่ดูไม่เข้ากันแต่กลับอร่อยล้ำจนลูกค้าหลายคนติดใจ เช่น เมนูไข่เค็มลาเต้ ชาไทยทุเรียน แต่ละเมนูนั้นมีกระบวนการคิดมาจากความต้องการของลูกค้าผสานกับความชอบของตนเองจนกลายเป็นเมนูสุดสร้างสรรค์ที่หาดื่มไม่ได้จากที่อื่น




     ธุรกิจจะยั่งยืนได้ไม่ใช่เพราะความแปลกหรือแค่ทำตามกระแส แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างมีเหตุผลเพราะไม่เช่นนั้นความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นแค่ความเพ้อเจ้อ แต่มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งที่เขาไม่ได้โดดเด่นแค่ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ทางร้านยังมีกระบวนความคิดที่ชัดเจนทั้งเรื่องการสร้างสรรค์เมนูที่แตกต่างไปจนถึงโมเดลการขยายธุรกิจที่น่าสนใจ




     Eureka Coffee Tap คือร้านกาแฟที่เรากำลังพูดถึง จาทัตยา กิตติบัณฑรและภูมิรัตน์ รังคสิริ ทั้งคู่เคยทำงานวงการโฆษณาและได้กระโดดออกนอกกรอบมาร่วมกันก่อตั้งร้านกาแฟสุดครีเอทีฟนี้ขึ้น เมนูของทางร้านจะเน้นการนำวัตถุดิบสไตล์ไทยๆ ใส่ลงไปในทุกเครื่องดื่มผสมผสานกับกาแฟ Cold Brew จากเครื่อง Nitro Tap ที่พวกเขาบอกว่า ‘เครื่องนี้น่าจะมาเปลี่ยนโลกกาแฟได้’


     ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้วจะเห็นว่าร้านกาแฟได้ผุดขึ้นมากมาย สิ่งที่เห็นได้ชัดกว่าคือความเหมือนกันในเรื่องของรสชาติที่แทบไม่แตกต่าง แต่ละร้านกลับใช้ความต่างในเรื่องของสถานที่ การตกแต่งเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจมากกว่าเรื่องของการพัฒนาเครื่องดื่ม จุดนี้เองที่ทำให้พวกเขาอยากเข้ามาสร้างอะไรใหม่ๆ ให้โลกของกาแฟ จาทัตยาเป็นผู้เล่าเรื่องราวเริ่มต้นของ Eureka ให้เราได้ฟัง
 



     “จริงๆ มันเริ่มมาจากที่พี่กานต์ (ภูมิรัตน์) เป็นคนชอบทำกาแฟ ส่วนกิ๊ฟ (จาทัตยา) ชอบทำอาหาร อย่างที่บอกว่าเรามีความ Eureka เป็นการค้นพบ ค้นเจอวัตถุดิบในกาแฟ อย่างไข่เค็มกับกาแฟมันดูไม่เข้ากัน แต่เราอยากถ่ายทอดออกมา หาวิธีว่าทำยังไงให้สามารถเอามาเป็นเครื่องดื่มที่เข้าใจง่าย รสชาติถูกปาก ส่วนหน้าตาก็ต้องเน้นสวยงามด้วย ตอนนั้นเราสนใจเครื่องกาแฟ Nitro Tap เครื่องกาแฟที่อัดก๊าซไนโตรเจน เรามองว่าตัวนี้น่าจะมาเปลี่ยนโลกกาแฟได้ เราเริ่มต้นจากการนำเครื่องนี้ไปขายในร้านกาแฟ เพราะเราเล็งเห็นปัญหาของร้านกาแฟว่าต้องพึ่งบาริสต้าในการชงกาแฟแต่ละแก้ว แต่เรามองกาแฟนั้นไปได้ไกลมาก ไปๆ มาๆ เราจึงเริ่มต้นทำร้านนี้ขึ้น” เธอเล่า


     ไฮไลท์ของร้าน Eureka Coffee Tap อยู่ตรงเมนูสุดสร้างสรรค์ที่พวกเขาได้นำวัตถุดิบของไทยมาผสมผสานกับกาแฟ Cold Brew ไปจนถึงชาเย็น ชาเขียวและอื่นๆ จนกลายเป็นเครื่องดื่มแฟนซีที่หาทานไม่ได้จากที่ไหน ต้อง Eureka เท่านั้น อาทิ ลาเต้ไข่เค็ม ชาเย็นทุเรียน มัทฉะใบเตย ความพิเศษคือพวกเขาจะมีการคิดค้นไซรัปสูตรลับเฉพาะที่เข้ากับเครื่องดื่มแต่ละเมนู ซึ่งจะเน้นรสชาติหวานจากธรรมชาติเท่านั้น หากคุณมีโอกาสได้ลิ้มลองเครื่องดื่มของ Eureka จะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่ล้ำลึกกว่าเครื่องดื่มจากร้านทั่วไปที่จะใส่น้ำตาลหรือนมข้นหวาน




     “น้ำตาลที่ทางร้านใช้จะมีหลายอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นความหวานจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลมะพร้าว ตอนแรกเราจะตั้งโจทย์มาจากการที่ลูกค้าต้องการอะไรและเราใส่ความเป็นเราเข้าไปในสิ่งนั้น โดยพื้นฐานต้องมีคนต้องการก่อน อย่างน้ำตาลที่ใช้ทำซอสคาราเมลไข่เค็มก็เป็นน้ำตาลอีกแบบหนึ่ง ทุกเมนูจะมีน้ำตาลเฉพาะ ความหวานมันก็มีหลายแบบ น้ำตาลบางตัวมีความหวานแหลม บางตัวหวานแบบนุ่มๆ บางตัวหวานหอมอย่างน้ำตาลมะพร้าว บางตัวมีสี บางตัวไม่มีสี ทุกอย่างมันไม่เท่ากัน คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณอยากได้อะไร แล้ววัตถุดิบในโลกนี้มันมีเยอะมาก จากนั้นเราก็ Test วัตถุดิบ สมมุติว่าเราเอาน้ำตาลมะพร้าวเราก็เอามาจาก 6 ที่ เราก็มาชิมหาที่ที่เราชอบที่สุด”
               

     ความสร้างสรรค์คือ 1 ในเหตุผลที่ทำให้ Eureka ประสบความสำเร็จ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือโมเดลในการขยายธุรกิจที่พวกเขาคิดแปลกและแตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ภูมิรัตน์ได้เล่าถึงแนวคิดในการขยายสาขา จากร้านแรกที่ศาลาแดง สู่สาขาที่ 2 3 และ 4 ในเวลาต่อมา
               



     “คอนเซปต์ที่เราคิดในการใช้เครื่อง Nitro Tap ทำกาแฟ Cold Brew มาจากโซลูชั่นที่มาจากปัญหาว่าคาเฟ่ดีๆ นั้นขยายตัวยากมาก เพราะต้องพึ่งฝีมือของบาริสต้า เราต้องอาศัยคนมีฝีมือมาลดความไม่แน่นอนของรสชาติในแต่ละแก้ว พอเห็นปัญหานี้เราเลยหาโซลูชั่นที่ทำกาแฟออกมาจากส่วนกลาง เรามีครัวกลาง ซอส ไซรัปทุกอย่างเราทำมาจากครัวกลางหมด ซึ่งความคิดนี้มาก่อนที่เราจะเปิดสาขาแรก ถ้าเราทำได้เราจะสามารถขยายธุรกิจนี้ได้โดยที่รสชาติยังเหมือนเดิม”
               

     จากจุดนั้นทำให้ร้าน Eureka เกิดใหม่อีก 3 ร้าน ตั้งอยู่ที่ช่องนนทรี, Icon Siam และหัวหิน ซึ่งแต่ละสาขามีความแตกต่างในเรื่องของโลเคชั่น แต่ความเหมือนกันคือ DNA ของ Eureka ที่ถอดแบบมาเป๊ะไม่ว่าร้านจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม
               



     “ต้องบอกว่า Eureka นั้นสุดโต่ง 2 ด้าน ด้านแรกเลยคือ Fancy Drink สุดโต่งด้านความสร้างสรรค์บวกกับราคา ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะกินได้ทุกวัน อาจจะเหมาะกับในห้างหรือหัวหิน อีกด้านเราคือ Classic Drink ลาเต้ อเมริกาโน่ เราทำกาแฟในโหมด Specialty แต่เราขายราคาที่แตกต่างกันระหว่าง 2 อย่างนี้ให้เห็นชัดเลย จุดนี้ทำให้เราได้ลูกค้าประจำ เหมาะกับย่านศาลาแดง ช่องนนทรี ถ้าถามว่าร้านเราเหมาะกับที่ไหนที่สุดใน 4 โลเคชั่น เราตอบได้ว่าเราเหมาะหมดเลย แค่ต้องปรับการโปรโมตให้เหมาะกับแต่ละที่เพราะเรามีสินค้าที่ตอบโจทย์หมดแล้ว ร้านเดียวกัน เครื่องดื่มรสชาติเดียวกัน ต่างตรงกลุ่มลูกค้าในแต่ละที่ที่แตกต่างกัน”
               

     ความได้เปรียบของ Eureka คือความสามารถในการจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายตั้งแต่วัยรุ่น คนทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัว อีกทั้งมาตรฐานเครื่องดื่มของ Eureka ก็เป๊ะทุกแก้วซึ่งเกิดจากความตั้งใจในการขยายธุรกิจที่จะตัดปัญหาการผลิตที่หน้าร้านลง จนพวกเขาสามารถแตกยอด Eureka จาก 1 สาขาเป็น 4 สาขาในระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นและนี่คือแง่คิดดีๆ ปิดท้ายจากหนุ่มสาว Eureka “เข้าใจตัวเองแล้วก็เข้าใจว่าเราอยากขายใคร เขาต้องการอะไรและเราอยากนำเสนออะไร ถ้าเจอจุดนั้นก็อยู่กันได้ยาว”
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน