คุยกับ IMEX เจ้าแห่งนวัตกรรมกับวิธีคิดที่ทำให้ธุรกิจอยู่สตรองในทุกสภาวะ

Text : ขวัญดวง แซ่เตีย Photo : สรรค์ภพ จิรวรรณธร
 

 

Main Idea 
 
  • ในช่วงเศรษฐกิจขาลงผู้ประกอบการ SME จะรับมืออย่างไร สำหรับ IMEX  เจ้าแห่งนวัตกรรมโมเสกแก้ว (Glass Mosaic) พวกเขาสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองที่เรียก “นวัตกรรม” คิดแบบ Inside-out ใช้ความเพียร และสติปัญญา นำพาธุรกิจไปสู่โอกาสใหม่ๆ
 
  • คำว่านวัตกรรมไม่ได้หมายถึงแค่ผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่คือการปรับปรุงกระบวนการทำงาน หาคำตอบว่า ต้นทุนถูกกว่านี้ได้ไหม ทำเร็วขึ้นได้ไหม ทำดีกว่านี้ได้ไหม นี่คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ 
 



     ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อลดลง ส่งออกมีปัญหา และสารพัดโจทย์หนักๆ ที่โถมเข้ามาใส่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ประกอบการ SME ต้องรับมืออย่างไร ธเนศ พรพิพัฒน์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมเม็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้สร้างชื่อให้  IMEX  เจ้าแห่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลมาหลากหลายเวที การคลุกคลีอยู่กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ กลายเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ที่ทำให้ธุรกิจยังแข็งแกร่งได้ในทุกสถานการณ์ และเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันยุคนี้


 
  • ตลอด 25 ปี IMEX เติบโตมาจากอะไร

     เราให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” ซึ่งคนทั่วไปอาจมองแค่ด้านโปรดักต์ แต่สำหรับเรา ยังรวมถึงนวัตกรรมที่จับต้องไม่ได้ด้วย  นั่นคือการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เรื่องนี้ต้องอยู่ในความคิดของพนักงานทุกคน เวลากระชุมผมจะตั้งคำถามเสมอว่า ต้นทุนถูกกว่านี้ได้ไหม ทำเร็วกว่านี้ได้ไหม ทำดีกว่านี้ได้ไหม ทำให้เขาต้องคิดตลอดเวลาว่าต้องทำยังไง


     ในส่วนของโปรดักต์ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น เราเริ่มจากการซื้อมาขายไปกระเบื้อง แล้วก็มามีโรงงานผลิตของตัวเอง เราปรับตัวมาตลอด 25 ปี  จนตอนนี้มีสินค้าอยู่ 3 รุ่น ตั้งแต่กระจกที่เรียก Casting Glass คือหล่อออกมาเป็นกระจกแผ่นใหญ่ เข้าสู่ยุคที่ 2 ก็ออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ โดยเอาแก้วมาทำเป็นคิ้วแก้ว จากเดิมบ้านเราจะเป็นคิ้วเซรามิก หรือไม่ก็คิ้วกระเบื้อง จึงเป็นทางเลือกที่แปลกใหม่ให้กับตลาด พอเทรนด์โลกเปลี่ยน คนเลิกนิยมกระเบื้องแผ่นเล็ก หันไปใช้กระเบื้องแผ่นใหญ่ขึ้น เราก็ปรับตัวมาเป็นโมเสกแก้ว (Glass Mosaic)  สาเหตุเพราะตัวคิ้วเดิมที่มีอยู่ใหญ่ไม่เท่ากระเบื้องแผ่นใหญ่ ต้องทำเป็นชิ้นเล็กๆ มาต่อกันถึงจะทำได้ รวมทั้งมองเห็นถึงโอกาสในตลาดสระว่ายน้ำ ซึ่งเริ่มมีขนาดที่เล็กลง ทำให้โมเสกแก้ว ตอบโจทย์ได้ดีกว่าในการตีโค้งสระว่ายน้ำ


     ซึ่งเราได้รางวัลนวัตกรรมจากผงเศษกระจก ก็มาจากการคิดในด้านที่เป็น Inside-out ปีๆ หนึ่ง เรามีกระจกที่ทิ้งไปเยอะมาก ทั้งแบบที่ยังไม่ได้เผา กับที่เผาเสร็จแล้ว ประเด็นคือกระจกย่อยสลายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะซี้ซั้วทิ้งก็ไม่ได้ ก็ต้องให้บริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการทิ้งขยะพวกนี้มารับไป แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเอามาทำประโยชน์ต่อได้ จึงเริ่มคุยกันว่า ทำยังไงให้ต้นทุนตรงนี้หมดไป เลยเป็นที่มาของการบดเศษกระจกเป็นผงเพื่อใช้ในการผลิตโมเสกแก้ว


     จากการคิดแบบ Inside-out ทำให้ประหยัดเงินค่าทิ้งขยะแล้ว ก็เลยได้นวัตกรรมเป็นกระบวนการผลิตที่สร้าง   โปรดักต์ใหม่ที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไปในตลาด กลายเป็นเรื่องของ Outside-in  ไปโดยปริยาย ซึ่งจากเดิมสินค้าที่ลอนซ์ออกมาในตลาดจะคล้ายๆ กับจีน ขณะที่จีนขายได้ถูกกว่า เพราะต้นทุนถูกกว่า ทำให้เรามักถูกนำเอามาเปรียบเทียบกับจีนอยู่บ่อยครั้ง นวัตกรรมใหม่นี้จึงกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราก้าวขึ้นมาเหนือกว่าจีนระดับหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นว่าจากแค่กระบวนการปรับปรุงการทำงาน กลายมาเป็นสินค้าที่เชิดหน้าชูตาเราอย่างดี
 


 
  • ช่วงเศรษฐกิจขาลง IMEX วิธีการเอาตัวรอดอย่างไร
     ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี บ้านใหม่สร้างน้อยลง เราจะอยู่รอดได้หรือเปล่า ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่แรกว่าเราสร้างภูมิคุ้มกันเอาไว้ให้ตัวเองหรือเปล่า ภูมิคุ้มกันที่เรามีอยู่คือนวัตกรรมที่เราเพียรสร้างเอาไว้ บ้านขึ้นใหม่น้อยลง ก็ไม่เป็นไร หาตลาดใหม่ขายก็ได้ อย่างตอนนี้เราก็ไปเจาะกลุ่มศาสนสถาน เพราะผมไม่เคยเห็นว่าการสร้างศาสนสถานจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไม่ดีเราพอมีภูมิคุ้มกันตัวเองบ้าง ก็พัฒนาสินค้าใหม่เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา จากเดิมที่เคยขายแต่ผนัง บ้านเคยขึ้น 100 หลัง วันนี้เหลือแค่ 50 หลัง จาก 100 หลังที่เคยขายแต่ผนังในห้องน้ำกับห้องครัว พอเพิ่มโปรดักต์สำหรับปูพื้นขึ้นมาก็สามารถเพิ่มยอดขายได้แม้บ้านจะเหลือแค่ 50 หลังก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้ามัวแต่ไปโทษเศรษฐกิจ แล้วไม่มองมุมกลับชีวิตเราก็ลำบาก
 
  • ใช้วิธีไหนเปลี่ยนความคิดพนักงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

     ผมยึดเอาหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นโมเดลในการดำเนินงาน อย่างยุคที่ 3 ในปีที่ผ่านมา ใช้เรื่องความเพียรที่บริสุทธิ์ มาปลูกฝังพนักงาน ซึ่งมี 4 ข้อ คือ ความดีที่มีอยู่ให้รักษาเอาไว้ ความดีที่ยังไม่มี ให้หามาเพิ่ม ความไม่ดีที่มีอยู่ ก็ให้เร่งกำจัดไปซะ และความไม่ดีที่ยังไม่มี ก็หาทางป้องกันไม่ให้มันเกิด แรกๆ บอกไป พนักงานก็งง มันเกี่ยวอะไรกับการทำงาน ก็ต้องค่อยๆ ยกตัวอย่างให้เขาเห็นภาพ





     ในการเปลี่ยนความคิดคน บางทีก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าทำได้ มันก็คุ้ม อย่างทุกวันนี้ลูกน้องจะนั่งมองดูว่ายังเหลืออะไรที่ไม่ดี แล้วทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก มันก็เลยเป็นอะไรที่ไม่หยุดนิ่ง พอไม่หยุดนิ่ง ธุรกิจก็ไปได้เรื่อยๆ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราไล่กวาดรางวัลกันเลย เราบอกตัวเราเองว่าเราจะเป็นบริษัท SME ต้นแบบให้กับคนอื่นด้วยซ้ำ ให้คนอื่นได้เห็นว่าเราสู้รายใหญ่ได้ยังไง อย่างทุกวันนี้เราเก่งในบ้านตัวเอง แต่ถ้าไปเมืองนอกเราจะไปสู้เขาได้ยังไง ก็ต้องย้อนกลับไปเรื่องเดิมว่าระหว่างทางเราทำอะไร


     ผมเคยเอาหนังสือชื่อ It’s not the size that matters, it’s how fast you go ไปให้น้องๆ อ่านกัน คือไม่สำคัญว่าปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเร็วแค่ไหน ถ้าเราคิดก่อน ทำก่อน ลอนซ์สินค้าออกมาก่อน เก็บเงินก่อน ถึงคนอื่นจะตามมาก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเราก็มีเวลาที่จะไปต่อได้อีก วันนี้เราทำถึงขนาดมองข้ามชอตเลยว่า อะไรที่ประสบความสำเร็จเดี๋ยวมีเพื่อนมาช่วยขาย เในวันที่เราลอนซ์สินค้าออกมา เราคิดต่อแล้วว่าต้องทำยังไงให้ทิ้งระยะห่างให้นานที่สุด สินค้าที่เราคิดขึ้นมาใหม่ ต้องดีชนิดที่ว่าใน 100 คน อาจจะมีแค่ 10 คนที่ผลิตได้ในเวลาใกล้ๆ กัน ใน 10 คน อาจมีไม่กี่คนที่ผลิตได้ในต้นทุนใกล้กันกับเรา สวยแบบเรา และดีเท่าเรา ถ้าคิดสินค้าแบบนี้ออกมาได้ เราก็สามารถขายได้ในราคาที่อาจจะมีแค่ 2 คนเท่านั้นเองที่สู้เราได้ นั่นหมายความว่าผมป้องกัน 8 คนเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นกว่า 2 คนนั้นจะมาถึง ผมก็มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว
 
  • แต่การทำก่อนก็ทำให้เสียเวลาล้มอยู่นานจนคู่แข่งอาจตามทันก็ได้

     เป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียรอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติปัญญาคิดด้วย เหมือนกับปีหนึ่งที่ในหลวงร.9 ท่านให้ส.ค.ส.แก่พวกเรา ท่านบอกว่า ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม และกำลังกายที่สมบูรณ์ นั่นแปลว่าแค่เพียรอย่างเดียวก็ไม่ได้ เหมือนกับในหนังสือพระมหาชนก ถ้าเราเชื่อว่าเราว่ายไปทางนี้ จะเจอเกาะ เราก็จะมีกำลังใจที่จะว่ายไปต่อได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่าไม่มี เดี๋ยวก็หมดแรง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมั่นใจด้วยว่าสิ่งที่เราเชื่อได้ผ่านการกลั่นกรองทางปัญญามาแล้วอย่างดี ว่าควรจะว่ายไปทางไหน และจะว่ายไปถึงได้ก็ต้องมีกำลังที่มากพอ คือเราอยู่ในวงการนี้มาตั้ง 25 ปี ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เราคิดอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้


     ส่วนคำว่ากำลัง หมายถึงกำลังกาย และกำลังทรัพย์ ตอนเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ หลักมีอยู่แค่ 3 ข้อ คือ มีทุน มีทาง มีทีม กำลังที่พูดถึงนี้ หมายถึงกำลังใน 3 ข้อนี้ ถ้าเรามีไม่พอ โอกาสที่จะไปถึงความสำเร็จก็จะยาก เพราะลำพังเพียงแค่คิด อาจเป็นได้แค่ความคิด แต่ถ้าจะให้ไปพัฒนาสูตร ผมไม่มีความรู้ตรงนี้ แต่ผมมีทีมที่ดี สมมติคิดไม่ออก ถามใครได้บ้าง ตอนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ผมซื้อเตาเผากระเบื้องมาเผากระจก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเตาเผากระจก ช่างเทคนิคจากอิตาลีที่มาติดตั้งให้หัวเราะเยาะว่า ผมไม่มีทางทำสำเร็จ เพราะมันไม่ใช่เตาเผากระจก แต่ผมเชื่อว่าผมทำได้ ตอนนั้นผมไปนั่งฟังบรรยายเรื่องนี้กับผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันที่มาเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาฯ  แล้วถามเขาว่า ตัวแผ่นกรองกระจกเป็นอะไรได้บ้าง คือนอกจากความเพียรในการทดลองด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ แล้ว จะดีกว่ามากถ้ารู้จักหาตัวช่วยที่เป็นประโยชน์กับเรา
 


 
  • การเตรียมตัวให้พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ สำคัญแค่ไหนในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
   
     ผมมักจะบอกลูกน้องอยู่เสมอว่าโอกาสไม่ใช่อากาศ ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป อยู่ที่ว่าเราจะฉวยเอาไว้ได้หรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่แค่เตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาส แต่ต้องพร้อมรับกับปัญหาด้วย ยกตัวอย่างอเมริกาทะเลาะกับจีน ถ้าเขาตกลงกันไม่ได้ กลายเป็นส้มหล่นใส่เรา เพราะทำให้ภาษีจีนเพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เรามีปัญหาเรื่องราคาที่ขายแพงกว่า อยู่ดีๆ ก็มีคนมาช่วยเราซะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนาทีนี้ก็ต้องรีบไปขายที่อเมริกา แต่ถ้าสถานการณ์พลิกล่ะ ผมเคยไปดูโรงงานที่เมืองจีน แต่ละโรงส่งออกไปอเมริกา 40-60 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่า เมื่อเจอมาตรการแบบนี้โรงงานเหล่านั้นเจ๊งได้เลย จะอยู่รอดได้ก็ต้องดิ้น ซึ่งสไตล์ของจีนการดิ้นให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้ในเวลาอันสั้นคือการลดราคา เพราะฉะนั้นจากที่จะได้เปรียบจากเหตุการณ์นี้ ก็จะกลายเป็นหนักกว่าเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้มาไม่ได้มีความหมายอะไรเลย


     แต่ในช่วงสถานการณ์ที่ทุกอย่างยังอึมครึมอยู่อย่างนี้ นี่คือโอกาสของเรา ตอนนี้ก็มีตัวแทนจากอเมริกาที่เราเคยคุยกับเขาในงานแฟร์ที่อิตาลีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นเขายังแฮปปี้กับการซื้อขายกับจีน พอมาถึงวันนี้เขาถามว่าเราพร้อมไหม ถ้าวันนี้เราไม่พร้อม โอกาสนี้ก็ต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสมี 2 เรื่องที่เราต้องคำนึงถึง คือ ปัจจัยภายนอก ซึ่งควบคุมไม่ได้ กับปัจจัยภายใน บางทีคนเราก็ชอบโทษปัจจัยภายนอก ตอนที่ทำไม่ได้ แต่ตอนที่ทำได้ก็บอกว่าฉันเก่ง จริงๆ มันต้องไปด้วยกันทั้งคู่ บางทีเราอาจจะพัฒนาตัวเองเตรียมพร้อมรับโอกาส แต่ปัจจัยไม่เอื้อให้เราได้มีโอกาสที่จะใช้ แต่มันก็ยังดีกว่าที่เราจะไม่ทำอะไรเลย
 
  • มีวิธีในการหาไอเดียใหม่ๆ มาใช้ในการทำงานอย่างไร

     เริ่มจากที่ใจเราก่อนว่า เรายังไม่ใช่คนที่เก่งสุด เพราะฉะนั้นก็ต้องขวนขวายพัฒนาตัวเราเองให้เก่งขึ้นมา อะไรที่ยังไม่ดี ก็ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวไอเดียจะมาเอง เราเป็นองค์กรขนาดกลาง ไม่เหมือนขนาดใหญ่ เขามีเงินจ้างทีมออกแบบ จ้างเทรนด์เซ็นเตอร์ให้ช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยว่าปีหน้าเทรนด์สีมายังไง เราอยากจะไปจ้างบ้าง เขาบอกเอา 10 ล้านมาวาง แล้วเดี๋ยวบอกให้ 10 ล้านสำหรับบริษัทใหญ่อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเราไม่เล็กเลย แล้วต้องทำยังไงเพื่อให้รู้เท่าเขา สมัยก่อนเวลาไปงานแฟร์ ก็แอบส่องชาวบ้านเขาไปด้วยว่าเขาทำยังไง แล้วก็เอาเขามาประยุกต์ใช้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะวันที่อิตาลีออกกับวันที่เราออก สินค้าเรากับเขาเหมือนกันเลย


     ข้อมูลเทรนด์ที่เราได้มาใช้เงินน้อยมาก ด้วยการช่างสังเกตให้มากหน่อย ถ้าดูจากพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจ ผู้หญิงเลือกสีกระเบื้อง ส่วนผู้ชายเลือกเครื่องเสียง เราพบว่าเครื่องสำอางวันนี้ออกสีอะไรมา ไม่เกินปีสีวอลเปเปอร์มาแล้วตามนั้น เพราะฉะนั้นเวลาผู้หญิงมาดูของเราจะว้าวสวยกันทุกคน โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเพราะเธอเหล่านั้นคุ้นเคยกับสีพวกนี้มาเมื่อ 8-9 เดือนที่แล้ว คือเธอถูกสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางครอบงำมาเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผมลงทุนก็แค่เครื่องสำอาง 1 ตลับเท่านั้นเอง หรือบางทีเวลาไปต่างประเทศ เราก็สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ตรงนี้มาร่วม 25 ปี เราก็พอจะมองเห็นแนวทางว่า ถ้าเทรนด์มาอย่างนี้ แล้วจะไปยังไงต่อ


     บางทีเราก็ฝึกตัวเราเองด้วยการตั้งสมมติฐาน แล้วทำก้างปลาแตกออกมาจากเรื่องๆ เดียว บางคนอาจมีก้างปลาที่สั้นหน่อยคือแค่เด็ดกลีบกุหลาบออกมาแล้วบอกว่ารัก กับไม่รัก แต่ของเราจากส้มตำจานหนึ่งเขียนก้างปลาแตกออกมาได้เป็นร้อยเรื่อง ทั้ง วัตถุดิบ วิธีการปรุง การเพาะปลูก ฯลฯ แต่ละข้อก็ยังแยกย่อยได้อีก วิธีคิดแบบก้างปลานี่แหละที่เราเอามาใช้กับการสร้างไอเดียใหม่ๆ ในธุรกิจของเรา อย่างถ้าโจทย์คืออยากจะลดค่าแก๊ส จะทำยังไง คำตอบอาจมีหลากหลาย เราก็มาเลือกวิธีที่ดีที่สุด และทำในเวลาที่เหมาะสมที่สุด นี่เป็นวิธีคิดที่ง่ายที่สุดในการได้มาซึ่งนวัตกรรม
กว่าเราจะมาถึงตรงจุดนี้ได้ เราทำก้างปลาแบบนี้กันมาเยอะมาก จนตอนนี้วิธีคิดอย่างนี้แทรกซึมไปทุกอณูขององค์กร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายผลิต อย่างฝ่าย HR คิดโครงการคุณได้เราได้ โดยให้พนักงานคิดอะไรมากี่เรื่องก็ได้ ถ้าความคิดนั้นสามารถทำให้บริษัทลดต้นทุนลงได้ มูลค่าของต้นทุนที่ลดลง จะคืนกลับเป็นตัวเงินให้กับคนต้นคิด หลังๆ กระบวนการคิดที่ผมใช้คำว่าเชื่อ มันกลายเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพียงแค่แว่บเดียว เพราะเราคิดอยู่เรื่อยๆ จนเคยชิน เหมือนว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน พอทำเป็นแล้ว มันก็ง่ายที่จะคิดเรื่องใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ถามว่า SME หน้าใหม่ๆ ทำได้ไหม ทำได้หมดแหละ แค่เชื่อหรือมีความเพียรพอ และใช้สติกับกำลังที่มี



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน