แม่บ้านทั่วไทยถูกใจสิ่งนี้! ORIGAMI เสื้อยืดกันเลอะ แค่เช็ดก็หมดคราบในราคาจับต้องได้

Text : wattar / Photo : ORIGAMI





Main Idea
 
 
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยอยู่ในช่วงซบเซา ขาดความครีเอทีฟและความแปลกใหม่ ทำให้ผู้ซื้อหันไปสั่งซื้อเสื้อผ้าจากจีนแทน ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยต้องลุกขึ้นมาปรับตัวด้วยนวัตกรรม 
 
  • ปัญหาที่หลายคนเจอในชีวิตประจำวันคือเสื้อผ้าเปื้อนสิ่งสกปรกอย่าง นม ชา กาแฟ  และบางทีก็ซักออกยากจนกลายเป็นคราบติดทนนาน แต่ โอดับบลิว เท็กซ์ไทล์ โรงงานทอผ้าไทยได้พัฒนานวัตกรรมเสื้อยืดกันเปื้อน ขายในราคาเข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องพรีออร์เดอร์จากต่างประเทศอีกต่อไป


     ใครเป็นจอมซุ่มซ่ามต้องถูกใจสิ่งนี้แน่ๆ เพราะนี่คือเสื้อยืดกันน้ำและคราบสกปรกที่ไม่ว่าจะมีน้ำเปล่า น้ำอัดลม นม ชา กาแฟ ซอส หรือสารพัดคราบหกใส่ก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่หยิบกระดาษมาเช็ดหยดน้ำออกก็เรียบร้อย สามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อได้สบายๆ  นี่เป็นเทคโนโลยีที่เราได้เห็นจากฝั่งแบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ลีวายส์ หรือแบรนด์หน้าใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหากใครอยากได้ก็คงต้องสั่งนำเข้าหรือพรีออเดอร์กันในราคาหลักพัน โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่ามีผู้ผลิตสิ่งทอในประเทศไทยสามารถพัฒนาผ้าที่กันน้ำและคราบสกปรกได้แล้วเช่นเดียวกัน





     “สุรกิจ ศิริวัฒนานุพงศ์”
กรรมการผู้จัดการบริษัท โอดับบลิว เท็กซ์ไทล์ (OW Textiles) โรงงานทอผ้ายืดที่ผลิตและจัดจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเสื้อยืดและโปโลทั่วประเทศ ตัดสินใจนำเข้าสารเคมีและหมกตัวอยู่ในห้องแล็บพัฒนากรรมวิธีการย้อมและทอเส้นด้ายด้วยกระบวนการ Nano Hydrophobic Technology ถึง 8 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้คือผ้าทอจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และ PCC เส้นใยจากการผสมผสานผ้าฝ้าย 50 เปอร์เซ็นต์และโพลีเอสเตอร์อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ตีเกลียวเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดคุณสมบัติยับยาก ใส่ได้แทบไม่ต้องรีด แห้งไว ที่สำคัญมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการคือป้องกันการเลอะและระบายอากาศได้ดี ก่อนจะผลิตออกมาเป็นเสื้อยืดกันเลอะออกมาเป็นรายแรกๆ ในประเทศด้วยชื่อแบรนด์ ORIGAMI





     “ก่อนหน้านั้นเราทำผ้ายืดธรรมดา ผ้าโปโล ผ้าแฟชั่น ขายผ้าผืนเป็นหลักส่งให้โรงงานต่างๆ  นำไปผลิตเป็นเสื้อยืด ทำเสื้อบริษัท เป็นต้น เราได้ไปดูงานต่างประเทศเรื่อยๆ ผมยังไม่เคยเห็นบริษัทไทยที่ใช้เทคโนโลยีทำเสื้อยืดกันเปื้อนและคิดว่าเมืองไทยน่าจะทำได้เหมือนกัน เลยอยากทำโดยที่ต้นทุนไม่สูงมากให้คนไทยทุกคนซื้อใส่ได้ หลังจากที่ไปเจอนวัตกรรมนี้จากสเปน เป็นบริษัทขายเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ จึงเอามาใช้ในการผสมสีย้อมเส้นด้าย ตั้งแต่กระบวนการแรกในการผลิต ทำให้ผ้าลื่นและหยดน้ำกลิ้งไม่ซึมลงในเนื้อผ้า”





     เมื่อพัฒนานวัตกรรมทอผ้าได้สำเร็จ เขาตัดสินใจตัดเย็บเป็นเสื้อยืดสำเร็จรูปขายเอง หลังจากที่สำรวจตลาดและนำเสนอผ้าผืนไปยังโรงงานผลิตเสื้อซึ่งเป็นลูกค้าเดิม ผู้ผลิตเหล่านั้นไม่ซื้อผ้านวัตกรรมเพราะคิดแทนผู้บริโภคไปก่อนแล้วว่าถ้าใช้ผ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น ขายในราคาแพงขึ้น ลูกค้าคงไม่ซื้อ เขาจึงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ORIGAMI อย่างจริงจัง ขายปลีกเสื้อยืดในราคา 350 บาท ซึ่งถือว่าทำราคาได้ดีกว่าโปรดักต์จากต่างประเทศมากทีเดียว พร้อมกับให้ความรู้ตลาดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ไปด้วย






     “เราจะเอาเทคโนโลยีอะไรเข้ามา ต้องพิจารณาว่าสามารถทำราคาได้ไหม ไม่ใช่ทำแล้วต้องขายในราคาสูงมากซึ่งทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ยาก ผมมองว่าราคาต้องสมเหตุสมผล เคยเห็นต่างประเทศขายเสื้อยืดคุณสมบัติเดียวกันในราคาหลักพัน แต่เรานำมาพัฒนาที่เมืองไทยให้สามารถขายได้ในราคาแค่หลักร้อย”


     สุรกิจบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจพัฒนานวัตกรรมเพราะตลาดสิ่งทอในประเทศไทยค่อนข้างซบเซา มองไปทางไหนก็เจอแต่เสื้อยืดดีไซน์เหมือนๆ กัน ขาดความครีเอทีฟและความแปลกใหม่ นั่นทำให้จากเดิมที่คนต่างประเทศที่เคยเข้ามาช้อปปิ้งที่ประเทศไทย ในตอนนี้เลือกที่จะบินไปที่กวางโจว ประเทศจีนมากกว่า 


     “ต้องยอมรับว่าเสื้อผ้าที่กวางโจวคุณภาพดีกว่า ตัดเย็บดีกว่า ดีไซน์ดีกว่าและได้เห็นอะไรแปลกใหม่อยู่ตลอด เราจึงต้องพัฒนานวัตกรรมเข้าสู้ เราอยากกระตุ้นให้คนอื่นเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและทำตาม ถึงแม้ว่าจะได้กำไรไม่มากนักก็ตาม ไม่อย่างนั้นก็ขายของเดิมๆ ลูกค้าเขาก็เบื่อ แล้วไปซื้อจากประเทศอื่นแทน”
               



     หลังจากนี้ โอดับบลิว เท็กไทล์จะเน้นผลิตผ้านวัตกรรมเพียงอย่างเดียว โดยลดการผลิตผ้าธรรมดาลงจนเลิกผลิตในที่สุด จากการที่อยากกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายอื่นเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและลุกขึ้นมาพัฒนาตาม ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
 

              
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก