9 SME ผู้ชนะรางวัล SME Thailand Inno Awards 2019



 
     นิตยสาร SME Thailand ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จัดประกวด โครงการ SME Thailand Inno Awards 2019 เพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการไทยที่มีแบบอย่างทางความคิดในการนำเอาองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาใช้พัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 9 ประเภทรางวัล กับหนึ่งรางวัลพิเศษ คือ The Best SME Thailand Inno Awards 2019
 

     โดย 9 ผู้ชนะเลิศการประกวด SME Thailand Inno Awards 2019  ได้แก่

 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการ
 
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด
 
 
     บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด นำเสนอ สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร ให้บริการ Outsource งานวิทยาศาสตร์อาหารในด้านการปรุงรสชาติแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือสร้างกระบวนการผลิตเอง หรือเรียกว่า Food Science As A Service ซึ่งสถาบันฯ มีบุคคลากรและเครื่องมือที่พร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งนิธิฟู้ดส์ยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสอาหารมากว่า 20 ปี ได้พัฒนาโครงการบริการวิจัยและพัฒนารสชาติอาหาร และผลิตเครื่องปรุงรสอย่างครบวงจร สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้พัฒนารสชาติผลิตภัณฑ์อาหารของตนเองได้ โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น รวดเร็วต่อการทำตลาด เหมาะกับสินค้าเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันฯ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2560 ให้บริการมาแล้วมากกว่า 150 ผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 30 โครงการ

 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร
 
บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด

 
     บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด นำเสนอ ศูนย์รับน้ำนมดิบและฟาร์มโคนมต้นแบบ ที่รวบรวมเทคโนโลยี และระบบการจัดการฟาร์มโคนมที่สามารถทราบรายละเอียดโคนมในฟาร์มทุกตัว ทั้งเรื่องสุขภาพโค และผลผลิตที่ได้ในแต่ละตัว แต่ละวัน และเก็บข้อมูลตลอดช่วงการให้นมของโคแต่ละตัว รวมถึงการจัดการระบบต้นทุนภายในฟาร์ม เพื่อการพัฒนาฟาร์มที่ตรงจุดและรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ (Premium Milk) ในต้นทุนที่เหมาะสม และพัฒนาการเลี้ยงโคนมแบบเป็นระบบ เพื่อส่งต่อให้กับเกษตรกรที่มีความรัก และสนใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมที่เป็นอาชีพพระราชทาน

 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์
 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ควีน เมดิคัล กรุ๊ป และ เดวา ฟาร์ม
 

     สำหรับปีนี้มี 2 กิจการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ควีน เมดิคัล กรุ๊ป เป็นผู้ผลิต จำหน่าย และให้บริการ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกชนิด นำเสนอ เตียง All In One ผลิตภัณฑ์สำหรับช่วยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงตัวแรก ที่ได้รวมความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วยไว้ทั้งหมดบนเตียงแบบ All in One คือ ช่วยป้องกันการเป็นแผลกดทับ ด้วยการปรับเปลี่ยน ท่านั่ง ท่านอน ได้ง่าย, ทำความสะอาดผู้ป่วยได้ดี ด้วยการนั่งขับถ่าย และการอาบน้ำบนเตียง จึงช่วยประหยัดเงินและแรงงาน ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์หลายตัว เช่น เตียง ที่ยกตัว รถเข็น ไม่ต้องอุ้มมาอาบน้ำและยังปรับเป็นรถเข็นได้อีกด้วย
               

     และอีกกิจการ คือ เดวา ฟาร์ม เป็นฟาร์มฮอปส์ (Hops) แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ตัวฟาร์มมีเนื้อที่ 4 ไร่ ประกอบด้วย 6 โรงเรือน ปลูกฮอปส์มากกว่า 50 สายพันธุ์ โดยปัยจัยสำคัญที่ทำให้สามารถปลูกฮอปส์ ซึ่งเป็นพืชเมืองหนาว ที่ตามปกติต้องปลูกที่ระดับละติจูดตั้งแต่ 35 ขึ้นไปจนถึงประมาณ 50 หรือพื้นที่ส่วนใหญ่มีหิมะตกเท่านั้น แต่ด้วยระบบ Smart Farm ที่พัฒนาขึ้นเอง อันประกอบด้วย ระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบพ่นและปรับความเข้มข้นของปุ๋ยอัตโนมัติ Bio Control ทำให้ได้ความแม่นยำในการปลูก วัดผลได้ และใช้แรงงานน้อย จึงทำให้สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตฮอปส์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว เดวา ฟาร์ม กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูงอีกกว่า 100 สายพันธุ์
  
 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์
 
บริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด
 
 
     บริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด เป็นผู้พัฒนา IoT Tracking เพื่อใช้สำหรับติดตามสิ่งของต่างๆ รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการติดตามภายใต้แบรนด์ XENTRACK เป็นการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายต่างๆ ได้เอง เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งของนั้นอยู่ที่ไหนหรือว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง  โดย Tracking คนหรือสิ่งของในอาคารแบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นตลอดว่าสิ่งของเคลื่อนที่จากไหนไปไหนบ้าง โดยเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อการติดตามทรัพย์สินในโรงพยาบาล หลังจากพบปัญหาว่าในโรงพยาบาลจะมีอุปกรณ์บางอย่างที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องให้น้ำเกลือ เครื่องอัลตร้าซาวด์ ที่เมื่อถูกเบิกออกจากคลังแล้วก็จะหายไปเลย เพราะเมื่อใช้กับผู้ป่วยในเคสนี้เสร็จปุ๊บ ก็จะมีเคสที่สองเคสที่สามใช้ต่อกันก็ไปเรื่อยๆ จนบางทีไม่รู้ว่าเจ้าอุปกรณ์นี้ไปอยู่ตรงไหนแล้ว จึงได้พัฒนา IoT เพื่อใช้สำหรับติดตามอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมา โดยปัจจุบันได้ทำให้กับโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
    

     และจากการที่ได้มีโอกาสเข้าไปพัฒนา IoT Tracking ให้กับโรงพยาบาล ทำให้มองเห็น Pain Point ในด้านอื่นของโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จึงต่อยอดนำไปใช้เพื่อมอนิเตอร์ตู้เย็นเก็บยาและแจ้งอุณหภูมิตู้แบบเรียลไทม์อีกด้วย

 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการออกแบบ
 
บริษัท ประสบกานต์ ดีไซน์ จำกัด
 

     บริษัท ประสบกานต์ ดีไซน์ จำกัด เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ PARA (พาร่า) ที่เป็นการรวมกันระหว่างคีย์เวิร์ด 3 คำ ได้แก่ ประเทศไทย สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม จึงเป็นแบรนด์ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทย ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมแบบเรียบง่าย (Simply Innovative Design) ดังเช่นตัวอย่างสินค้า collection แรกคือ Tree-In-One , จุกปิดขวดแก้วนวัตกรรมรักษ์โลก สินค้านี้สนับสนุนให้ผู้ใช้นำขวดแก้วที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในครัวเรือน โดยมาพร้อมกับการใช้งานรูปแบบใหม่ที่สามารถปิดขวดได้อย่างสนิท รินน้ำได้ และเป็นกรวยกรอกน้ำได้ด้วย จึงทำให้ผู้ใช้สนุกกับการรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่เป็นที่รองแก้วได้


     นอกจากนี้ PARA ยังมีสินค้าอีก 3 collections ที่ใช้แนวคิดที่รักสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรมแฝงในการใช้งานในทุกสินค้าเช่นกัน เช่น Takraw: ที่แขวนกระถางต้นไม้ ที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้ นำขวดแยมที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ในครัวเรือน, Layers: ชุดที่รองจาน รองแก้วบนโต๊ะอาหาร ที่สามารถใช้ได้สองหน้า และ Weave: ที่จับขวดไวน์ ทำจากการถักเส้นยางด้วยมือ
 
 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
 
บริษัท มอร์ลูป จำกัด
 

 
            บริษัท มอร์ลูป จำกัด เป็นตัวกลางนําผ้าคุณภาพดีที่เกินจากการผลิตของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้ามาส่งถึงมือลูกค้าที่ต้องการในราคาจับต้องได้ เพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้าที่ต้องมีสต๊อกผ้าเหลือค้าง และตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้ผ้าเนื้อดีในปริมาณไม่มากโดยผ่านการเลือกสรรผ้าส่วนเกินที่ซ่อนอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย และนําผ้าเหล่านี้มาขายผ่านตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ www.moreloop.ws เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการให้คำแนะนำ ผลิตสินค้า และสร้างสรรค์สินค้า limited edition ให้กับเจ้าของธุรกิจและองค์กรที่สนใจ ผ่านกระบวนการนี้ ทําให้สามารถร่วมกันใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการผลิตใหม่ เพราะการผลิตผ้าใหม่แต่ละครั้งใช้น้ำและพลังงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้สารเคมี และก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์  เป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วย ซึ่งด้วยกระบวนการทำงานนี้ ทำเกิดการนำผ้าคุณภาพดีที่เกินจากการผลิตกว่า 2 ตัน ถูกนำออกมาใช้งาน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 30 ตัน จากการไม่ต้องผลิตผ้าใหม่
 
 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการตลาด
 
     ปีนี้ไม่มีบริษัทใดได้รับรางวัลในสาขาดังกล่าว

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
 
บริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด
 
           
     บริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด นำเสนอผลิตภัณฑ์แคลเซียม MCHC (Microcrystalline Calcium Hydroxyapatite) ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ร่างการยดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซียมรูปแบบอื่น โดยผลิตจากธรรมชาติด้วยการนำวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปปลาทะเลมาเพิ่มมูลค่า และพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อป้องกันและฟื้นฟูโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกพรุน ภายใต้แบรนด์ UNC Calcium ซึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกและฟันที่สึกหรอ, ฟื้นฟูอาการกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อม เช่น ข้อเข่าเสื่อม กระดูกสักหลังเสื่อม ข้อคอเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ช่วยยับยั้งและลดอาการปวดกระดูก, ช่วยทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่น และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมวลกระดูก ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว ที่สำคัญไม่มีผลต่อกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ไม่เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกเหมือนแคลเซียมรูปแบบอื่น นอกจากนี้ บริษัทยังได้อนุสิทธิบัตรในเรื่องของกระบวนการผลิตแคลเซียมจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย

 
รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม
 
     ปีนี้ไม่มีบริษัทใดได้รับรางวัลในสาขาดังกล่าว

รางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2019
 
บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด
 
           
     บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด เป็นผู้วิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่าย วัสดุศัลยกรรมกระดูก และ อุปกรณ์เครื่องมืออื่นๆ ทางการแพทย์ นำเสนอ วัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังชุดนารายณ์ (NARAI Lateral Lumbar Interbody Fusion (NARAI LLIF)) เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแบบเปิดแผลเล็กเข้าทางด้านข้าง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มการป่วยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้งานไม่ถูกต้องมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสื่อม น้ำหนักตัวมากเกินไป กระดูกสันหลังผิดรูปเรื้อรัง หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยการรักษาจะเป็นลำดับตามความรุนแรงของโรค ตั้งแต่ให้ยารับประทาน ทำกายภาพบำบัด จนถึงการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังเพื่อช่วยลดอาการปวดเฉพาะจุด เมื่อถึงที่สุดต้องรักษาโดยการผ่าตัดใส่วัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกเพื่อรักษาช่องว่างระหว่างปล้องกระดูกสันหลัง และทำการปลูกถ่ายกระดูก ให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่เชื่อมต่อระหว่างปล้องกระดูกสันหลังสองชิ้นนั้นให้ติดกัน มีการยึดตรึงด้วยโลหะดามกระดูกสันหลัง เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรง


     จุดเด่นของผลิตภัณฑ์


     1. NARAI LLIF ถูกออกแบบให้มีรูปทรงภายนอกเป็นหัวกระสุนเพื่อให้ในขณะผ่าตัด สามารถใส่เข้าระหว่างปล้องกระดูกสันหลังได้ง่ายขึ้น


     2. NARAI LLIF ออกแบบให้ภายในเจาะเว้ารอบวง เพื่อเพิ่มปริมาตรให้สามารถใส่สารทดแทนกระดูก (Bone Graft) สำหรับปลูกถ่ายกระดูกได้เพียงพอ ตลอดจนมีพื้นที่สัมผัส (Surface Contact) การปลูกถ่ายมากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดการสร้างกระดูกให้เชื่อมติดกันอย่างสมบูรณ์เร็วขึ้น


     3. NARAI LLIF ออกแบบให้มีขนาดกว้างและยาวขึ้น สามารถวางตรงกลางปล้องกระดูกสันหลัง และมีส่วนพาดกับขอบกระดูก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกสูงสุด (กระดูกแข็ง) เป็นการเพิ่มความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ลดโอกาสที่วัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกจะจมลงในปล้องกระดูกลง และด้วยขนาด NARAI LLIF ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ตัววัสดุมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ตลอดจนพื้นที่สัมผัสกับกระดูกมากขึ้นด้วย


     4. NARAI LLIF ออกแบบให้มีลักษณะผิวสัมผัสภายนอกของวัสดุแบบพิเศษ เพื่อลดปัญหาการเลื่อนไถล หรือเลื่อนหลุดในขณะผ่าตัด หรือเลื่อนผิดตำแหน่งระหว่างการรักษา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยึดติดระหว่างข้อต่อกระดูกให้แข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น


     5. NARAI LLIF ออกแบบให้มีขนาดเหมาะสมกับปล้องกระดูกของคนเอเซีย อีกทั้งมีไซส์ค่อนข้างละเอียดหลากหลาย เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ใกล้เคียงกับขนาดของกระดูกผู้ป่วยในแต่ละเคสที่สุด


     6. การออกแบบชุดเครื่องมือ และ อุปกรณ์พิเศษ เพื่อให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ทำให้เปิดแผลเล็กลง ลดเวลาในการผ่าตัดลง โดยประกอบด้วยชุดเครื่องมือสำหรับการเตรียมพื้นที่กระดูกให้พร้อม และชุดเครื่องมือสำหรับวัดขนาดหมอนรองกระดูก และใส่ NARAI LLIF ตลอดจนชุดอุปกรณ์การถ่างบาดแผล



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน