เปิด 5 ยุทธวิธีพลิกชะตาสิ่งทอไทยให้กลับมาเป็นดาวรุ่ง

Text : Mata CK.
Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์




Main Idea
 
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Sunset เป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงที่หมดความหอมหวานไปนานแล้ว แต่วันนี้กลับมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงอยู่รอดและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
 
  • ไทยยังเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอป้อนตลาดโลก ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตเส้นใย ถักทอผืนผ้า ไปจนถึงการออกแบบ ตัดเย็บ ตกแต่ง และวางตลาด คาดกันว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมนี้อาจเติบโตสูงถึง 2 แสนล้านบาท ในปี 2567
 
  • แต่ด้วยการแข่งขันที่เปลี่ยนไป การทำธุรกิจในยุคใหม่ยากลำบากขึ้น และมีปัจจัยท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรสิ่งทอไทยถึงจะกลับมาเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง ติดตาม 5 ยุทธวิธีที่จะพลิกชะตาสิ่งทอไทยในวันนี้


     อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Sunset เป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงที่หมดความหอมหวานไปนานแล้ว แต่วันนี้กลับมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง จนคาดการณ์กันว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมอาจเติบโตสูงถึง 2 แสนล้านบาท ในปี 2567


     อย่างไรก็ตามสนามธุรกิจนี้ยังส่งความท้าทายให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำธุรกิจในยุคนี้ก็แตกต่างจากยุคก่อน เรียกว่ายากลำบากมากขึ้น แล้วจะทำอย่างไรที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย จะกลับมาโดดเด่นเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง





      “อิทธิชัย ยศศรี” รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเปิดงาน GFT and GMS 2019 งานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอครบวงจร โดยบอกถึง 5 ยุทธวิธีที่จะสร้างความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เพื่อกลับมาเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง
 


 
  1. มี Productivity เพิ่มผลิตภาพ
               

     แม้จะเป็นคำที่อาจได้ยินมาจนเบื่อ แต่อิทธิชัยย้ำว่า Productivity จะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และผลิตในต้นทุนที่ต่ำที่สุด  
 
 

     2.คุณภาพต้องมาก่อน


     นอกจากมีผลิตภาพ ยังต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่การผลิตสินค้าราคาถูกอีกต่อไป โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจสามารถผลิตสินค้าราคาถูกหรือไม่สนใจคุณภาพมากมายได้ แต่สำหรับประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง





     3.มีความสามารถทางการตลาด และรู้รสนิยม หรือความต้องการของผู้บริโภค


     เขาบอกว่าสินค้าหลายตัวบนโลกเป็นสินค้าที่ดีแต่ไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะปัญหาเรื่องการทำตลาด การตลาดจึงมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดและรุ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอนับจากนี้ รวมถึงผู้ประกอบการยังต้องรู้รสนิยม และรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคด้วย


     “ต่อให้จะผลิตสินค้าที่ดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าตลาดไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งแต่ละตลาดมีความต้องการสินค้าไม่เหมือนกัน เซ็กเมนต์(Segment) ของตลาดไม่เหมือนกัน ประเทศที่พัฒนามากๆ อย่าง อิสราเอล เขาจะแบ่งกลุ่มตลาดก่อนว่าจะเจาะที่ตลาดไหน อยู่ในอุตสาหกรรมไหน แล้วค่อยไปผลิต ไม่ใช่ผลิตเสร็จแล้วค่อยไปหาตลาด” เขาย้ำ





     4.มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม



     การทำอุตสาหกรรมยุคนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะเข้ามาช่วยเรื่อง Productivity ในเครื่องจักรใหม่ ใช้คนน้อยลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก อุตสาหกรรมยุคนี้ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ทั้งในเครื่องจักร กระบวนการผลิต และตัวผลิตภัณฑ์


     “นวัตกรรมคือการนำเทคโนโลยีมาคิดสิ่งใหม่ เช่น มีเทคโนโลยีนาโน ก็นำมาใช้ในการทำเสื้อนาโนที่ใส่แล้วกันยุง กันแบคทีเรียได้ นี่คือนวัตกรรม เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นเรื่องที่ประเทศเรายังอ่อนอยู่พอสมควร”
 

     5.มีมาตรฐาน


     มาตรฐานที่พูดถึงไม่เพียงการรับประกันคุณภาพหรือมาตรฐานของตัวสินค้าเท่านั้น แต่เป็นการรับประกันความพึงพอใจของผู้บริโภคด้วย


     “นี่เป็นความใส่ใจของผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แค่เรื่องของมาตรฐานทางกายภาพเท่านั้น แต่เป็นความพึงพอใจในเรื่องของการดีไซน์ การใส่ทุกอย่างเข้าไปในตัวโปรดักต์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถที่จะมั่นใจได้ว่าซื้อสินค้านี้ได้ไม่ผิดหวัง เหล่านี้มองว่าเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจำเป็นต้องมี เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไปสู่อุตสหากรรมที่ยกระดับขึ้นในอนาคต และเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีวันตัน” อิทธิชัย สรุปในตอนท้าย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน