เด็ดสุดในแม่ฮ่องสอน แปลงโฉมถั่ว-งาบ้านๆ เป็นผลิตภัณฑ์โกอินเตอร์

TEXT : อนัญชนา สาระคู  





Main Idea
 
  • แม่ฮ่องสอน ไม่ได้มีแต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แต่ผลิตผลทางการเกษตรของที่นี่ยังไม่เป็นสองรองใครอีกด้วย
 
  • รู้จักผู้ประกอบการ SME เมืองแม่ฮ่องสอน ที่หยิบงาและถั่วลายเสือผลผลิตเกษตรในพื้นที่ มาแปรรูปเป็นสินค้าเด็ดที่สามารถกระจายความอร่อยไปไกลถึงต่างแดน



              
     แม่ฮ่องสอน อาจชวนให้หลายคนนึกถึงจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่การเดินทางค่อนข้างลำบาก กลายเป็นความท้าทายของบรรดานักท่องเที่ยวขาลุยที่อยากไปเยี่ยมเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต ชวนให้นึกถึงธรรมชาติอันงดงามสมดังชื่อเสียงของการเป็นเมืองสามหมอก และวัฒนธรรมในแบบผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาและสืบสานไว้ได้อย่างยาวนาน


     แต่หากมองในแง่ศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ แม่ฮ่องสอนอาจจะไม่ใช่ดาวเด่นนักเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทว่าในความเป็นม้านอกสายตานั้น กลับแฝงไว้ด้วยโอกาสและศักยภาพในการเติบโตที่ใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง
 




“ไทไท แบรนด์” การเดินทางของงาไทยสู่สากล

               

     งา เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่สูงทำให้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักสุขภาพ นี่เองที่จุดประกายให้ “ไทไท แบรนด์” ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปอาหารรับประทานเล่น (Healthy Snacks) สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ถือกำเนิดขึ้นและโลดแล่นไปทำตลาดไกลถึงสิงคโปร์ และกำลังต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อไปวางตลาดในเอเชีย จีน และตะวันออกกลาง ต่อไปอีกด้วย
               

     ยุพิน-ธวัชชัย รัตนซ้อน เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเปิดร้านอาหารไทย ก่อนแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร ไทไท แบรนด์ เนื่องด้วยมองเห็นแนวโน้มของตลาดเพื่อสุขภาพที่กำลังเติบโตและกำลังเป็นเทรนด์ของโลก จึงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ตลอดจนพัฒนารสชาติให้ตรงกับรสนิยมและความชอบของกลุ่มเป้าหมายในประเทศต่างๆ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย
               

     “เรามองเห็นว่า งาเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเรามีทั้ง งาดำ งาขาว และงาขี้ม่อน (สีน้ำตาล) ที่มีคุณประโยชน์สูงมาก จึงนำมาแปรรูปเป็นอาหารรับประทานเล่นเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมองหาวัตถุดิบตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ถั่ว ข้าว เมล็ดธัญพืช รวมทั้งผลไม้ท้องถิ่นต่างๆ นำมาแปรรูปในแบบที่ไม่ซับซ้อน จนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามมาอีกมาก นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐานสากล จึงพูดได้ว่า ไทไท แบรนด์ เป็นสินค้าท้องถิ่นมาตรฐานสากล ที่สามารถนำพาตัวเองไปสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับสากลได้จริงแล้ว” ธวัชชัยกล่าว
     
 

         
ถั่วลายเสือ ออกจากถ้ำเสือ
               

     อีกหนึ่งผลิตผลทางการเกษตรที่กำลังได้รับความสนใจมากในขณะนี้คือ ถั่วลายเสือ โดย เธียรชัย แซ่จู สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนองผาจ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลายเสือ บอกเราว่า ถั่วลายเสือ หรือถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 แม้สามารถปลูกได้ทั่วไป แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วพบว่า รสชาติของถั่วลายเสือแตกต่างจากการปลูกในพื้นที่อื่น รวมถึงมีขนาดเมล็ดที่ใหญ่ขึ้น กลายเป็นถั่วลายเสือที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจและมีความต้องการซื้อจากพ่อค้าชาวจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มสามารถบริหารจัดการด้านผลผลิตต่อไร่เพื่อให้เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย


     สะท้อนถึงโอกาสและศักยภาพของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ขึ้นอยู่กับการมองเห็น โอกาสและลงมือพัฒนาให้เกิดผล โดยมีตัวอย่างความสำเร็จเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่น่าสนใจ และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถส่งไปขายไกลถึงต่างประเทศได้
 

เปลี่ยนเมืองยากจนเป็นเมืองแห่ง SME ต้นแบบ
 

     วันนี้แม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้โครงการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2562 นี้ ด้วยมองเห็นศักยภาพของพื้นที่จึงลงไปทำงานเชิงลึก โดยเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่าง สสว. หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และนักวิชาการที่เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อปั้นให้เป็นผู้ประกอบการ SME ที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจะทำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำ และเริ่มที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลักๆ ของแม่ฮ่องสอน อย่าง พืชบุก กล้วย กาแฟ ข้าว กระเทียม ไผ่ และไก่ เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากขนแกะอีกด้วย
               

     “เราพบว่าผู้ประกอบการในแม่ฮ่องสอนมีความตั้งใจสูงและต้องการจะเติบโตไปด้วยตัวเอง เขามีปลายทางที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ รู้ตัวเองว่าจะพัฒนาไปทางไหน เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาด และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างไทไท แบรนด์ ที่เลือกงาขี้ม่อน ซึ่งเป็นงาชนิดหนึ่งในท้องถิ่นที่พบว่า มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงคือ มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สามารถขยายผลไปสู่ผู้บริโภคที่นอกจากจะซื้อเพื่อตัวเองแล้ว ยังสามารถซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย จึงทำให้ประสบความสำเร็จและกลายเป็น SME ต้นแบบขึ้นมาได้” สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอก
               



     โมเดลการพัฒนาแบบใหม่ไม่ได้มีแค่ในแม่ฮ่องสอน แต่สสว.ยังมองที่จะขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อลบจุดอ่อนของ SME ไทยในอดีต ที่ส่วนใหญ่มักไม่ใช้การตลาดนำ แต่ใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งว่าชอบทำอะไร โดยลืมมองปลายทางว่าตลาดมีความต้องการอยู่จริงหรือไม่ หรือเมกะเทรนด์ที่โลกกำลังพูดถึงกันคืออะไร จนทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับตลาด หรือความต้องการของผู้บริโภคได้
               

     เพื่อเปลี่ยนจาก SME นอกสายตา กลายเป็นม้าดาวรุ่งพุ่งเข้าเส้นชัยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศได้


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน