เสิร์ฟ 5 เทรนด์ร้อนที่ธุรกิจอาหาร ‘ต้องรู้’




Main Idea

 
  • ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ใครหลายคนมองว่าหอมหวาน มีโอกาสสูง เริ่มต้นง่าย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะนี่คือธุรกิจปราบเซียนที่แท้จริง!
 
  • ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงต้องไหวตัวให้ทันอยู่เสมอ เทรนด์ไหนมาต้องรู้ ผู้บริโภคชอบอะไรต้องเห็น! และนี่คือ 5 เทรนด์ร้อนที่คนทำธุรกิจร้านอาหารต้องจับตามอง
 


 

     หากถามว่าธุรกิจที่ร้อนแรงที่สุดคืออะไร? ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ธุรกิจอาหาร’ เพราะอาหารการกินคือไลฟ์สไตล์ของทุกคน ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย เย็น ชีวิตคนเราต้องผูกติดอยู่กับการกิน ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราถึงได้เห็นร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านกาแฟ ชานมไข่มุกเปิดใหม่กันเป็นว่าเล่น บางทีเดินไปยังไม่พ้นถนน คุณสามารถเจอร้านกาแฟใกล้กันได้ 3-4 ร้าน แม้ว่าธุรกิจอาหารจะเกิดขึ้นเพราะโอกาสแต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรง ใครไม่เก๋าจริงก็อาจต้องแพ้พ่ายไปในสังเวียนปราบเซียนนี้


     ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงต้องไหวตัวให้ทันอยู่เสมอ เทรนด์ไหนมาต้องรู้ ผู้บริโภคชอบอะไรต้องเห็น! และนี่คือ 5 เทรนด์ร้อนที่คนทำธุรกิจร้านอาหารต้องจับตามอง จาก Trend Watch Expo 2019 โดยยูนิลีเวอร์ ฟู้ดโซลูชั่นส์
 


 
  • Food Bowl เมื่อชามกลายเป็นภาชนะหลัก
     เมื่อชามกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ที่เกิดจากกระแส #Bowl ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ‘Charles Spence’ ได้อธิบายถึงการรับประทานอาหารในชามว่า “ความมหัศจรรย์ขณะที่ผู้คนโอบอุ้มภาชนะชามที่มีน้ำหนักในมือ สมองจะจินตนาการไปถึงความอร่อยล่วงหน้าแล้ว ประสาทสัมผัสจะทำงานเต็มที่ ประกอบกับกลิ่นหอมจากเครื่องปรุงที่ส่งกลิ่นเข้มข้น เสริมให้ต่อมรับรู้ทำงาน ทำให้เกิดเป็นความอร่อยล้ำกว่าเดิม”


     แต่ก่อนเรามักจะเห็นชามเป็นภาชนะใส่อาหารที่ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ราเมน แต่ปัจจุบัน คุณอาจจะเห็นการรับประทานอาหารในชามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสลัด เมนูข้าว ร้านอาหารสามารถประยุกต์เมนูเด็ดของคุณ คลุกเคล้าใส่เครื่องปรุงแบบอร่อยพร้อมทานแล้วเสิร์ฟในชามมาเลย จะช่วยเสริมเรื่องรสชาติ อีกทั้งยังมอบความรู้สึกสบายๆ เป็นกันเองให้แก่ลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านด้วย
 



 
  • หยิบวัตถุดิบท้องถิ่นมาเสิร์ฟ

     อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงคือการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น กลายเป็นเทรนด์อาหาร “Local Table” การนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาชูเป็นจุดแข็งด้านอาหารสุขภาพ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน ข้อดีคือการที่คุณจะได้วัตถุดิบสดใหม่ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างจุดขายให้เมนูอาหารของคุณด้วยการเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของวัตดุดิบ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบในการนำไปใช้จริงได้ดังนี้

LOCALLY GROWN PRODUCED
เลือกใช้วัตถุดิบที่เลี้ยงปลูกหรือผลิตในท้องถิ่น อาจเลือกซื้อจากฟาร์มที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนทําให้ได้วัตถุดิบสดใหม่ และยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะช่วยให้ชุมชนยั่งยืนและกระจายรายได้สู่เกษตรกร

HYPER-LOCAL FOODS
“ผักสวนครัวรั้วกินได้” แนวคิดของร้านอาหารที่ออกแบบพื้นที่สำหรับผลิตวัตถุดิบเองในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บนดาดฟ้าของตึก หรือสวนผักที่อยู่ข้างๆ ร้าน ร้านอาหารสามารถเพิ่มความน่าสนใจด้วยการตกแต่งร้านด้วยวัตถุดิบดังกล่าวที่พร้อมจะหยิบจับไปปรุงเป็นเมนูประจำร้าน 

ARTISAN FOODS
การปรุงอาหารด้วยสองมือ หรือ Hand-crafted food ซึ่งเน้นการผลิตในจํานวนจํากัด ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง หรือเลือกจากที่มีตามฤดูกาลโดยเฉพาะ เมนูยอดฮิตที่นิยมผลิตมักจะเป็นอาหารตะวันตก เช่น ไอศกรีม ชีส และเบคอน แต่สำหรับประเทศไทยสามารถทำเมนูขนมหวาน หรือใช้การถนอมอาหารมาช่วยได้

HOMEMADE DESSERT
สำหรับร้านอาหารที่มีเมนูเบเกอรี หรือขนมหวาน หากมีข้อจํากัดด้านวัตถุดิบ สามารถปรับลดต้นทุนในการผลิต ด้วยการเลือกซื้อขนมโฮมเมดจากผู้ผลิตภายในท้องถิ่นได้เช่นกัน
 


 
  • สร้างประสบการณ์ล้ำลึกให้ลูกค้า

     ไม่ใช่แค่ความอร่อยเท่านั้นที่จะมัดใจลูกค้าได้ในยุคนี้ แต่ต้องผสมผสมประสาทสัมผัสทั้ง 5 ลงไปในแต่ละมื้ออาหารเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากร้านของคุณ ตั้งแต่ ตั้งแต่รูป รส กลิ่น เสียง ไปจนถึงน้ำหนักของอุปกรณ์ที่อยู่บนโต๊ะอาหาร เพื่อลวงสมองให้คิดถึงรสชาติอร่อยล้ำ เทรนด์ Multisensory Experience ขึ้นอยู่กับการออกแบบการนำเสนออาหารที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดเรื่องราวในมื้ออาหาร และเปิดประสาทสัมผัสของลูกค้าให้ได้รับอย่างง่ายดาย


     สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่มีต้นทุนมากนัก อาจเลือกนำเสนอ Sense พื้นฐานอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เช่น การใช้ภาชนะชามเสิร์ฟอาหารโดยออกแบบให้ลูกค้าต้องโอบอุ้มชามอาหารพร้อมเปิดเพลงคลอเบาเพราะน้ำหนักของชาม ความอุ่นในมือจากอาหารกลิ่นอโรม่าอบอวลกรุ่นในภาชนะและเพลงที่เปิดจะเร้าประสาทสัมผัสให้สมองจินตนาการว่าอาหารมีรสอร่อย หรือเพิ่มสัมผัสของรสชาติอาหารได้ง่ายๆ ด้วยการเติมส่วนประกอบที่พิเศษ เช่น การเติมผงไข่เค็มให้กับเมนูอาหารทอด ที่ทำให้ได้รับรสชาติความเค็มเฉพาะตัวของไข่เค็มและสัมผัสกรุบๆ ในปากไปพร้อมกัน
 


 
  • เนื้อสัตว์หลบไป! คนยุคใหม่รักอาหารจากพืช

     ในยุคนี้อาหารจากพืชได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาววีแกนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาทานอาหารประเภท Plant-Based Food และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ร้านอาหารสามารถสร้างสรรค์เมนูได้มากมายจากวัตถุดิบดังกล่าว เพียงแค่เพิ่มตัวเลือกในเมนูที่มีอยู่ด้วยการปรับใช้โปรตีนจากพืช อาทิ ถั่วเปลือกนิ่ม ถั่วเปลือกแข็ง เห็ด ควินัว ข้าวกล้อง เพิ่มเติมจากการใช้ถั่วเหลืองที่หลายคนคุ้นชินมาประยุกต์เป็นเมนูอาหารหลัก นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เมนูแล้วยังจะได้ลูกค้ากลุ่มมังสวิรัติเพิ่มด้วย
 


 
  • เพิ่มมูลค่าให้ร้านอาหารด้วย ‘ชา’
     ชา กำลังกลายเป็นเครื่องดื่มกระแสหลัก จากเทรนด์ของการดื่มชาพบว่า การดื่มชาของผู้บริโภคนั้น มีวิถีที่ต่างกันไป เช่น บางคนชอบชาแบบเบลน เต็มไปด้วยสารอาหาร บางคนชอบชาสุขภาพ มีจุลินทรีย์อย่าง Kombucha บางคนชอบชาที่ดื่มแล้วผ่อนคลาย


     สำหรับร้านอาหารสามารถหยิบเอาเทรนด์ชามาบรรจุเป็นเครื่องดื่มประจำร้าน เพิ่มความน่าสนใจด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของชามายังร้าน หรือใส่เรื่องราวการคัดสรรใบชาจากแหล่งต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่น่าสนใจ หรือนำใบชามาสร้างสรรค์เป็นเมนูเบเกอรีได้ เช่น นำชาคาโมมายล์มาผสมในเค้ก เพิ่มกลิ่นและรสชาติของดอกคาโมมายล์ให้น่าลิ้มลองมากขึ้น สำหรับร้านอาหารขนาดใหญ่หรือโรงแรมเองก็สามารถจับเทรนด์ผสมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นเมนู Afternoon Tea โดยผสาน Crafted Tea กับความประณีตในการชง หรือชนิดของใบชามาเป็นจุดขาย หรือจัดโปรโมชั่นดื่มชาสุขภาพเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพด้วยก็ดีไม่น้อย
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน