Main Idea
- SME อาจเป็นรองบริษัทขนาดใหญ่ ที่ ขนาดธุรกิจ ทรัพยากร คน และเงินทุน แต่อาวุธหนึ่งที่จะใช้ต่อกรกับยักษ์ได้ก็คือ “นวัตกรรม”
- “ดีดีซี สปรอกเก็ต” ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สัญชาติไทยแท้ สำหรับพวกเขา นวัตกรรม คืออาวุธสำคัญที่ SME จะใช้ต่อสู้คู่แข่งได้ในทุกสนาม และเคยล้มยักษ์ให้พ่ายทัพมาแล้ว
ชิ้นส่วนเฟืองรถจักรยานยนต์ เรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ซ่อนความสามารถและอำนาจในการต่อสู้ด้วยเทคโนโลยีที่ชื่อ Fine Blanking ซึ่งมีความแม่นยำสูง นำความสำเร็จมาสู่บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สัญชาติไทยแท้ เจ้าของรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำหรับพวกเขา นวัตกรรม คืออาวุธสำคัญที่ SME จะใช้ต่อสู้คู่แข่งได้ในทุกสนาม
“เราไม่ได้แข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่กำลังแข่งกับบริษัทญี่ปุ่นที่มีทั้งชื่อเสียงและเทคโนโลยี” คมเดช วิจิตรจรัสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด บอกความท้าทายของเขา หลังเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์ทดแทน (After Market) ส่งออกไปเวียดนามและกัมพูชาเมื่อปี 2531 เขามุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและแก้ปัญหาที่มีอยู่ในองค์กร ทั้งการใช้คนจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและยังมีของเสียจากกระบวนการผลิตล้นเต็มโรงงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการศึกษาเทคโนโลยีการตัดโลหะแผ่นไฟน์แบลงก์ (Fine Blanking) ที่มีความแม่นยำสูงจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำมาใช้ทดแทนการผลิตแบบเก่า (Gear Hobbing) ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถลดขั้นตอนการผลิตให้สั้นลง ขณะที่ความเร็วจากเดิมที่ผลิตได้ชั่วโมงละ 30 ชิ้น เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1,000 ชิ้น ตอบความต้องการได้ทั้งมีชิ้นงานคุณภาพดีขึ้น ทนทาน ลดของเสีย ลดการใช้คน และลดอุบัติเหตุลงได้ตามเป้า
กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิคการผลิตที่คิดค้นขึ้นเอง ทั้งยังสามารถออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับ Fine Blanking ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและยังสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็ว (Time-to-market) กลายเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน ส่งผลให้โรงงานของคนไทยสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเป็นผู้ผลิต OEM ให้กับแบรนด์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงได้สำเร็จ
“วันนี้เราเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรม เพราะเชื่อว่าโอกาสที่จะโดนคู่แข่งฆ่านั้นยากมาก แต่ถ้าเราใช้แค่เรื่องของราคา หรือวิธีการเล็กๆ น้อยๆ มาสู้ อย่างการลดคน ลดต้นทุน อะไรพวกนี้ มันอยู่ไม่ได้ ยุคนี้ถึงเป็นบริษัทใหญ่แต่ถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ก็อยู่ได้ยาก ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้และพัฒนา” คมเดชย้ำ
ปัจจุบันดีดีซี สปรอกเก็ต ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ให้กับหลายแบรนด์ดัง รวมถึงอุปกรณ์รถยนต์อย่าง เกียร์ CVT เบรก ตัวล็อกประตู ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่น อย่าง เฟอร์นิเจอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องจักรการเกษตร ขณะที่ยังส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ทดแทน ภายใต้แบรนด์ DDC ไปในอีกหลายประเทศ ส่วนในอนาคตก็วางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อสร้างองค์กรยั่งยืนและต่อยอดความสำเร็จไปไม่รู้จบ
โรงงานของดีดีซีที่ราชบุรี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของเสียอย่างเศษเหล็กที่เหลือจากกระบวนการผลิต ถูกนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในโรงงานและบริจาคเพื่อการกุศล ส่วนหนึ่งทำเป็นโครงสร้างอาคาร แม้แต่ปูพื้นแทนการใช้เหล็กเส้น เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับของเหลือทิ้ง ขณะที่เทคโนโลยี Fine Blanking ยังช่วยลดเสียงรบกวนจากเครื่องจักรลง เกิดเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่ผิดตาไปจากโรงงานยุคเก่าอย่างมาก
นี่คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของพลังแห่งนวัตกรรม ที่ไม่เพียงนำมาซึ่งรางวัล โอกาสและกำไร ทว่ายังเป็นอำนาจในการต่อสู้ของ SME ไทยอีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี