Main Idea
- หากพูดถึงเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงการวิจัยต่างๆ ได้อย่างไร ไหนจะเรื่องของเงินลงทุนอีก
- ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำธุรกิจแบบห่างไกล R&D โดยทำเท่าที่ตัวเองทำได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การทำ R&D คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้
หากพูดถึงเรื่องของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ผู้ประกอบการหลายรายอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงการวิจัยต่างๆ ได้อย่างไร ไหนจะเรื่องของเงินลงทุน ที่ต้องใช้จำนวนไม่น้อย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกทำธุรกิจแบบห่างไกล R&D โดยทำเท่าที่ตัวเองทำได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การทำ R&D คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้
แต่มีผู้ประกอบการไทยเพียงแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลงมือทำ R&D นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับปริมาณของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย และวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจว่าทำไม SME ยุคใหม่ถึงยังห่างไกลจาก R&D แล้วจะทำอย่างไรที่จะทุบกำแพงทิ้งเพื่อให้เรื่องการทำวิจัยและพัฒนากลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับ SME มากขึ้น
จากข้อมูลงานวิจัยของ Krungthai Macro Research เรื่อง “SMEs… ทำ R&D ไม่เดียวดาย” ได้มองเห็นความสำคัญของการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตได้ แม้แต่ธุรกิจ SME ขนาดเล็กก็สามารถทำ R&D จนประสบความสำเร็จเทียบเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
- การทำ R&D ดีอย่างไร?
- ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่าง
ยุคนี้ธุรกิจมีการแข่งขันที่สูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มักจะขายสินค้าที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น การพัฒนาสินค้าให้มีความสดใหม่อยู่เสมอเพื่อเข้ากับเทรนด์และความต้องการของผู้คนในปัจจุบันจะช่วยให้ธุรกิจสร้างกำไร สร้างสินค้าที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งได้
- เพิ่มยอดขายได้มากขึ้น
จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าแม้บริษัทจะมีการลงทุนด้าน R&D ไม่มากนัก แต่หากสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน R&D ได้สูงถึง 6 -23 เปอร์เซ็นต์ และในส่วนของไทย มีงานวิจัยที่พบว่าโรงงานที่มีการทำ R&D มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงกว่าโรงงานที่ไม่ได้ทำ R&D ด้วย
- ทำให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน
การทำ R&D อาจไม่ได้ทำให้ธุรกิจมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลก็จริง แต่ก็ช่วยให้ธุรกิจอยู่ในวงจรความต้องการของลูกค้าอยู่เรื่อยๆ โดยมีงานศึกษาหลายงานในต่างประเทศที่พบว่าการมีนวัตกรรมช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้นานขึ้น
- ข้อกังวลยอดฮิตในการทำ R&D
- ขาดบุคลากรและเครื่องมือ
เหตุผลยอดฮิตที่ทำให้หลายธุรกิจตัดสินใจไม่ทำ R&D นั่นคือเรื่องของบุคลากรและเครื่องมือ โดยจำนวน 44 เปอร์เซ็นต์ของ SME บอกว่าพวกเขามีปัญหาดังกล่าว
ทางแก้ : สำหรับ SME ที่ขาดบุคลากรและเครื่องมืออาจต้องหันหน้าพึ่งพาหน่วยงานที่พร้อมให้บริการ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยภาครัฐ 2.ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม 3.ศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยหน่วยงานเหล่านี้สามารถสนับสนุน SME ได้หลายอย่างตั้งแต่การให้คำปรึกษา ให้ใช้เครื่องมือ ทีมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี จนถึงเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้า
- ขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและงานวิจัย
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ยอมทำ R&D อาจเพราะพวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่มีความรู้ด้านนี้ ไม่มีข้อมูลด้านเทคโนโลยี เลยทำให้เขาคิดว่าการทำ R&D เป็นเรื่องไกลตัว
ทางแก้ : นี่คือยุคแห่งข้อมูล ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย หากว่าคุณอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีก็สามารถติดตามผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ทั้งแบบ Offline หรือช่องทาง Online ได้ง่ายๆ โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำนวัตกรรม เช่น สวทช. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.)
- ไม่มีต้นทุน
มี SME จำนวนมากที่ไม่มีต้นทุนสำหรับการทำวิจัย อีกทั้งต้นทุนการทำ R&D ยังค่อนข้างสูง เรื่องของต้นทุนจึงเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการ SME
ทางแก้ : SME ที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับการทำ R&D จากสถาบันการเงินชั้นนำได้ แต่หาก SME รายใดที่มีไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์ และต้องการเงินสนับสนุน ก็สามารถยื่นขอเงินทุนให้เปล่าเพิ่มเติมจากโครงการ 4 ประเภท จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น โครงการ ITAP หรือ IRTC ที่ช่วยสนับสนุนทั้งเงินทุนและส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลการทำ R&D ในขณะที่บางโครงการจะให้ทุนสนับสนุนในการนำงานวิจัยจากสถาบันวิจัยภาครัฐมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เช่น Research Gap Fund เป็นต้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี