ONGA Artful Light นวัตกรผู้ออกแบบแสงให้โลกสวย ปลุกเศรษฐกิจให้สว่าง

Text : กองบรรณาธิการ  Photo : สรรค์ภพ จิรวรรณธร
 
 
 

Main Idea
 
  • แสงไม่ได้ให้แค่ความสว่าง แต่ยังให้ความสวยงามที่แสดงถึงอัตลักษณ์ และเป็นแลนด์มาร์กให้กับประเทศ ช่วยจุดประกายสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย
 
  • “อองกา อาทฟูล ไลท์คือผู้สร้างประติมากรรมแสงที่ได้จัดแสดงในงานระดับโลกมาแล้ว พวกเขาใช้นวัตกรรม มาสร้างความโดดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ และชัดเจนในเรื่องการใส่ใจต่อโลกและสิ่งแวดล้อม จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม



 
     The Sunflowers ประติมากรรมแสงรูปดอกทานตะวันยักษ์หนึ่งเดียวในโลกที่เคลื่อนไหวเอนตัวทักทาย เปล่งแสงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปรากฏโฉมขึ้นเป็นครั้งแรกในงาน Vivid Sydney 2017 ณ ประเทศออสเตรเลีย สนามประลองผลงานประติมากรรมแสงที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก! สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็นอยู่ไม่น้อย


     ในปีที่ผ่านมาคนทั่วโลกยังได้ประทับใจกับ Visible Dynamics ประติมากรรมแสงพลังงานลมที่ใช้การหมุนตัวเปล่งแสงอวดสายตามหาชน จนได้รับเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ประกาศความสำเร็จบนสื่อหน้าหนึ่งของประเทศออสเตรเลียเป็นปีที่ 2 ที่น่าภูมิใจคือ ผลงานทั้ง 2 ชิ้นเป็นของคนไทย บนความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และ บริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ จำกัด นักออกแบบแสงเพื่อโลก
              




     ด้วยความหลงใหลในแสง จาง หมิง (Zhang Ming) ประธานกรรมการ และ ดรรชนี องอาจสิริ รองประธานกรรมการและ Creative Lighting Designer จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ จำกัด ขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน จากธุรกิจซื้อมาขายไปมาต่อยอดสู่ธุรกิจออกแบบแสง (Creative Lighting) ที่ให้บริการครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ จำหน่าย ติดตั้ง รื้อถอน และรับจัดเก็บ โดยมีทั้งแบบให้เช่าไฟประดับงานชั่วคราวและงานออกแบบแสงสำหรับอาคารสถาปัตยกรรม พื้นที่สาธารณะ ออกแบบโคมไฟขนาดใหญ่ (Chandelier) เสาไฟที่ต้องการเน้นงานดีไซน์ งานออกแบบแสงน้ำพุเต้นระบำ งานฉายภาพ 3 มิติบนอาคารขนาดใหญ่ (3D Mapping) งาน Interactive Light Installation, Hologram Video รวมทั้งงานจิตรกรรมแสงที่ทำจากเส้นใยแก้วนำแสง เป็นต้น มีลูกค้าเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร เมือง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่นเดียวกับไฟเมืองสวยๆ ที่ส่องแสงอยู่ใน จ.ยะลา เพื่อลดความน่ากลัวในพื้นที่ยามค่ำคืน ก็เป็นผลงานของพวกเขา





     โดยมองว่าแสงสว่างไม่ได้ให้แค่ความสวยงาม แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นเศรษฐกิจ แสดงอัตลักษณ์ของเมือง และเป็นแลนด์มาร์กให้กับประเทศได้ด้วย เฉกเช่นในยุโรปที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบแสงของเมืองมานาน


     “เขาใช้แสงสร้างพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาชื่นชม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม คนที่สันโดษอยู่ในภาวะซึมเศร้าการมีแสงไฟจะทำให้เขาอยากออกจากบ้าน มาเสพความสวยงาม มารู้จักเพื่อนใหม่ๆ จึงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้มาจัดแสดงผลงานของตัวเอง ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสนามประลองวิทยายุทธ์ของศิลปินนักออกแบบแสง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ไปอีกด้วย” ดรรชนีบอก
 
  • นวัตกรรมแสง แสดงถึงความเป็นเมืองครีเอทิฟ

     เมื่อสิ่งที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งหัวใจคือ การผลักดันให้อุตสาหกรรมไลติ้งประเทศไทยต้องไม่เป็นแค่ผู้ใช้ (User) หรือแรงงาน แต่ต้องเป็นประเทศของนักสร้างสรรค์ แม้จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย เพื่อขยับจากคนซื้อมาขายไปมาเป็นบริษัทที่พัฒนานวัตกรรมแสงของตัวเอง และพวกเขากำลังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น


     “เราพยายามให้งานครีเอทิฟถูกพัฒนาต่อไป เพื่อให้ตลาดนี้เติบโตขึ้น ซึ่งงานครีเอทิฟดีไซน์ก็เหมือนกับงานวิจัยมันต้องใช้เวลา แต่มันสำคัญเพราะจะทำให้เรามีนวัตกรรมเป็นอาวุธของเราเอง ถ้าเราไม่พัฒนา ประเทศเราก็เป็นได้แค่ยูสเซอร์ และแรงงาน ทั้งที่ที่ผ่านมาเรามีความครีเอทีฟเรื่องดีไซน์ อย่างคนไทยทำงานไลติ้งดีไซเนอร์ที่สิงคโปร์เยอะมากนะ แต่เป็นลูกจ้างเขา ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาทำเองอย่างเรา นี่คือเหตุผลที่เวลามีงานประกวดไลติ้งที่ไหนเราจะพยายามส่งเข้าประกวด อย่างน้อยๆ จะได้มีชื่อของประเทศไทยติดเข้าไปด้วย”





     ความมุ่งมั่นที่อยู่ในใจ คือที่มาของผลงานนวัตกรรมที่ไม่เพียงโดดเด่นในเรื่องดีไซน์ แต่ยังชัดเจนในเรื่องการใส่ใจต่อโลกและสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้แสงสว่างเจิดจ้าก็ไม่ได้สิ้นเปลืองพลังงานเสมอไป เพราะสามารถใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ อย่างแสงอาทิตย์และลม มาสร้างแสงสว่างได้
ผลงานของ อองกา อาทฟูล ไลท์ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในต่างประเทศ ถูกจัดแสดงในทำเลที่ดีที่สุดในเทศกาลแสงระดับโลก ได้รับการโหวตจนติด 1 ใน 5 อันดับผลงานที่ผู้ร่วมงานกดไลค์ให้มากที่สุด แต่พอกลับมาเมืองไทยพวกเขายอมรับว่าทุกอย่างกลับ...เงียบเหงา เพราะไม่มีพื้นที่ให้ไปจัดแสดง ไม่มีผู้สนับสนุน ขณะที่การออกแบบตกแต่งแสงแต่ละครั้งมีต้นทุน ทว่าส่วนใหญ่ยังอยากให้ไปจัดแสดงฟรี ซึ่งนี่ยังเป็นโจทย์สำคัญที่กำลังท้าทายความมุ่งมั่นในวันนี้


     “การทำเรื่องพวกนี้ให้เกิดสำคัญมาก มันจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ และถ้าตรงนี้เกิดขึ้นก็จะทำให้ต่างชาติต้องบินมาดูงานที่ประเทศเรา ได้เห็นว่าคนไทยก็ครีเอทิฟ และการที่ต่างชาติเข้ามาไม่ใช่กระตุ้นแค่ธุรกิจของเรา แต่ทั้งระบบขนส่ง โรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ร้านค้า และอื่นๆ เรียกว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบ้านเราให้ดีขึ้นด้วย” เธอบอกความเชื่อมั่น ก่อนแสดงความเห็นต่อว่า


     “ถามว่าธุรกิจนี้มีเสน่ห์อย่างไร ทำไมถึงยังทำอยู่ทั้งที่ยากและเหนื่อย อาจเป็นเพราะความชอบของเรา 2 คน เราชอบในงานนี้ มันเลยทำให้อยากทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามองว่าแค่อยากรวยก็คงไปทำอสังหาฯ หรืออย่างอื่นไปแล้ว แต่มองว่าเพราะชอบตรงนี้ทำให้ยังอยากอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป และเชื่อว่าเรายังมีคุณค่าที่จะสร้างสรรค์งานดีๆ ให้เกิดขึ้น ช่วยพัฒนาเด็กไทยพัฒนาสังคมของเรา ซึ่งวันหนึ่งก็คงมีคนเห็นความสำคัญ อย่างที่ตอนนี้หลายๆ คนก็เริ่มเห็นแล้ว
“ความสุขของคนที่ทำงานในอองกาฯ ทุกคน เกิดขึ้นตอนที่ไฟมันเปิด เราทำงานกันเหนื่อย แต่ทันทีที่ไฟมันเปิด ได้เห็นผู้คนที่มาเดินชมงานแล้วชอบ อันนั้นเป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แล้วทุกคนในทีมเราก็จะรู้สึกว่ามีความสุข เหมือนเป็นมนต์สะกดที่ทำให้ทุกคนยังรู้สึกรักในงานและยังอยู่กับงานนี้ต่อไป” ดรรชนีบอกในตอนท้าย


     ด้วยความมุ่งมั่นที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจ ทำให้บริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ จำกัด สามารถคว้ารางวัล SME Thailand Inno Awards 2018 ในสาขาโดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ
 คุณเองก็ทำได้เช่นเดียวกัน หากมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการของคุณ มีนวัตกรรมไม่ซ้ำแบบใคร ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่  โครงการ SME Thailand Inno Awards 2019  ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2562 ติดตามรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.smethailandclub.com/innoawards2019 เพื่อชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ใน 9 สาขานวัตกรรม และโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มาประกาศความสำเร็จของธุรกิจคุณไปด้วยกัน!!
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน