Main Idea
- ยุคนี้ทำอะไรธรรมดาโลกไม่จำ! เหล่านักออกแบบจึงพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง
- สำหรับแบรนด์ KANITA พวกเขานำเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบกระเป๋าเครื่องหนังในแต่ละคอลเลกชันให้มีเสน่ห์ชนิดโลกลืมไม่ลง เพื่อสร้างพื้นที่ยืนในโลกธุรกิจได้สำเร็จ
ความหมายของ “คณิตา” แปลว่า คนที่เก่งเรื่องคณิตศาสตร์ ทว่าเจ้าของแบรนด์นี้กลับมีหัวสร้างสรรค์ทางศิลปะ เอามากๆ เธอคือ คณิตา คนิยมเวคิน แห่งบริษัท ดู คัม ทีม จำกัด เจ้าของแบรนด์ KANITA เธอสนใจเรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามความปรารถนาลึกๆ ที่อยากเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า และเริ่มตามฝันด้วยการทดลองหาเศษหนังมาประดิดประดอยเป็นพวงกุญแจ ปกสมุดทำมือ ฯลฯ ทั้งใช้เอง และมอบเป็นของขวัญให้กับคนใกล้ตัว ก่อนจะพัฒนาเป็นธุรกิจในเวลาต่อมา
คณิตาเริ่มมองหาโอกาสขยายธุรกิจ จึงส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับประเทศ โดยตั้งโจทย์ว่าสินค้าต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย จนมาลงตัวที่ขนมไทยที่ชอบกิน แล้วถอดแบบออกมาเป็นรูปทรงของกระเป๋า กลายเป็นเครื่องหนังคอลเลกชัน “ขนมไทย” ที่คว้ารางวัล Demark 2011 มาได้สำเร็จ
“ความยากของมันคือ เอกลักษณ์ยังต้องอยู่ รูปทรงเหมือน สีสันใช่ ฟังก์ชันก็ต้องใส่ลงไป และต้องใช้งานได้ง่ายด้วย อย่างกระเป๋าข้าวต้มมัดต้องยังดูเป็นข้าวต้มมัดที่มีฟังก์ชันคือใส่กุญแจ ทำอย่างไรให้มันแกะได้ โดยที่ขนมยังมัดติดกันอยู่”
คณิตาอธิบายการทำงานว่า เริ่มต้นทำงานบนใบตองก่อน แล้วค่อยทำแพตเทิร์นบนกระดาษ ก่อนจะลงบนแผ่นหนัง แล้วตัดเย็บจนเป็นกระเป๋าแต่ละใบ ทั้งนี้หนังที่ใช้ต้องมีความหนากำลังดี ขึ้นรูปต้องเป็นทรง ไม่เหี่ยวหรือแข็งกระด้างไป การเลือกสีและประเภทของหนังก็ต้องเหมาะสม อย่างหนังที่มีความเงาให้อารมณ์เหมือนเครื่องหนังขนมไทยที่เพิ่งนึ่งออกมาจากเตาใหม่ๆ ขณะที่หนังส่วนใบตองกับหนังส่วนเส้นตอก ก็ต้องใช้หนังคนละชนิดกัน เหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนทำใส่ใจ และหนุนให้เครื่องหนังคอลเลกชันขนมไทยทั้งสี่ ได้แก่ กระเป๋าขนมใส่ไส้และกระเป๋าขนมเทียนสำหรับใส่เศษสตางค์ กระเป๋าขนมข้าวต้มมัดสำหรับใส่พวงกุญแจ และขนมจากสำหรับใส่เครื่องเขียน เป็นที่กล่าวขวัญในตลาด
“เราคิดไอเดียนี้มาจากสมองตัวเองล้วนๆ อาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากการห่อขนมจริง ไม่ได้ก๊อบใครแน่นอน เลยคิดหาอะไรที่จะมาปกป้องตัวเรา จึงไปยื่นจดสิทธิบัตร ได้-ไม่ได้ไม่รู้ อย่างน้อยมีเลขที่จดแจ้งก็ยังดี สำหรับใช้อ้างอิงในแพ็กเกจ ใช้เวลากว่า 4 ปีกว่าถึงได้สิทธิบัตร ความรู้สึกคือมันเหมือนเราชนะตัวเอง”
- สร้างพื้นที่ให้ธุรกิจด้วยนวัตกรรม
ผลแห่งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำธุรกิจของแบรนด์ KANITA
“ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ สำคัญที่นวัตกรรมทางความคิดในการออกแบบ ซึ่งทำให้เรามีผลงานที่ต่างจากคนอื่น ทำให้เรามีพื้นที่ของเราเอง และเราได้ครอบครองพื้นที่ตรงนี้ คนอื่นไม่สามารถที่จะทำเหมือนเราได้ เพราะเราเริ่มทำก่อน ถ้าใครเริ่มทำตาม นั่นคือมือที่ 2 มือที่ 3 แล้ว”
ความท้าทายป้ายต่อไปที่เธอต้องเผชิญในเวลานั้นคือ จากที่เคยซื้อวัสดุอุปกรณ์มานั่งทำงานแฮนด์เมดด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เธอต้องเริ่มมองหาโรงงานมาช่วยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตามจำนวนออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น แต่เพียงแค่สั่งผลิตครั้งแรกก็เจอแจ็กพอต โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามจำนวนที่สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้จะเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก แต่เธอก็มองว่าการเจอปัญหาตั้งแต่ออร์เดอร์เล็กๆ ทำให้เธอตื่นตัวในการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบ การจัดการสต็อก เพื่อประสานงานกับทางโรงงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งผลของการทำงานหนักก็คือ การได้เจอกับโรงงานที่ไว้วางใจได้ และผลิตสินค้าคุณภาพให้เธอเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี นอกจากยอดขายที่เข้ามาทางช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ คณิตายังใช้ความสามารถด้านการดีไซน์ รับออกแบบแบบ Made to Order เพื่อหารายได้เสริมมาหล่อเลี้ยงธุรกิจหลัก ขณะเดียวกัน เธอยังลองเปิดร้าน KANITA ขึ้นที่เอเชียทีค รองรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ถือเป็นการเติมเต็มความฝันที่อยากจะมีร้านเป็นของตัวเอง รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าออนไลน์ว่า KANITA นั้นมีตัวตนอยู่จริง ทว่าก็ต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย
- คอลเลกชันต้องต่อเนื่อง แบรนด์จึงเข้มแข็ง
“การที่เราไปรับออกแบบให้กับลูกค้าก็ดี หรือการไปดูแลร้านด้วยตนเองก็ดี มันเอาเวลาของเราไปหมดเลย แล้วสินค้าเราก็ยังมีไม่มาก เราเลยนำของคนอื่นมาแจมด้วย ไปๆ มาๆ กลายเป็นสินค้าคนอื่นมากกว่า สินค้าเราเป็นแค่ส่วนประกอบ ทั้งที่ชื่อร้าน KANITA จึงคิดว่าเราควรให้เวลากับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และควรสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ก่อนที่จะต่อยอดทำสิ่งใด”
ในช่วงที่ไม่มีสินค้าออกมาใหม่ แน่นอนว่าลูกค้าก็อาจหดหายไปเป็นธรรมดา แต่ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้นใหม่ คณิตาจึงกลับมาโฟกัสกับการคิดคอนเซปต์ และออกแบบสินค้าเพิ่มในคอลเลกชันขนมไทย คือ กระเป๋าขนมเบื้องสำหรับใส่เศษสตางค์และพวงกุญแจ โดยใช้สีของซิปเป็นตัวบ่งบอกรสชาติ ไส้เค็มและไส้หวาน ส่วนหนังที่เลือกใช้จะมีสีเข้มขึ้นเมื่อโดนแดดลม เปรียบดั่งขนมเบื้องที่สีจะเข้มขึ้นเมื่ออยู่บนเตานั่นเอง ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์กระเป๋าหนังคอลเลกชันใหม่ คือ “วันเพ็ญ” ไอเดียได้มาจากความต้องการที่จะผลิตสินค้ารับช่วงวันลอยกระทง และการจับจีบใบตองสำหรับทำกระทง คนที่เคยทำบายศรีประกวดมาก่อน ยอมรับว่าคอลเลกชันนี้จัดว่ายากทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำหนังชิ้นเล็กๆ มาบรรจงพับเป็นกลีบกระทงทีละกลีบ การหาเทคนิคเย็บต่อกลีบให้สมูธแบบไร้รอยต่อ ก่อนจะขึ้นทรงเป็นกระเป๋าทรงบัคเก็ตสะพายข้าง และกระเป๋าคลัตช์แสนเก๋ กรุยทางให้แบรนด์ KANITA หวนคืนสู่วงการอย่างสง่างามอีกครั้ง
“เรายังตั้งใจขายเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งยังคงมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ ลูกค้าบางรายก็น่ารัก ช่วยแชร์ไอเดียในการพัฒนาสินค้าด้วย อีกเรื่องคือ การตลาดซึ่งมีความสำคัญ แต่ตัวเราบอดเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำการตลาดจริงจัง สินค้ามันขายตัวมันเอง ก็ตั้งใจว่าจะไปเข้าอบรมหาความรู้ด้านมาร์เกตติ้งเพิ่ม ถ้ามีการตลาดดีๆ เชื่อว่าธุรกิจน่าจะไปได้ไกลกว่านี้”
ผลลัพธ์จากความตั้งใจ ทำให้ บริษัท ดู คัม ทีม จำกัด (KANITA) คว้ารางวัลโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2018 มาได้สำเร็จ
กับผลงานนวัตกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความเป็นไทย ให้ทั่วโลกได้...จดจำ
นวัตกรรมสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้ คุณเองก็ทำได้เช่นเดียวกัน หากมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการของคุณ มีนวัตกรรมไม่ซ้ำแบบใคร ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่ โครงการ SME Thailand Inno Awards 2019 ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2562 ติดตามรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.smethailandclub.com/innoawards2019 เพื่อชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ใน 9 สาขานวัตกรรม และโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มาประกาศความสำเร็จของธุรกิจคุณไปด้วยกัน!!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี