โปเกมอนฉันเลือกนาย! เปิดมุมมองความคิด ทำธุรกิจสไตล์ ‘Pokémon’




Main Idea
 
  • Pokémon หรือแก๊งตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดน่ารักจากญี่ปุ่น ใครเลยจะรู้ว่าเบื้องหลังความสนุก บันเทิงต่างๆ เหล่านั้น แท้จริงแล้วมาจากการทำงานหนักที่เข้มข้น วิธีคิดในการทำธุรกิจที่แตกต่างไม่เหมือนใคร
 
  • ลองมาดู 5 มุมมองความคิดทำธุรกิจตามสไตล์ ‘Pokémon’ แบรนด์ที่มีอายุกว่า 22 ปี และกระจายความนิยมไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลก



 
     ‘โปเกมอน’ หรือชื่อเต็มๆ ว่า ‘Pocket Monsters’ ตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดน่ารักจากประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ ซะโตะชิ ทะจิริ (Satoshi Tajiri) กรรมการบริหารบริษัทโปเกมอน ซึ่งมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่เคยวิ่งเล่นไล่จับแมลงตามที่ต่างๆ มาสะสมไว้ จึงอยากให้เด็กยุคใหม่หรือเด็กในเมืองที่ไม่มีโอกาสเช่นเขา ได้มีโอกาสเล่นสนุกสะสมตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดเหมือนอย่างเขาบ้าง
 
 
     แต่รู้ไหมว่าจากความตั้งใจในจุดเล็กๆ นั้น กลับทำให้แก๊งมอนสเตอร์เหล่านี้เติบโตอยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นและเด็กทั่วโลกมานานกว่า 22 ปี ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังแตกแขนงธุรกิจออกไปในหลายสาขา ตั้งแต่วิดีโอเกม หนังสือการ์ตูน การ์ตูนโทรทัศน์ การ์ดเกม ภาพยนตร์แอนิเมชั่น ไปจนถึงการขายลิขสิทธิ์เพื่อผลิตเป็นสินค้าต่างๆ สร้างรายได้กว่าหลายพันล้านบาท อะไรคือกุญแจความสำเร็จของธุรกิจคอนเทนต์การ์ตูนตัวนี้ ในโอกาสที่ได้มาเยือนเมืองไทยของ เคนจิโร่ อิโต (Kenjiro ITO) Chief Business Officer, Board Director, แห่ง The Pokémon Company ซึ่งร่วมงานกับโปเกมอนในปี 2544 จากพนักงานเพียง 40 คน ยอดขายอยู่ที่ 4,000 ล้านเยน แต่ ณ ปัจจุบันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถเติบโตทั้งในประเทศญี่ปุ่นและสาขาในประเทศต่างๆ มีพนักงานมากกว่า 900 คน และยอดขายกว่า 120,000 ล้านเยน

 
     เขาจะมาเผยเคล็ดลับความสำเร็จให้ฟังกัน



 
สูตรลับความสำเร็จฉบับโปเกมอน 
 
 
     Media Mix
 
 
     ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้บริษัทโปเกมอนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ คือ การทำธุรกิจแบบ Media Mix หรือแตกไลน์คอนเทนต์ออกไปยังสื่อต่างๆ ได้อย่างครบวงจรทั้งอนาล็อกและดิจิทัล ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเอง ได้แก่ วิดีโอเกม หนังสือการ์ตูน การ์ดเกม รายการโทรทัศน์ ไปจนถึงภาพยนตร์แอนิเมชัน และการขายลิขสิทธิ์เพื่อผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ของใช้ ของที่ระลึก สติกเกอร์การ์ตูนบนหน้าจอมือถือ ฯลฯ นับเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับแบรนด์ และนำแบรนด์เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในส่วนต่างๆ ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งไม่เฉพาะแค่เด็ก แต่คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นแฟนโปเกมอนได้  
 
 
     รวมถึงความพยายามใช้ช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงและสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้น ตั้งแต่รายการโทรทัศน์ เว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มีการจัดตั้งสำนักงานโปเกมอนเซ็นเตอร์ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนคุยกับลูกค้าโดยตรง เพื่อรับฟังและสำรวจถึงความต้องการในตลาด โดยวิธีการดังกล่าวสามารถสร้างแฟนพันธุ์แท้ที่ยั่งยืนให้กับโปเกมอนได้
 
 
     โดยครั้งหนึ่งที่ไปเจาะตลาดเกมอเมริกา เคนจิโร่ อิโต เล่าว่าครั้งแรกนั้นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากเหล่าเกมเมอร์อเมริกา ด้วยเหตุผลคือ 1.เป็นผลิตภัณฑ์ออกจากประเทศญี่ปุ่น 2.คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนสีเหลือง 3.ใช้โปรแกรมเชื่อมต่อคนละตัว จึงทำให้มีการขยายตัวค่อนข้างยากลำบาก ทำให้ทางโปเกมอนคิดกลยุทธ์การใช้ Media Mix เพื่อรุกตลาด โดยใช้คอนเทนต์ประเภทต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ วิดีโอเกม การ์ดเกม ภาพยนตร์แอนิเมชัน ซึ่งจากยุทธศาสตร์นี้เองที่ทำให้ได้รับการตอบรับแบบที่ดีเพิ่มขึ้นจากตลาดอเมริกา
 



 
     มุ่งพัฒนาแบรนด์ให้ยั่งยืน มากกว่าสร้างผลกำไร
 
 
     การทำธุรกิจสำหรับบริษัทอื่นทั่วไปอาจเน้นวัดความสำเร็จอยู่ที่ผลกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย ว่าลงทุนเท่าไหร่ จะได้ผลกำไรตอบแทนเท่าไหร่ แต่สำหรับบริษัทโปเกมอนเรากลับให้ความสำคัญที่การสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นสำคัญ โดยใช้ประสิทธิภาพของคอนเทนต์ที่มีอยู่ว่าจะสามารถสร้างผลกำไรมันขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อนำกลับไปพัฒนาแบรนด์ให้ถาวรยั่งยืนต่อไป
 
 
     ทำธุรกิจแบบ B2B2C
 
 
     เราอาจจะได้ยินศัพท์การทำธุรกิจ B2B – การทำธุรกิจระหว่างธุรกิจ หรือ B2C – การทำธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง แต่สิ่งที่โปเกมอนคิด คือ การทำธุรกิจแบบ B2B2C โดยการเชิญชวนนักธุรกิจที่สนใจมาร่วมทุน เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อลูกค้า เป็นการผสมผสานระหว่างการทำธุรกิจทั้งสองอย่างเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยไม่ได้ยืดถือเฉพาะเพียงแต่มุมมมองของลูกค้าหรือมุมมองภาคธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
 



 
     สร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา
 
 
     มีการนำความคิดสร้างสรรค์ออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้ลูกค้าเกิดความตื่นเต้นตลอดเวลาและมีความสุขทุกครั้งที่ได้สัมผัสกับสินค้าเหล่านั้น โดยทั่วไปถ้าพูดถึงสินค้าที่ดี ทุกคนอาจมองที่ความสวยงาม ความปลอดภัยสูง หรือใช้งานง่าย หรือมีราคาถูกไหมเท่านั้น แต่สำหรับบริษัทโปเกมอน เรามองว่าสินค้าที่ดี คือ สินค้าที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราพยายามคิดตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราจะมีความสนุก แปลกใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็น



 
     เอากำไร มาต่อทุน
 
 
     การที่จะสามารถทำทั้ง 4 ข้อให้ครบได้ต่อเนื่องตลอดไป จำเป็นต้องใช้ทุนในการบริหารจัดการ ฉะนั้นสำหรับบริษัทโปเกมอนจะมีการทำงบดุลทุกปี ซึ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นไม่เคยปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลยแม้แต่เยนเดียว แต่จะเอาผลกำไรทั้งหมดย้อนกลับมาลงทุนกับโปเกมอนตลอดเวลา เพราะไม่อยากให้โปเกมอนเป็นแค่เพียงปรากฏการณ์ทางสังคมหรือบูมขึ้นมาแล้วก็จบไป แต่อยากให้เป็นแบรนด์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่การหวังผลทางธุรกิจ แต่ไม่อยากให้สูญหายไปจากตลาดหรือความทรงจำ ทุกๆ ปีจึงเอาเงินผลกำไรเหล่านี้กลับมาลงทุนกับโปเกมอนกับตัวสินค้าของโปเกมอน นี่คือ สิ่งที่ทำให้สามารถอยู่ได้ยั่งยืนตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ด้วยการไม่ทำกำไรให้เห็นเฉพาะหน้า แต่จะทำให้โปเกมอนเป็นแบรนด์ที่มีความมั่นคงแข็งแกร่งและยั่งยืน นี่คือ สิ่งที่ถ่ายทอดให้ผู้ถือหุ้นและพนักงานทุกคนตลอดเวลา


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน