Main Idea
- การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่กำลังมาแรงในการเสริมสร้างภาวะผู้นำ โดยผู้นำทุกคนต้องมีวิธีการนำเสนอให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจและจดจำได้
- การเล่าเรื่องเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดี เพราะคนส่วนมากจำเรื่องราวได้มากกว่าเนื้อหาสาระที่นำเสนอเป็นข้อๆ ฉะนั้นผู้นำที่ดี SME ที่อยากประสบความสำเร็จ จึงต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีด้วย
ณ ตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญที่กำลังมาแรงในการเสริมสร้างภาวะผู้นำคือ การเล่าเรื่อง (Storytelling) เหตุผลเป็นเพราะว่า ผู้นำทุกคนต้องมีวิธีการนำเสนอให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจและจดจำได้ เพราะจำไม่ได้ ทำไม่ได้!
วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้คือ การเล่าเรื่อง เพราะคนส่วนมากจำเรื่องราวได้มากกว่าเนื้อหาสาระที่นำเสนอเป็นข้อๆ แต่ปัญหาสำคัญคือ ผู้นำเสนอส่วนมากไม่สามารถเล่าเรื่องที่ทรงพลังและน่าจดจำได้ เพราะเรื่องเล่าที่ดีต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น โครงของเรื่อง (Plot) ต้องน่าสนใจ เรื่องที่เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์แย่ๆ แล้วกลับมาดีในภายหลัง หรือในทางกลับกันคือ เริ่มต้นดีๆ แล้วพลิกกลับเป็นแย่ในตอนท้าย มีแนวโน้มจะสร้างความสนใจได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ดีไม่สามารถคิดและเล่าได้ทันที ต้องอาศัยการตระเตรียมพอสมควร วิธีการง่ายๆ คือ ให้เริ่มต้นด้วยการนึกถึงเรื่องของตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นประวัติชีวิต วีรกรรมที่เคยทำ ประสบการณ์ที่ติดตรึงใจ เป็นต้น เมื่อได้เรื่องมาแล้ว ต้องจดบันทึกไว้ เพราะหากเพียงแค่คิดๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่นานจะลืมเลือน ค่อยๆ ทยอยสะสมเรื่องราวต่างๆ ไว้ วันละนิดละหน่อย สร้างให้เป็นคลังเรื่องของคุณเอง ที่สำคัญต้องจัดหมวดหมู่ให้ดี ค้นหาได้ง่าย เวลาต้องใช้จะได้หาเจอ
1.การคิดเรื่อง
เริ่มจากการหาสมุดปากกามาเตรียมไว้ก่อน ห้ามจดใส่เศษกระดาษเด็ดขาด เพราะไม่นาน กระดาษหายหรือไม่ก็หาไม่เจอ ถ้าเป็นคนที่พอใช้เทคโนโลยีได้คล่อง อาจเลือกจดลงบนโทรศัพท์มือถือหรือไอแพด ก็ไม่ขัดข้อง เวลาจดไม่ต้องจดรายละเอียดของเรื่องราวทั้งหมดลงไป แต่ให้จดเพียงแค่สาระสำคัญ 4 อย่าง ได้แก่
เวลา - จดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร ตอนไหน ขณะกำลังทำอะไรอยู่ เช่น วันที่ 16 เมษายน ประมาณบ่ายโมง ขณะกำลังเดินทางกลับจากไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ เป็นต้น
บุคคล – ระบุตัวละครให้ชัดเจนว่าเขา / เธอคนนั้นเป็นใคร ชื่อเรียงเสียงใด เช่น เอก เป็นนักเรียนรุ่นน้อง ที่ไม่ได้เจอกันนานนับ 10 ปี เป็นต้น
สถานที่ - กำหนดพิกัดให้ชัดเจนว่า สถานที่ใด สภาพแวดล้อมเป็นแบบไหน บรรยากาศโดยรอบเป็นอย่างไร เช่น บนศาลาริมทาง ข้างๆ ถนนมิตรภาพ ระหว่างสระบุรี-พระนครศรีอยุธยา ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ลมไม่มีแม้กระทั่งพัดให้ใบไม้กระดิก เป็นต้น
ประเด็นที่ประทับใจ - เรื่องเล่าที่น่าสนใจต้องมีข้อคิด มุมมอง จุดหักมุม หรือความประทับใจบางอย่าง เช่น ตอนแรกคิดว่าจะไม่รอดแล้ว แต่สุดท้ายช่วยกลับขึ้นมาได้ เป็นต้น
เรื่องเล่าที่ดี ต้องบรรยายให้เห็นภาพ ดังนั้น ในการจดจึงต้องบันทึกรายละเอียดเอาไว้บ้าง หากเรื่องราวมีองค์ประกอบครบทั้ง 5 ประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส จะทำให้ผู้ฟังจินตนาการตามได้ดีขึ้น เช่น ผู้หญิงในชุดสีแดง น้ำมะนาวที่เปรี้ยวจนเข็ดฟัน ควันไฟที่เหม็นตลบอบอวล เสียงหวีดร้องที่แหลมจนแสบแก้วหู ไข้สูงมากตัวร้อนจี๋ยังกะจับไฟ เป็นต้น
2.การสร้างหมวดหมู่
เมื่อเริ่มบันทึกเรื่อง ต้องจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน ทำเป็นเมนูเรื่องราวที่สามารถค้นหาและหยิบมาใช้ได้ง่าย อาจจัดหมวดตามเวลาก่อนหลัง ตามอารมณ์ของเรื่อง เช่น สนุก เศร้า ตื่นเต้น ลุ้นระทึก เป็นต้น ตามข้อคิดหรือบทสรุปของเรื่อง เช่น ความประมาท ความกตัญญู การทำงานเป็นทีม เป็นต้น
3.การเลือกเรื่องให้เหมาะกับผู้ฟัง
เมื่อเวลาและโอกาสในการเล่าเรื่องมาถึง การเลือกเรื่องที่จะเล่าให้ดี ต้องดูกลุ่มผู้ฟังเป็นหลัก ใครคือผู้ฟังของคุณ พวกเขาสนใจเรื่องอะไร พื้นเพความรู้เป็นอย่างไร เคยมีประสบการณ์อะไรร่วมกันหรือไม่ เพราะเรื่องเล่าเดียวกันอาจสร้างความรู้สึกต่างเมื่อเล่าให้ผู้ฟังต่างกลุ่มกันฟัง ตัวอย่างเช่น การเล่าเรื่องลูก อาจเหมาะกับคนบางกลุ่ม เพราะไม่ใช่ทุกคนมีลูก แต่การเล่าเรื่องแม่ มีแนวโน้มที่จะเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้มากกว่า เพราะทุกคนมีแม่
4. การเล่าเรื่อง
เมื่อเรื่องพร้อม จากนี้ไปก็ถึงเวลาที่จะเล่า เทคนิคการเล่าให้ได้เรื่อง มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ
เล่าช้าๆ – วัตถุประสงค์ของการเล่าเรื่องคือ ต้องการให้ผู้ฟังเห็นภาพของเรื่องราวที่กำลังเล่าและคล้อยตาม ดังนั้นการเล่าช้าๆ จะช่วยให้ผู้ฟังมีเวลาที่จะคิดและจินตนาการตามที่ผู้นำเสนอต้องการถ่ายทอด
พรรณนาชัดๆ - การให้รายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส จะช่วยให้ภาพที่ต้องการบรรยายชัดเจนขึ้น ผู้ฟังเกิดจินตนาการระหว่างการฟังได้
เว้นจังหวะให้พัก – ทักษะหนึ่งในการเล่าเรื่องที่ดีคือ การมีจังหวะที่เหมาะสมในการเล่า ลองสังเกตเทพของการเล่าเรื่องอย่าง พี่โน้ส อุดม ดูจะเห็นได้ว่าจังหวะของโน้สดีมาก เขารู้ว่าตอนไหนควรหยุด ตอนไหนควรทิ้งระยะ ช่วงไหนควรเว้นวรรค การทอดจังหวะที่เหมาะสมจะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ช่วยปลุกเร้าให้เกิดความตื่นเต้นได้ ดังนั้นต้องรู้ว่าเรื่องที่กำลังเล่า จุดพีก (Peak) อยู่ตรงไหน ก่อนถึงจุดนั้นให้เว้นจังหวะสักชั่วอึดใจ
เก็บมุมหักไว้ตอนจบ - คำตอบ ความตื่นเต้น จุดหักมุม หรือที่เรียกกันว่าจุดพีก (Peak) ต้องเก็บไว้เฉลยในตอนท้ายสุด เพื่อกระตุ้นความน่าสนใจของเรื่องเล่า เช่น มีผู้หญิงสูงอายุเดินมากับเด็กอีกคน เห็นไกลๆ ไม่รู้ว่าใคร พอเดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วเกาะรั้วมองดูเรา ก็จำได้ทันที แม้จะไม่ได้เจอกันนาน ไม่ใช่ใครอื่น...แม่ นั่นเอง
การเล่าเรื่องเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน เคยคิดว่าคนเล่าเรื่องเก่งเป็นพรสวรรค์ แต่พอศึกษาให้ดีพบว่าพรสรรค์มีส่วนน้อยมาก แต่เป็นพรแสวงและความตั้งใจที่จะฝึกฝนต่างหาก ที่ทำให้ผู้นำที่เป็นนักเล่าทุกคน ประสบความสำเร็จ
คุณก็เป็นได้...ถ้าเริ่มต้นเดี๋ยวนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี