ฟัง Qualy เล่าวิธีผลิตสินค้า ‘รักษ์โลก’ ยังไง ให้ลูกค้า ‘รัก’

Text: Neung CCh.




Main Idea
 
  • แม้สังคมกำลังตระหนึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีผู้บริโภคน้อยรายนักที่ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยเหตุผลแรกคือสินค้านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
  • ความท้าทายของบริษัทที่ผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมจึงมีมากมาย ทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้ถูก แถมข้อจำกัดในการผลิตก็มีไม่น้อย แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่แบรนด์ Qualy ของไทยสามารถทำให้สินค้ากว่า 300 ไอเท็ม เป็นที่ยอมรับจากลูกค้ากว่า 50 ประเทศทั่วมาได้ตลอด 15 ปี


     ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอช้าไม่ได้ แต่โอกาสในการทำธุรกิจก็เช่นกัน ผู้ที่มองเห็นโอกาสก่อนก็ย่อมได้เปรียบ ไม่ต่างจากแบรนด์ Qualy ที่มีสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นรองใคร การันตีด้วยรางวัลที่ได้รับจากงานประกวดหลายๆ เวที รวมทั้งรางวัลจากลูกค้าในหลายประเทศอีกด้วย

 



     “ถ้ามองไปไกลๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เทรนด์แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน เพียงแต่บริษัทเรามองเห็นว่าจะต้องทำเรื่องนี้ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วและก็มุ่งเน้นทำเรื่องนี้มาตลอด” ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ Co-Founder บริษัท นิว อาไรวา จำกัด เจ้าของแบรนด์ Qualy ให้เหตุผลถึงจุดเริ่มต้นการสร้างแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสานฝันของคุณพ่อที่ทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกแต่ก็อยากมีแบรนด์สินค้าของตัวเองบ้าง  
 


     “ช่วงเริ่มต้นยอมรับว่าการผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมยาก แต่มันก็ดีกว่าการเป็นผู้รับจ้างผลิต ซึ่งมาร์จิ้นน้อยมาก ต้องผลิตสินค้าเป็นหมื่นเป็นแสนชิ้นถึงจะได้เห็นกำไรเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่เราทำแบรนด์ขึ้นมาสักชิ้นราคามันต่างกันลิบลับ พอเราเน้นงานออกแบบมากขึ้นทำให้เห็นว่าในต่างประเทศเขาเริ่มสนใจงานสิ่งแวดล้อมก็เริ่มจุดประเด็นตั้งแต่นั้นมา”


     แม้บริษัทจะเน้นเรื่องสิ่งแวล้อมแต่เหมือนตกเป็นผู้ต้องหาหรือตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย เพียงเพราะสินค้าที่บริษัทนั้นส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก


     "พลาสติกมีหลายประเภท มีแบบที่ทำลายโลก กับไม่ทำลายโลก เช่น พลาสติกที่นำมาผลิต Qualy เป็นสินค้าเกรดเอ สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ จึงแตกต่างกับพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง อย่างนั้นถือเป็นพลาสติกที่ทำลายโลก แม้กระทั่งถุงพลาสติกที่เราใช้ในร้านเราใช้ไบโอพลาสติก คือเมื่อเลิกใช้สามารถกำจัดได้ด้วยการนำไปฝังดินให้ย่อยสลายได้ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปแต่เราก็ยินดีที่จะใช้
 
  

ดีไซน์ต้องเด่น ใช้งานได้จริง


     ต่อให้ไม่ใช้พลาสติกหรือใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคได้ง่ายๆ เพราะจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ธีรชัย พบว่าโดยทั่วไปการที่จะทำให้สินค้าขายได้อย่างแรกรูปแบบดีไซน์สินค้าต้องโดนใจก่อน อันดับสองคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริงด้วย สินค้าทุกชิ้นของบริษัทจึงผ่านกระบวนการคิดเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่น


     Block Bin ออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถแยกขยะได้โดยง่าย สามารถวางซ้อนกันในแนวสูงเพื่อใช้พื้นที่เท่ากับถังขยะเพียงใบเดียว ช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน


     Log n Roll ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ที่มีแนวคิดอยากให้ผู้ใช้คิดก่อนใช้กระดาษทุกครั้ง โดยออกแบบมาเป็นที่ใส่กระดาษทิชชู่ที่มีกระรอกและต้นไม้เล็กๆ และทุกครั้งที่ดึงกระดาษไปใช้ กระรอกและต้นไม้จะสั่นสะเทือนเหมือนได้รับผลกระทบ เมื่อดึงทิชชู่ไปใช้จนหมด กระรอกและต้นไม้จะหายไป


     Hill Pot เป็นกระถางต้นไม้ระบบ Self-Watering ที่ช่วยดูแลให้ต้นไม้สามารถดูดน้ำไปใช้เองได้ตามปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน เพียงเทน้ำที่ฐานด้านล่าง เชือกที่ซ่อนอยู่ภายในจะทำหน้าที่เป็นเหมือนรากเทียมคอยซึมซับน้ำขึ้นมาสู่ดินและราก ฐานปิดสนิทช่วยป้องกันยุงวางไข่ได้


     “บางครั้งผู้บริโภคยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสินค้าเราคืออะไร แต่เขาชอบเพราะว่าสวย ฉะนั้นงานออกแบบต้องสวยสะดุดสะกดสายตาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามา แต่แค่สวยไม่พอต้องสามารถใช้งานได้จริงด้วย จากนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไป ทำให้คนสนใจสินค้าและดูมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”
 



ต่อไปสินค้าสีเขียวอาจไม่ใช่จุดขาย กลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมี


     ถึงแม้ดีไซน์จะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า ทว่าในอนาคตเทรนด์อาจเปลี่ยนไป เพราะขณะนี้บายเออร์จากต่างประเทศมักมองหาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยภาวะสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เกิดกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้แต่การผลิตสินค้าก็มีแนวโน้มในการนำเอาสิ่งที่ใช้ได้มาผลิตใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการกำจัดขยะ เพราะหลายประเทศค่ากำจัดขยะแพงมาก ในขณะที่วัสดุธรรมชาติเองมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
 


     “ล่าสุดที่บริษัทเราไปออกงานแฟร์ที่ประเทศฝรั่งเศส กับเยอรมัน นำผลงานล่าสุดคือ ถาดรองแก้วที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล (PET) ได้รับความสนใจมาก อยากจะฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่าต่อไปเรื่องของสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ อยากให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ก่อนจะถูกกฎหมายบังคับให้ทำ ถึงเวลานั้นมันอาจจะช้า และคุณจะอาจเหนื่อยในการปรับตัว”

  

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี       
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน