เมื่อเชฟมิชลินลุกมาเปลี่ยนบ้านเป็นร้านอาหารสุดว้าว! รับเทรนด์ร้อน Chef’s Table

Text: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์





Main Idea
 
  • ผลพวงจากผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการกิน โดยมีเชฟบรรจงเลือกเมนู ลงมือปรุงอย่างพิถีพิถัน และอธิบายที่มาที่ไปของอาหารแต่ละจานก่อนเสิร์ฟสไตล์ chef’s table
 
  • เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน และอีกหลายเมืองทั่วโลก เฉพาะสิงคโปร์ที่เดียวก็มีบริการถึงกว่า 10  ราย
 
  • แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่กระแสตอบรับเชฟหนุ่มคริสโตเฟอร์ คอง กลับดีเกินคาดทั้งที่ค่าบริการสูงถึง 138 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 3,200 บาทต่อคน และยังมีคิวจองข้ามปี
 



วันนี้จะพาไปรู้จักคริสโตเฟอร์ คอง เชฟรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 33 ปีที่เชื่อว่าต่อให้เป็นเชฟที่มาจากร้านอาหารระดับดาวมิชลิน ก็ยังฝันอยากมีร้านของตัวเอง และความฝันของคริส หนุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็เป็นจริงเมื่อเขาสามารถเปิดคลับสำหรับคนรักอาหารในชื่อ Dearborn Supper Club ในสิงคโปร์ เสิร์ฟอาหารสไตล์ Modern American เมนู 6 คอร์สที่อพาร์ทเมนต์ตัวเองที่แปรเป็นร้านอาหารโดยรับลูกค้าคราวละ 6-8 คนเท่านั้น





     เพิ่งเปิดบริการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่คิวจองจากลูกค้าเต็มยาวไปถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นเชฟหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย สิ่งที่คริสทำเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ธุรกิจ Supper Club หรือ Dining Club ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลพวงจากการที่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากการกิน


     Supper Club เป็นบริการอาหารแบบ Chef’s Table หรือ Omakase ที่เชฟบรรจงเลือกเมนู ลงมือปรุงอย่างพิถีพิถัน และอธิบายที่มาที่ไปของอาหารแต่ละจานก่อนเสิร์ฟ การเสิร์ฟอาหารสไตล์ Chef’s Table ส่วนใหญ่จะเป็นที่บ้านของเชฟเอง เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน และอีกหลายเมืองทั่วโลก เฉพาะสิงคโปร์ที่เดียวก็มีบริการ Supper Club กว่า 10  ราย สนนราคาคิดเป็นรายหัว เริ่มตั้งแต่ 35 เหรียญไปจนถึงกว่า 100 เหรียญ


     เป็นที่น่าสนใจว่าอะไรที่ทำให้ธุรกิจของคริสได้รับการตอบรับดีทั้งที่ค่าบริการนั้นสูงถึง 138 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 3,200 บาทต่อคน และยังมีคู่แข่งรายอื่นในวงการอีก อะไรคือจุดขายของเชฟหนุ่มคนนื้ ก่อนอื่น เราไปดูปูมหลังของเขาก่อน คริสเกิดที่ซานฟรานซิสโกในครอบครัวที่พ่อเป็นชาวมาเลเซีย แม่เป็นชาวพม่าที่โตในไทย ครอบครัวคริสปักหลักที่เมืองซีแอทเทิล รัฐวอชิงตัน และทำมาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านอาหารอิตาเลียน Perche’NO เป็นร้านเดียวในเมืองที่มีคนจีนเป็นเจ้าของ


 

รวมสูตรจากเชฟระดับโลก


                คริสคลุกคลีช่วยงานในร้านมาตั้งแต่เด็ก เช่น ช่วยนวดแป้งพาสต้า ทำพาสต้า เขาค้นพบตอนอายุ 15 ว่ารักการเข้าครัวปรุงอาหาร เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย คริสออกเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เขาไปตั้งต้นที่มาเลเซีย ประเทศเกิดของพ่อ และได้งานในร้านอาหารทะเลปิ้งย่างชื่อดังในกัวลาลัมเปอร์ ที่ร้านนี้ คริสเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารสไตล์จีน หลังจากสั่งสมวิทยายุทธได้ระดับหนึ่ง คริสก็ย้ายไปสิงคโปร์และได้ร่วมงานกับเชฟกาย ที่ร้านอาหารฝรั่งเศส รวมถึงร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน Waku Ghin ของเชฟเทตสึยะ วากุดะ





                ปลายปี 2015 คริสได้บินลัดฟ้ากลับมายังนิวยอร์ก สหรัฐฯ และได้งานในตำแหน่งซูเชฟที่ The NoMadร้านอาหารระดับ 3 ดาวมิชลินที่ดูแลโดยเชฟแดเนียล ฮุม คริสได้เรียนรู้เทคนิคการปรุงอาหารแบบต่าง ๆ จากเชฟระดับโลก จนถึงจุดที่เขาอยากออกมาทำร้านของตัวเอง ประจวบกับที่ภรรยาซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัวเป็นอพาร์ทเมนต์ขนาด 5 ห้อง คริสและภรรยาจึงตัดสินใจกลับมาลงหลักปักฐานที่สิงคโปร์


                พวกเขาใช้เวลาในการตกแต่งอพาร์ทเมนต์เพื่อเตรียมรองรับ Dearborn Supper Club กระทั่งเปิดรับลูกค้าครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คริสเลือกเสิร์ฟอาหารสไตล์ Modern American ที่เน้นผัก ธัญญพืช และอาหารทะเล เป็นเมนู 6 คอร์สที่รวมเครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำเปล่า ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลูกค้าสามารถนำมาเปิดที่ร้านได้ ลูกค้าหลายคนสงสัยว่าเหตุใดคริสจึงไม่มีเมนูที่ปรุงจากเนื้อวัว หมู หรือไก่ เขาให้เหตุผลว่าเมนูที่รังสรรค์ขึ้นเป็นไปตามความชอบของเขา และเขามีแนวคิดในการเลือกอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก





                คริสมองว่าการทำปศุสัตว์เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังส่งเสริมให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คอนเซปต์ของคริสจึงเป็นการทำเมนูอาหารแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ครัวของคริสจะเปิดบริการเพียงสัปดาห์ละ 2 วันคือศุกร์กับเสาร์ เริ่มตั้งแต่ 19.00 น. เป็นต้นไป โดยคริสจะเตรียมวัตถุดิบตั้งแต่กลางสัปดาห์ โดยมีภรรยาและน้องภรรยาเป็นผู้ช่วย แม้จะคิดค่าบริการสูงกว่า Supper Club เจ้าอื่น คือตกหัวละ 138 ดอลลาร์ แต่คิวที่จองเข้ามากลับยาวเหยียดไปจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ นั่นอาจเป็นเพราะการวางจุดยืนตั้งแต่แรกว่าจะเสิร์ฟอาหารแนวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เน้นอาหารทะเล ธัญพืช และผักเป็นหลัก รวมถึงประสบการณ์การเป็นเชฟในร้านอาหารดาวมิชลินระดับโลกก็เป็นจุดขายหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าต้องการมาพิสูจน์รสมือของเชฟมิลชิน

 
ที่มา : https://mothership.sg/2019/02/dearborn-supper-club-christopher-kong/
www.cnbc.com/2019/03/21/dearborn-supper-club-singapore-chef-cooks-michelin-meals-from-his-hdb.html
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน