HOORAY! หลากไอเดียชุดแฟนซีสายฮา หัวเราะได้กว้างกว่าในงานปาร์ตี้

TEXT :Wattar PHOTO :HOORAY!




Main Idea
 
  • HOORAYสะท้อนตัวตนที่สนุกสนานของเจ้าของธุรกิจได้เป็นอย่างดี เมื่อพวกเธอหยิบเอาสิ่งรอบตัวมาเป็นไอเดียออกแบบชุดแฟนซีแปลกใหม่แล้วเปิดให้เช่า ทำให้งานปาร์ตี้ไม่น่าเบื่อจำเจอีกต่อไป
 
  • จากธุรกิจให้เช่าชุดแฟนซี HOORAY! คว้าโอกาสต่อยอดธุรกิจให้กลายเป็นคอมมูนิตี้รวมรวบซัพพลายเออร์ที่ให้บริการเกี่ยวกับงานปาร์ตี้และอีเวนท์มารวมอยู่ในที่เดียว





     รับรองว่าคนในงานปาร์ตี้ต้องมองจนเหลียวหลังแน่หากใส่ชุดแฟนซีที่มาจากร้าน HOORAY!ไม่ใช่เพราะความอลังการงานสร้าง แต่เป็นเพราะไอเดียการหยิบเอาสิ่งรอบตัวอย่าง ไข่ดาว ซอส แมลงสาบ ยาฆ่าแมลง มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นชุดสนุกๆ มีคาแรกเตอร์ที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครของสองสาวเจ้าของร้านอย่าง เอแคลร์–สิรัญธยา หงวนศิริ และ เนตร-นทีกานต์ เต็มภัทรศักดิ์




     เอแคลร์ชอบทำงานคราฟท์ ตัดเย็บชุดและประดิษฐ์พล็อตเวลามีงานปาร์ตี้ตั้งแต่เด็กๆ ส่วนเนตรเป็นครีเอทีฟชอบคิดอะไรเจ๋งๆ ตลกๆ แหวกแนว ทั้งสองคนสร้างสรรค์ชุด American Food ที่มีทั้ง Ketchup, Mustard และ Hot Dog เพื่อไปงานปาร์ตี้ธีม America ที่เพื่อนๆ จัดขึ้นแล้วมีคนชอบ หลังจากนั้นก็ได้หมุนเวียนเปลี่ยนมือให้เพื่อนยืมไปหลายคน จึงเป็นไอเดียที่ว่าทำไมไม่ทำชุดขึ้นมาอย่างจริงจังแล้วแบ่งให้คนอื่นเช่าด้วยเสียเลย จากเรื่องเล่นจึงกลายเป็นธุรกิจ HOORAY! Costume Studio ให้บริการทั้งเช่าและตัดชุดตามแบบที่ลูกค้าต้องการ หรือใครมีชุดอยู่แล้วสามารถมาฝากเช่าก็ได้


     เนตรบอกว่าลูกค้าของร้านก็มีความชอบคล้ายพวกเธอ เป็นกลุ่มคนที่ชอบความสนุกสนานร่าเริง กล้าทำอะไรแหวกแนว ชอบจัดงานปาร์ตี้





     “นึกภาพคนที่ยอมจ่ายเงินกับลูกโป่งลูกใหญ่ๆ ติดชื่อ หรือเค้ก Customized ที่ปั้นเป็นรูปต่างๆ ตามธีม ซึ่งเรามองว่าชุดของเราน่าจะเข้าไปเพิ่มความสนุก น่าสนใจเข้าไปให้กับธีมด้วย แต่พอทำแบรนด์มาได้ซักพักก็จะเริ่มมีกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเช่นแบรนด์ต่างๆ รายการโทรทัศน์ ครอบครัว โดยเฉพาะสั่ง Customize สำหรับเด็กๆ เราเลยต้องพยายามทำชุดให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายขึ้น”


     สิ่งที่ทำให้ HOORAY! แตกต่างจากร้านเช่าชุดร้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากไอเดียแล้วคือการตัดเย็บชุดให้สวมง่าย ถอดง่าย จากการที่สังเกตเห็นว่าลูกค้าบางคนไม่ได้อยากใส่ชุดแฟนซีไปจากบ้านเพราะเขิน หรืออยากใส่ถ่ายรูปแล้วถอดออกเป็นชุดสวยของตัวเอง ซึ่งร้านเช่าชุดตามท้องตลาดส่วนมากจะมีชุดเป็นคาแรคเตอร์เช่น เป็นโจรสลัด เป็นสโนว์ไวท์ เป็นซูเปอร์แมน และอาจจะต้องมีการแต่งหน้าทำผมให้เข้ากับตัวละครนั้นๆ แต่ชุดของ HOORAY! ทุกชุดสามารถใส่ทับชุดที่มีอยู่ได้เลยไม่ต้องถอดเปลี่ยน





     ไหนๆ ก็ไหนๆ จะปาร์ตี้ทั้งทีไม่ได้มีแค่ชุดสวย ในเมื่อทั้งสองคนรวมถึงเพื่อนรอบตัวชอบจัดงานรวมถึงสายงานที่ทำอยู่เกี่ยวกับอีเวนท์ ทุกครั้งต้องหาซัพพลายเออร์หลายเจ้ามาช่วยกันทำให้งานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านลูกโป่ง ช่างภาพ สไตลิ่ง(Styling)  ร้านของขวัญ แคทเทอริ่ง (Catering) โฟโต้ชู้ท (Photoshoot) และอื่นๆ อีกมากมาย HOORAY! ในวันนี้จึงกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่รวมตัวพาร์ทเนอร์ที่ถนัดด้านต่างๆ มาไว้ในที่เดียว

เอแคลร์เล่าว่าความสนุกที่ได้ทำงานนี้ คือการได้เห็นลูกค้ามีความสุข




     “จริงอยู่ที่ตอนแรกเริ่มทำร้านความสนุกของพวกเราคือการได้ออกแบบชุดแปลกๆ ได้ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง เอาชุดมาใส่แล้วก็ขำกันอยู่ไม่กี่คนกับกลุ่มเพื่อน แต่พอได้เห็นว่ามีคนเข้าใจในสิ่งที่พวกเราทำแล้วรักมันเหมือนที่พวกเรารักความสนุกตอนนี้เลยอยู่ที่การได้รับรู้ว่าลูกค้าจะเช่าชุดไปเนื่องในโอกาสอะไร บางอย่างเรานึกไม่ถึงเลยจริงๆ เช่น เอาไปใส่แก้บนวิ่งมาราธอนเปิดบูธขายของ การได้ยินฟีดแบค (Feedback) รวมไปถึงการได้ทำ Collaboration กับธุรกิจอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ได้ต่อยอดเป็นอะไรใหม่ๆ แล้วสนุกมาก”


     ความสนุกของคนทำและความสุขของลูกค้า คงสะท้อนความสำเร็จได้ชัดเจนแล้วสำหรับธุรกิจนี้
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup 



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน