Main Idea
- วันนี้ธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีกซึ่งจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ปัจจุบันมีเครื่องมืออีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม การตลาด ข้อมูล ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้
กลุ่มธุรกิจผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังมีการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการอัตราการเติบโตในปี 2562 อยู่ที่ 3.5%, 5.1% และ 2.8% ตามลำดับ ซึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้กำลังเผชิญ มีทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนความยากลำบากในการบริหารจัดการภายในองค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกับดักที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ยากขึ้นในยุคนี้
จิตราวิณี วรรณกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า หากเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีองค์ความรู้ และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริง ก็จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเรียนรู้จากกูรูตัวจริงจะช่วยชี้ทางออกและปิดจุดอ่อนให้กับเอสเอ็มอีได้
นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กําลังจะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้แก่ ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ คุณภาพของสินค้าต้องดี รักษามาตรฐานการผลิต ใส่ใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ สร้างสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการด้วยความเข้าใจ จึงจะเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจและช่วยผลักดันเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้
“แต่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใช้เวลา 1-2 เดือนแล้วสำเร็จ หากแต่อาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายๆ ปี ซึ่งผู้ประกอบการและนักวิจัยต้องอดทนไปด้วยกัน กว่าจะผลิตเป็นสินค้าออกมาจริงต้องผ่านการลองผิดลองถูก ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ทำวิจัยต้องอดทน และต้องทำต่อเนื่อง”
เชื่อมโยงช่องทางขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันมีความหลากหลาย การเชื่อมโยงช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถกระจายสินค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถก้าวข้ามพรมแดนไปขายสินค้าในต่างประเทศได้อีกด้วย
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย มองว่า ในยุคสมัยที่ประตูการค้าเปิดกว้างทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่องทางการขายจะหลอมรวมกันไม่มีเส้นแบ่ง เพราะผู้บริโภคมีความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อการบริการในทุกช่องทาง และหวังว่าจะได้รับบริการในรูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะซื้อผ่านช่องทางใด สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ทันและยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ในขณะที่ช่องทางออฟไลน์อย่างโมเดิร์นเทรดหรือร้านสะดวกซื้อก็ยังคงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน องค์กรใหญ่อย่างกลุ่มเซ็นทรัลมีแนวนโยบายที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยการสนับสนุนเอสเอ็มอีทำหน้าที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า อีกทั้งยังพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านค้าปลีกต่างๆ พร้อมแนะนำหลักการวางแผนการผลิต บริหารต้นทุนกำไร และส่งเสริมการขายและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ก็มีแพลตฟอร์มเชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์ (O2O Platform) ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถเข้าถึงช่องทางเพื่อไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ผ่านการจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น แคตตาล็อก ทีวีช้อปปิ้ง เว็บไซต์ คอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชัน ซึ่งหากเอสเอ็มอีสามารถร่วมเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็เติบโตได้ไม่ยาก
ใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์กระตุ้นธุรกิจ
นอกจากการมีสินค้าหรือบริการที่ดีแล้ว การทำการตลาดก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่สำคัญไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับการทำธุรกิจมากขึ้น วณิชชา วรรคาวิสันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด เจ้าของเพจ Digitory กล่าวว่า “การทำการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสำคัญต่อการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยธุรกิจมีสินค้าและบริการที่ดีอยู่ในมือ แต่ปัญหาคือจะนำพาสินค้าและบริการเหล่านั้นไปให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร เพราะอย่างที่รู้กันว่ากลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทยเริ่มขยับเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นแต่จะเข้าไปหาเขาอย่างไร เรื่องนี้สำคัญ”
แต่ทั้งนี้เอสเอ็มอีต้องเข้าใจกระบวนการทำการตลาดออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะว่าเงินลงทุนที่เท่ากันแต่หากลงไปในช่องทางที่ต่างกันจะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างไปด้วย เมื่อเสียเงินซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือช่องทางอื่นๆ อาจได้รับผลตอบรับ (Feedback) ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นหากเอสเอ็มอีมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ตรงตามความคาดหวังมากยิ่งขึ้น
ข้อมูล หรือ Data คือทรัพยากรสำคัญ
ในส่วนของการบริหารจัดการหลังบ้าน ข้อมูล หรือ Data นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม ดังที่ กัมพล ธนาปัญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด กล่าวว่า “ข้อมูลคือขุมทรัพย์ที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น”
การจัดเก็บข้อมูลที่ดี มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพ และการแสดงผลที่สื่อสารตรงจุดจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้ว่าธุรกิจกำลังเติบโตหรือถดถอยจากการเก็บข้อมูลว่ายอดขายมาจากไหน และต้องใช้อย่างไร มีส่วนใดของธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนใดที่ต้องแก้ไข การนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจจะสะท้อนความเป็นจริงได้ชัดเจนกว่าการใช้ความคิดเห็นหรือความรู้สึก ซึ่งจะทำให้เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ สามารถตัดสินใจผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมได้
นี่คือตัวอย่างของยุทธวิธีที่เอสเอ็มอีจะนำไปพัฒนาตัวเองให้เก่งและแกร่งขึ้นได้ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่อยากเสริมแกร่งให้ธุรกิจโต พร้อมปิดจุดอ่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธนาคารกสิกรไทยได้จัดโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้น 2 ครั้งเพื่อผลักดันกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีก โดยจัดเป็นคอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โตด้วยการสัมมนาให้ความรู้ แคมป์อบรมเชิงลึก และการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว โดยในงานนี้มีพันธมิตรจากหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและแพลตฟอร์มที่ตอบสนองการทำธุรกิจของ SME ในด้านต่างๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด, บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด, บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด และบริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จัดขึ้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้-21 เมษายน 2562 ที่เว็บไซต์ www.ksmegoodtogreat.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ K BIZ Contact Center โทร. 02-8888822 สนใจสมัคร คลิก http://bit.ly/2Ft4VW0
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี