Main Idea
- อุตสาหกรรมอาหารยังอยู่ท่ามกลางความท้าทาย ถ้าจะสร้างแต้มต่อในการแข่งขันได้ ผู้ประกอบการต้องนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย
- ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตคือ One-Stop Service ให้บริการครบทั้งศูนย์วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างครบวงจร นี่คืออาวุธใหม่ที่จะพลิกโลกธุรกิจ SME ด้วยนวัตกรรม
“นวัตกรรม” ยังเป็นโจทย์ท้าทายของกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ได้
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) บอกเราว่า หลายประเทศอย่าง เดนมาร์ค ไต้หวัน หรือนิวซีแลนด์ ประเทศเหล่านี้ล้วนทำเกษตรมาก่อนทั้งกัน แต่เขาสามารถสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับประเทศของเขาด้วยการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราต้องนำความรู้เหล่านี้มาใช้ให้มากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารขึ้นมา
โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ และแม้แต่ผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ที่จะเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่นี้ให้สมบูรณ์ขึ้น
ยกระดับธุรกิจที่ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต
หนึ่งในจิ๊กซอว์ที่เติมภาพชัดให้อุตสาหกรรมอาหาร คือ ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food Lab ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส เพิ่งแถลงข่าวความร่วมมือจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัส และศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ไปสดๆ ร้อน
โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า นี่เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มของฟู้ดอินโนโพลิส โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฟู้ดอินโนโพลิส และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในเชิงจุลภาค และมหภาค สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับและครบทุกมิติการทำงาน ด้วยการดำเนินงานแบบ One-Stop Service โดยทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และศูนย์บัญชาการและประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตอย่างครบวงจร
เขาอธิบายการทำงานที่เริ่มตั้งแต่การรับตรวจสุขภาพธุรกิจและวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น ก่อนนำมาประมวลหาการแก้ไขที่เหมาะสม มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมเรียนรู้และเห็นปัญหาของตนอย่างรวดเร็ว เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาหารเบื้องต้น และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้เชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และพัฒนาความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือนวัตกรรมกระบวนการผลิต พร้อมทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนและช่วยผลักดันให้งานที่ทำสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในขั้นตอนนี้จะเป็นการติดต่อประสานงานผู้ผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อได้สินค้าต้นแบบในการทดสอบตลาด รวมถึงหาตลาดและช่องทางการขาย และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์อีกด้วย
ปัจจุบันศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ในการทำวิจัยแล้ว 17 บริษัท รวมถึงยังมีผู้ประกอบการใช้บริการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น มากกว่า 20 บริษัท
มุ่งสนับสนุน SME ให้มีโอกาสทำวิจัยและนวัตกรรม
ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร บอกเราว่า ปัจจุบันเมืองนวัตกรรมอาหารมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทซันกรุ๊ป ในจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาความเข้มแข็งของบุคลากรให้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนการจัดตั้งศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นมา โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำวิจัย ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาด และมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนทีมวิจัยและคณะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร
โดยตั้งเป้าที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง อย่าง SME ให้ได้มีโอกาสทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการมายาวนาน
ขณะนี้มีบริษัทเข้าร่วมโครงการและเข้ามาทำวิจัยใน Future Food Lab เกือบเต็มพื้นที่แล้ว และภายใน 5 ปี คาดว่าจะสนับสนุนได้ 100 ราย
สร้างคลังวัตถุดิบหนุนวิจัยอาหารแห่งแรกของไทย
นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฟู้ดอินโนโพลิสยังได้ร่วมจัดตั้ง คลังฐานข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร หรือ Food Ingredient Library ขึ้นภายในศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร เพื่อให้บริการสำหรับนักวิจัยและผู้ที่สนใจการทำวิจัยด้านอาหาร โดยสามารถเข้ามาค้นหาวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารเพื่อนำตัวอย่างไปทดลองใช้ในงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดทำเรื่องนี้ด้วย
“ในอนาคตเราจะใช้ Food Ingredient Library นี้ เป็นต้นแบบของคลังอื่น ที่ฟู้ดอินโนโพลิสวางแผนจะจัดตั้งตามมา ไม่ว่าจะเป็น Material Library ซึ่งจะรวบรวมบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และ OEM Library ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลของบริษัทที่รับทำ OEM เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิจัยต่อไป” ดร.อัครวิทย์ บอกในตอนท้าย
วันนี้โลกของธุรกิจอาหารเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย SME ในอุตสาหกรรมนี้จึงจะสู้แบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องปรับตัวเองและสร้างแต้มต่อด้วยอาวุธที่ชื่อ “นวัตกรรม”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี