Main Idea
- จากการรายงานของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการร้านโชห่วยกว่า 395,006 ราย ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่ ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และขาดประสิทธิภาพด้านการวางแผนการเงิน
- เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผยผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,246 ราย พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับตัว เพราะไม่เห็นถึงความสำคัญ และมีข้อจำกัดด้านเงินทุน อีกทั้งมีภาระหนี้ทั้งใน-นอกระบบ เฉลี่ย 4.62 แสนบาทต่อราย
โชห่วย หรือ ร้านค้าปลีกดั้งเดิม คือ หนึ่งในธุรกิจระดับรากหญ้าของคนไทยที่ทำกันมาช้านาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ามาของร้านค้าสมัยใหม่ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์อื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้โชห่วยร้านค้าชุมชนที่เราอาจคุ้นเคยกันดีหดหายไป แต่นั้นไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเดียว การขาดความตระหนักในการปรับตัว ไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง และขาดการวางแผนการเงินที่ดี สิ่งเหล่านี้ คือ อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้านโชห่วยเริ่มหายไปจากสังคมไทย
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย โดยข้อมูลจากสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ ‘โชห่วย’ มีจำนวนทั้งสิ้น 395,006 ราย (จากที่นับได้) กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่ ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด แถมยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง
ยึดโชห่วยเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว
โดยจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการร้านโชห่วย 1,246 ราย พบว่า 85.99 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14.01 เปอร์เซ็นต์ ในรูปแบบนิติบุคคล โดย 90.10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของคนเดียว และส่วนใหญ่ 33.09 เปอร์เซ็นต์ ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้น โดยต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน
ทั้งนี้ 31.7 เปอร์เซ็นต์ จะใช้บ้าน/ทาวน์เฮาส์ทำเป็นร้าน และส่วนใหญ่ 28.59 เปอร์เซ็นต์ ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด 61.6 เปอร์เซ็นต์ จะขายสินค้าจิปาถะ ส่วน 38.4 เปอร์เซ็นต์ ขายสินค้าเฉพาะอย่าง ด้านแหล่งที่มาของสินค้าส่วนใหญ่มาจากพนักงานขายที่มาส่งถึงร้าน 41.3 เปอร์เซ็นต์ ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต 31.2 เปอร์เซ็นต์ และจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง 27.5 เปอร์เซ็นต์
โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.7 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้น ส่วน 38.3 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆ ด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือ รับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7,282.66 บาทต่อเดือน ซึ่งมีเพียง 59.16 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มีการออมไว้ทุกเดือน
สำหรับผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโชห่วยกับคู่แข่งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แข่งขันได้น้อย เมื่อเทียบกับการขายออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ และโมเดิร์นเทรด ทั้งในเรื่องราคาสินค้า บริการ สภาพสินค้า
รู้ว่าแข่งขันได้น้อย แต่ก็ไม่ปรับตัว
แต่ถึงแม้จะแข่งขันได้น้อย ทว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านโชห่วยกว่า 24.48 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นและมีทุนจำกัด ส่วน 39.77 เปอร์เซ็นต์ มีปรับตัวน้อย เพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา และ 22.62 เปอร์เซ็นต์ ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่มีเพียง 13.12 เปอร์เซ็นต์ ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ และมีบางส่วนเริ่มทำการค้าออนไลน์เสริมไปด้วย เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป
ด้านสถานภาพธุรกิจร้านโชห่วยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่บอกว่ายอดขายเท่าเดิม และคิดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้ายังเท่าเดิม ส่วนต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน โดย 53.13 เปอร์เซ็นต์ มีภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท อัตราผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือเล่นแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,754.52 บาท ทั้งนี้ภาระหนี้ในปัจจุบันทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่
เข้าถึงเงินกู้ในระบบได้น้อย เพราะไม่มีหลักประกัน
เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13 เปอร์เซ็นต์ ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้จำนวน 47.99 เปอร์เซ็นต์ มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท โดย 57.06 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ แต่ 42.94 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น
ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ คือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น 31.16 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 2.การลดต้นทุน การตั้งราคา และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย และ 4.ด้านการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร
ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี