จาก รปภ. สู่เจ้าของนวัตกรรมผ้าย้อมคราม ลบภาพจำธุรกิจดาวร่วงสู่ดาวรุ่ง

Text: Neung Cch.





Main Idea
 
  • แม้ผลโพลล์จากทุกสำนักให้ความเห็นตรงกันว่าธุรกิจสิ่งทอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวร่วง แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่างาน “หัตถกรรม” มีเอกลักษณ์ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ จึงเป็นที่มาของโอกาสธุรกิจที่ยังเติบโตเป็นดาวรุ่งได้
 
  • การลงมือปฏิวัติการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม สู่การสร้างนวัตกรรม เอกลักษณ์ และสร้างตลาดใหม่ไม่ใช่แบกะดินขายตามตลาดนัด นำพาธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จโดยมีลูกค้าออร์เดอร์ถึงเดือนละล้านบาท!




     ทันทีที่หันหลังให้กับการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย นิคม ปุกแก้ว ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากเมืองกรุงมุ่งสู่บ้านเกิดจังหวัดสกลนคร เขากลับไปพร้อมความคิดที่อยากจะต่อยอดธุรกิจผ้าย้อมครามของแม่ แต่ด้วยภาพจำตั้งแต่วัยเด็กที่เห็นแม่ทำธุรกิจนี้แต่ก็ยังไม่สามารถปลดหนี้สินได้ จึงตัดสินใจแยกมาทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยการเปิด บริษัท เอ.อี.ซี 2015 (ไทยแลนด์) จำกัด และพัฒนาแบรนด์ทองสิริขึ้น พร้อมวางตำแหน่งเป็นแบรนด์ผ้าย้อมคราม ที่ต้องจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมืองไทยให้ได้


     “การหันมาเปิดบริษัทของตัวเอง เพราะลูกค้าจะมีความเชื่อมั่นและกล้าติดต่องานกับเรามากกว่าทำในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ส่วนตัวผมเองมองว่าสินค้าหัตถกรรมเลียนแบบไม่ได้ หากเราสามารถเพิ่มนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ก็น่าจะมีคนตอบรับในตัวสินค้า ซึ่งลูกค้าของผมไม่ได้อยู่ตามตลาดนัดแต่เป็นห้างพารากอน คิงเพาเวอร์ นิคมบอกเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้แต่วันแรก
 



สร้างถนนเชื่อมธุรกิจ


     แม้เป้าหมายดูห่างไกล แต่นี่ไม่ใช่การสร้างฝันกลางวัน ทว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แม้นิคมรู้ว่าการถีบตัวเองจากสินค้าแบกะดินไปเฉิดฉายในห้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ไม่ขอย่ำอยู่กับที่เพื่อไปแข่งขันแย่งตลาดกับเค้กก้อนเดิมที่มีผู้เล่นกว่า 20 รายในตลาดนัดหน้าวัด เส้นทางธุรกิจของเขาจึงเริ่มจากการเรียนรู้ด้วยการพาตัวเองไปเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เพื่อพัฒนาตัวเอง ขึ้นมา โดยดูทิศทางการตลาดและความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบกลุ่มเป้าหมาย


     ความรู้และคอนเนกชั่นที่นิคมสั่งสมมาเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อเขาได้ร่วมมือกับ ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (อุทยานวิทยาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนนำมาสู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำครามสำเร็จรูปพร้อมย้อม” ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการก่อหม้อครามจาก 15 วัน ให้เหลือเพียง 1 วัน ทำให้สามารถผลิตผ้าย้อมครามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลมามากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards2018) สาขานักธุรกิจ นวัตกรรม ที่จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือล่าสุด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน 7 Innovation Awards 2019 อีกด้วย


     “บางคนไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายบนห้างฯ ได้ เพราะส่วนใหญ่มักทำตามความเคยชิน แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่าการจะนำสินค้าพื้นบ้านขึ้นห้างฯ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงแรกที่ผมเปิดบริษัทปี 2556 ผมไม่ได้วิ่งหาลูกค้าเลย แต่ผมวิ่งพัฒนาตัวเอง พัฒนาสินค้าเพื่อส่งเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ จนได้รับรางวัลมามากมาย ซึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นเหมือนใบเบิกทางช่วยการรันตีให้สินค้าของเราสามารถขึ้นห้างฯ ได้ง่ายขึ้น จากปีแรกที่ไม่มีออร์เดอร์เลย พอปี 2558 เริ่มมีออร์เดอร์เข้าบริษัทกว่าล้านบาท ปี 2559 ออร์เดอร์เพิ่มเป็นกว่า 5 ล้านบาท จนปี 2560 มีออร์เดอร์เข้ามากว่า 12 ล้านบาท หรือเฉลี่ยถึงเดือนละกว่าล้านบาท”
 



สินค้ายิ่งต่างยิ่งขายได้ราคา


     นอกจากนวัตกรรมแล้วสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ทองสิริ แตกต่างจากผ้าย้อมครามแบรนด์อื่นคือ สีไม่ตก นุ่ม ใส่สบายไม่กระด้าง เหมาะกับอากาศเมืองร้อน โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าพันคอ คลุมไหล่ ฯลฯ จำหน่ายในราคาตั้งแต่ราคาหลักพันถึงหลักหมื่นบาท


     “ผมเคยไปเดินงาน OTOP และได้เห็นผ้าผืนมากมายที่ราคาต่างกัน แม้แต่ผ้าไหมเองก็มีตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักล้านบาท จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าเป็นเพราะอะไรถึงมีคนกล้าขายและที่สำคัญมีคนกล้าซื้อด้วย ซึ่งคำถามในวันนั้นค่อยๆ คลี่คลายออกมาเป็นคำตอบเพราะกระบวนการผลิตผ้าไหมผืนนั้นเขาใช้เวลาทอถึงหนึ่งปี นั่นเป็นการสร้างความแตกต่างเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขา”


     จากคำตอบในวันนั้นยืนยืนด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเขา หลังมีโอกาสไปออกงานแฟร์ซึ่งมีผู้ประกอบการผ้าผืนราว 10 รายออกบูธเรียงรายกัน ปรากฏว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจสินค้าของเขาซึ่งมีราคาแพงกว่าบูธอื่น นั่นยิ่งตอกย้ำทำให้เขามั่นใจว่า หากสินค้ามีความแตกต่างก็สามารถขายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว


     “ผมว่าการที่จะเป็นธุรกิจดาวร่วงหรือดาวรุ่งก็อยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง หยุดอยู่กับที่ก็เป็นดาวร่วงแน่นอน แต่ถ้าคุณมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่มีแล้วเจาะกลุ่มตรงนั้นให้ได้ ที่สำคัญถ้าเรามีความตั้งใจซะอย่าง ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ขอแค่เราลงมือทำ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจทำธุรกิจตัวนี้เพราะผมเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ของงานหัตถกรรมที่ยากต่อการเลียนแบบ”


     แม้จะต้องเจออุปสรรคตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ไม่มีเงินทุนจนเกือบจะล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว ซ้ำหันหน้าไปปรึกษาใครก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนเกือบเลิกทำ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ท้อ ทั้งยังเดินหน้าสู้จนถึงที่สุด เพราะเขามองว่านี่ไม่เพียงการสร้างบริษัทที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังช่วยสร้างงานให้กับชุมชนอีกว่า 300 ชีวิต อีกด้วย    


     “เป้าหมายต่อไปของผมคือ ทำให้ได้ตามชื่อบริษัท นั่นคือพาสินค้าไปจำหน่ายในประเทศ AEC ภายในสัก 3-5 ปี”


     ความสำเร็จนี้สะท้อนคำว่า ลิขิตฟ้าย่อมไม่สู้มานะตน ได้อย่างชัดเจน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน