Photo : Pae Yodsurang
Main Idea
- แม้ธุรกิจเดิมจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจหรือแบรนด์ได้มากสูงสุด แต่อาจตอบโจทย์คนเพียงกลุ่มเดียว อนาคตอาจชนเพดานเข้าสักวันหนึ่ง
- ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ชาตยา สุพรรณพงศ์’ ทายาทรุ่นที่สองแห่งอาณาจักรบาร์บิคิวพลาซ่า จึงได้แตกไลน์ธุรกิจสร้างสรรค์แบรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ให้เข้ามาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจอาหาร ที่มากกว่าแค่เรื่องปิ้งย่าง เพื่อตอบโจทย์สังคมวงกว้าง และสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนยิ่งขึ้นไป
ย้อนไปเมื่อปี 2530 นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับแบรนด์ปิ้งย่างระดับขึ้นห้าง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครเพราะปิ้งอยู่บนกะทะทองเหลือง ผ่านไปยี่สิบกว่าปีให้หลังมีการรีแบรนด์ดิ้งอีกครั้งให้ดูสดใสมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนโฉมบาร์บีกอน มังกรเขียวที่ตั้งอยู่หน้าร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เปลี่ยนจากแมสคอตให้กลายเป็นไอคอนแบรนด์มีชีวิตสร้างความสนิทสนมใกล้ชิดลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ตอกย้ำสโลแกน ‘บาร์บิคิวพลาซ่า ตัวจริง อร่อยจริงเรื่องปิ้งย่าง’ ซึ่งเป็นช่วงที่ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ทายาทรุ่นที่สองได้เริ่มเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวเมื่อหลายปีก่อน
จากนั้นมาเราก็เห็นพัฒนาการของแบรนด์ปิ้งย่างมังกรเขียวแบรนด์นี้มาโดยตลอด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังก็เมื่อปี 2559 ที่ยอมเปลี่ยนกระทะใหม่จากทองเหลืองมาเป็นกระทะดำ เพื่อให้สุกเร็วขึ้น ขยายช่องน้ำซุปให้กว้างขึ้น ช้อนตักได้ง่ายขึ้น แต่จากกระแสบวกก็ต้องเปลี่ยนเป็นลบชั่วข้ามคืน เมื่อมีข่าวว่ากระทะใหม่เปลี่ยนน้ำซุปให้เป็นน้ำดำออกมา แต่ในที่สุดก็สามารถกู้วิกฤตให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว นับจากนั้นภาพของบาร์บิคิวพลาซ่าจึงไม่ใช่แค่แบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างขึ้นห้างที่อร่อยเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นแบรนด์ที่มีวิสัยทัศน์ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ และการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
ฟู้ดแพชชั่น อาณาจักรแห่งความสุข ความอร่อย
จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บาร์บีคิวพลาซ่าได้สร้างความฮือฮาให้แวดวงธุรกิจอาหารอีกครั้ง ด้วยการประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด’ มาเป็น ‘บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด’ พร้อมกับเข้ารับตำแหน่งซีอีโอเต็มตัวของ ชาตยา สุพรรณพงศ์ แม่ทัพของธุรกิจคนใหม่ โดยได้ชูวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายมุ่งดูแลทุกคนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ไปจนถึงสังคม บทบาท วิสัยทัศน์ แนวทางการทำธุรกิจของแบรนด์ปิ้งย่างชื่อดังจึงเปลี่ยนไป โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงแบรนด์หลักเพียงแบรนด์เดียวอีกต่อไป แต่หันมาขยายการเติบโตสู่ตลาดอาหารการกินที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่อาหารปิ้งย่าง แต่เป็นอาหารสุขภาพ อาหารเกาหลี และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
“ทุกอย่างมันเริ่มมาจากมุมมองความเชื่อของเป้เองและองค์กร จากวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้ คือ การดูแลผู้คนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง พอตั้งไว้แบบนั้น การที่เรามีแค่แบรนด์หลัก คือ บาร์บีคิวพลาซ่า และแบรนด์รอง คือ จุ่มแซ่บฮัท คงไม่สามารถดูแลความสุขให้กับลูกค้าทุกคนได้ ถึงแม้เขาจะรักบาร์บีคิวพลาซ่ามาก แต่เขาไม่สามารถกินบาร์บีคิวพลาซ่าได้ 5 วันต่อสัปดาห์แน่ ต้องมีวันที่เขาอยากลองกินอาหารอย่างอื่นนอกจากปิ้งย่างบ้าง เราจึงมองไปถึงการเติมเต็มโอกาสในการกินที่หลากหลายให้กับลูกค้า เพื่อความสุขจะได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นี่คือ เชิงความสุข แต่ในเชิงธุรกิจเอง นี่คือ การแสวงหาโอกาสช่องทางใหม่ๆ ให้กับองค์ เพื่อขยาย Portfolio สร้างการเติบโตแก่ธุรกิจเช่นกัน
ด้วยแนวคิดนี้ เราจึงไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องเป็นแบรนด์ที่สร้างเองเท่านั้น แบรนด์ใดในตลาดที่มองแล้วมีศักยภาพการเติบโตที่ดี มีคุณค่าและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ เราก็เจรจาติดต่อเพื่อเพิ่มเข้ามาอยู่ในพอร์ต ซึ่งทั้งสองแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน หากสร้างแบรนด์เอง เราได้ลงลึกในรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เกิดความมั่นใจในแบรนด์ แต่ข้อเสีย คือ ในช่วงแรกแบรนด์อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ต้องใช้เวลา จึงทำให้ขยายตัวได้ช้า แต่ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว เราสามารถเริ่มได้เลย เพราะเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นทำขึ้นมา จากพอร์ตธุรกิจเดิมแบรนด์หลักจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 95 % แต่ด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่วางไว้เราอาจหันมาขยับเพิ่มในส่วนของแบรนด์ใหม่ทั้งแบรนด์ของตัวเองและแบรนด์ที่เข้าซื้อกิจการ รวมถึงการขยายไปตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม”ชาตยากล่าว
4 กลยุทธ์เจาะตลาดโต
โดยหากย้อนไปถึงกลยุทธ์ที่ฟู้ดแพชชั่นได้วางไว้มีอยู่ทั้งหมด 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1.ขยายธุรกิจด้วยแบรนด์เดิมอย่างต่อเนื่อง 2.การพัฒนาแบรนด์ขึ้นเอง 3.การเข้าซื้อกิจการหรือแบรนด์ร้านอาหารใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง 4.ขยายไปยังตลาดต่างประเทศด้วยแบรนด์ในเครือที่มี
จากระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ภาพกลยุทธ์ที่วางไว้ของฟู้ดแพชชั่นค่อยๆ ฉายแววชัดเจนมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่ถึง 2 แบรนด์ในปีที่แล้ว ได้แก่ 1. Charna (ฌานา) ร้านอาหารสุขภาพในคอนเซปต์ Full Flavour Healthy Meal โดยวัตถุดิบทั้งหมดมาจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบคุณภาพในพื้นที่ต่างๆ 2. SPACE Q ร้านปิ้งย่างชาบูภายใต้คอนเซปต์ Social Grill ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ตั้งอยู่ใจกลางทองหล่อ และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมากับการปิดดีลใหญ่เข้าเทกโอเวอร์ ‘Red Sun’ ร้านอาหารเกาหลีขึ้นชื่อในไทย ซึ่งเปิดตัวมาได้ 4 ปี ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 12 แห่ง เมื่อรวมกับแบรนด์ดั่งเดิม คือ บาร์บิคิวพลาซ่าและจุ่มแซ่บฮัท จึงทำให้ปัจจุบันฟู้ดแพชชั่นมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ในมือถึง 5 แบรนด์ด้วยกัน
ทำธุรกิจต้องมีทั้งลึก และกว้าง
นอกจากการกลยุทธ์ในแนวกว้าง เพื่อสร้างแบรนด์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้มากขึ้นแล้ว ชาตยายังมีแนวคิดว่าการทำธุรกิจต้องมีกลยุทธ์ในเชิงลึกด้วย
“เราเชื่อว่าการทำธุรกิจหนึ่งมีได้หลายวงจร นอกจากการสร้างแบรนด์ให้กระจายออกไปในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว ฟู้ดแพชชั่นเองเรายังมองถึงแผนในเชิงลึกเพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การนั่งกินอยู่ที่หน้าร้าน อาทิ เดลิเวอรี่, take home, จัดเลี้ยงนอกสถานที่ เพื่อไปเติมเต็มกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาสิ่งเดิมที่มีอยู่และใส่ไปในช่องทางต่างๆ แต่ต้องคิดขึ้นมาใหม่ เพื่อช่องทางนั้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้คุณภาพ เราเชื่อว่าต่อไปนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะต้องโตให้ทันผู้บริโภค การที่เราจะก้าวนำแบรนด์อื่นๆ ได้ เราต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างดี อาจมีบ้างบางอย่างที่ทดลองทำ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่ใช่ เราต้องปรับตัว และหันมาจับตัวที่เราคิดว่ามีประสิทธิภาพให้เร็วที่สุด”
ต้องเป็นตัวจริง
สิ่งสำคัญอีกข้อที่ชาตยาได้ทิ้งท้ายไว้เป็นหลักความเชื่อที่เธอยึดถือมาตลอดในการทำงาน คือ การเป็นตัวจริงในธุรกิจเช่นเดียวกับสโลแกนของแบรนด์แม่
“ฟู้ดแพชชั่นเองเรามีความเชื่อว่าองค์ประกอบการทำธุรกิจข้างนอกจะเป็นยังไงก็ตาม ซึ่งทุกคนอาจสามารถทำได้ดีในอัตราเร่งที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมั่นมากๆ คือ เราขายอาหาร เราขายบริการที่ดี ขายความเชื่อมั่น ดังนั้นทุกอย่างทุกเรื่องราวที่เราพยายามส่งไปให้ถึงผู้บริโภคเป็นเรื่องจริง เราลงลึกในรายละเอียดจริง ทำงานหนักจริง เพื่อให้ได้มาซึ่งการดูแลผู้บริโภคให้มีความสุขที่แท้จริง ทุกแบรนด์ทุกธุรกิจที่เราทำ เราทำออกมาจาก passion ของเราจริงๆ ซึ่งเป้เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดตลอดไป ความอร่อย สะอาด ปลอดภัย เป็นพื้นฐานของอาหารธุรกิจอาหาร แต่ลูกค้ายุคใหม่เขาไม่ได้ต้องการแค่นั้น เขาเป็นนักเสพข้อมูล มีความเก่งและฉลาดอยู่ในตัว ฉะนั้นการทำให้เขาเกิดความเชื่อ ความรักและศรัทธาในแบรนด์ได้ คือ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยความสุขในความหมายการทำธุรกิจของฟู้ดแพชชั่นนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ตั้งแต่พนักงาน ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงสังคมด้วย”
นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้นจากแผนกลยุทธ์ที่ชาตยาวางไว้สำหรับฟู้ดแพชชั่นเท่านั้น ลองนึกภาพหากในอนาคตทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้จริงตามแนวทางที่วางไว้ องค์กรธุรกิจอาหารแห่งนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากขนาดไหน…
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี